'สภาลมหายใจเชียงใหม่' มิติใหม่ของการจัดการตนเอง
ส่องสภาลมหายใจเชียงใหม่ หรือกลุ่มคนเชียงใหม่ที่ตระหนักถึงปัญหาฝุ่นควันพิษและไฟป่ารวมตัวกัน เพื่อกระตุกประเด็นวิกฤติฝุ่นควันภาคเหนือ ไม่ให้ถูกเก็บเข้าแฟ้มเมื่อฝุ่นควันจาง สะท้อนถึงความไม่เอาจริงเอาจังของภาครัฐ ซึ่งสภานี้ดำเนินการอะไร และทำอย่างไรบ้าง?
“เมื่อฝนตกลงมา ปัญหาฝุ่นควันพิษก็จะถูกเก็บเข้าแฟ้ม” คำกล่าวนี้เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวและความไม่เอาจริงเอาจังในการแก้ปัญหาของภาครัฐในตลอดระเวลาช่วงสิบกว่าปี หลังจากปัญหาฝุ่นควันพิษและไฟป่าในภาคเหนือตอนบนเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ค่าของอากาศมีความอันตรายขึ้นอันดับหนึ่งของโลกติดต่อกัน คนเชียงใหม่กลุ่มหนึ่งที่ตระหนักถึงปัญหาจึงได้รวมตัวกันในฐานะพลเมืองจัดตั้ง “สภาลมหายใจเชียงใหม่” ขึ้นมาเมื่อ 9 ก.ย.2562 เพื่อดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ยอมให้ปัญหานี้ถูกเก็บเข้าแฟ้มซ้ำแล้วซ้ำเล่า
แนวความคิดก่อตั้งสภาลมหายใจเชียงใหม่ มาจากบุคคลที่ทำงานเกี่ยวข้องกับปัญหามลพิษฝุ่นควันหลายภาคส่วน ทั้งภาคสาธารณสุข ภาควิชาการ ภาคเอกชน (กกร.) และภาคประชาชน เห็นพ้องว่านับจากนี้จะต้องรวมพลังประชาสังคมให้เป็นเอกภาพ ประสานเสริมพลังของชาวเมืองทุกฝ่าย เป็นอีกพลังที่ร่วมผลักดันการแก้ปัญหาในทุกระดับ ทั้งระยะเฉพาะหน้า ระยะกลาง ระยะยาว มุ่งไปสู่เป้าหมายให้เราทุกคนในสังคมมีอากาศสะอาดทุกฤดูกาล บนหลักการพื้นฐาน คือ
1.เชื่อว่าปัญหามลพิษฝุ่นควันสามารถแก้ไขได้ โดยต้องมองปัญหาในระยะยาวและมุ่งการแก้ไขอย่างยั่งยืน
2.เห็นว่าปัญหามลพิษฝุ่นควันจะต้องใช้มาตรการผลักดันทางสังคม ควบคู่ไปกับการใช้มาตรการทางกฎหมายและปฏิบัติการของราชการ บทบาทของสังคมในการรณรงค์ ผลักดัน ทำความเข้าใจกันและกัน เป็นหน้าที่ร่วมกันของประชาชนทุกภาคส่วน
3.เห็นว่าการมุ่งแก้ปัญหาที่การดับไฟ/ระงับการเผาในช่วงเวลา 3 เดือนของระยะเผชิญเหตุยังไม่เพียงพอ ต้องมีการทำงานต่อเนื่องระยะยาว มุ่งที่การแก้ต้นตอในระยะกลางและระยะยาวพร้อมกัน
4.เห็นว่าลึกลงไปในปัญหาฝุ่นควันมีความขัดแย้งมากมายในทุกมิติและทุกระดับของสังคม สภาลมหายใจเชียงใหม่จะใช้แนวทางหลีกเลี่ยงความขัดแย้งระหว่างกัน แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง หนุนเสริม เสนอแนะ ผลักดัน และปฏิบัติการบนพื้นฐานของความร่วมมือ มองผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง
5.มุ่งคิดออกแบบโครงการที่มุ่งประสานความเข้าใจระหว่างประชาชนในเมืองและชนบท มุ่งลดต้นตอแหล่งกำเนิดมลพิษจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าทั้งจากในเมืองและชนบท รณรงค์ให้สังคมเห็นภยันตรายจากปัญหานี้ และมองผลกระทบในภาพรวมของปัญหานิเวศแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน ที่มีความสามารถระบายอากาศของเสียลดลง
- รูปแบบและวิธีการ
สภาลมหายใจเชียงใหม่ เป็นการรวมตัวกันของประชาคมชาวเชียงใหม่ที่มีเป้าหมายร่วมกัน ใช้ระบบอาสาสมัครผลักดันงานตามความถนัดและความสนใจ มีการประสานงานผ่านระบบสื่อสารภายในและแบบเปิดภายนอก และมีกิจกรรมที่มุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน โดยจะมีกลไกการทำงานดังนี้
1.สภาลมหายใจเชียงใหม่ เป็นองค์กรของประชาคมที่ทุกคนทุกฝ่ายร่วมกันเป็นเจ้าของ มีสมาชิกสองแบบคือ แบบองค์กร และแบบบุคคล จะมีกลไกงานเลขานุการ จัดการเรื่องเอกสาร รายชื่อ การรับสมัคร ประสานงานและสื่อสารภายใน สภาลมหายใจจะเปิดรับสมาชิกต่อเนื่อง เปิดประตูให้ทุกคนที่สนใจเข้าร่วมตลอดเวลา
2.มีหลากหลายฝ่าย เช่น ในเมือง ชนบท วิชาการและผลักดันนโยบาย สื่อสารสังคม ฯลฯ ตามความถนัดและสมัครใจของสมาชิกผู้เข้าร่วม
3.โครงการและกิจกรรมพิเศษ พื้นที่ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมทำงานของภาคประชาสังคมและสมาชิก
- กิจกรรมรณรงค์ที่ผ่านมา
1.ร่วมผลักดันมาตรฐานค่าเตือนภัยมลพิษอากาศ นับจากนี้ชาวเชียงใหม่จะใช้มาตรฐานคุณภาพอากาศที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ ซึ่งมีมาตรฐานเข้มงวดกว่ามาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ โดยจะร่วมผลักดันกับเครือข่ายองค์กรพันธมิตรด้านวิชาการ
2.รณรงค์และใช้ คำว่า “ฝุ่นควัน” แทน “หมอกควัน” ให้สังคมเกิดความตระหนักต่อพิษภัยจากฝุ่นละอองขนาดเล็กมากขึ้น
3.สืบสาน และดำเนินกิจกรรมที่ดีและเป็นประโยชน์สมาชิกและภาคประชาชนได้ทำมาก่อนหน้าต่อไป เช่น “โครงการเขียวสู้ฝุ่นปลูกต้นไม้ล้านต้น” “โครงการแม่แจ่มโมเดลพลัส ปลูกไผ่” “โครงการเห็ดเพาะลดพื้นที่เผา” “โครงการชิงเก็บ-ใช้ประโยชน์จากใบไม้” ฯลฯ
4.โครงการแก้ปัญหาระยะยาว ผสานความร่วมมือหลายภาคส่วน (พอช./ประชาชน/กกร./สถาบันนโยบายสาธารณะม.ช.) ปรับเปลี่ยนและพัฒนาพื้นที่ระดับตำบลบนหลักการเข้าถึง เข้าใจ สมานฉันท์ เพื่อสร้างชีวิตและนิเวศอย่างยั่งยืน
5.ชุมชนเมืองเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ /สภาเมืองสีเขียว
6.ทำความเข้าใจวิถีไร่หมุนเวียนชาวบ้าน โดยเครือข่ายชาติพันธุ์
7.ต่อยอดแนวคิดแม่แจ่มโมเดลพลัส โดยมูลนิธิพัฒนาที่ยั่งยืน /มูลนิธิฮักเมืองแจ๋มไปยังพื้นที่อื่นๆ
8.การเตรียมตัว เตรียมบ้าน ลดฝุ่นควัน โดยเครือข่ายกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ
9.ดนตรีในสวน โดยกลุ่มศิลปินเชียงใหม่ ดีเจเชียงใหม่ และกลุ่มJazz Bar ที่โดยจัดกิจกรรมดนตรีแจ๊สเชียงใหม่ รณรงค์ลดฝุ่นควัน ที่ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่
10.ประชุมเชิงปฏิบัติการ ในหัวข้อต้นไม้สู้ฝุ่น ลดฝุ่น โดยกลุ่มเขียวสวยหอม/ เทศบาลนครเชียงใหม่
11.เก็บขยะ รักษาแม่น้ำปิง จากต้นน้ำปิง-เชียงใหม่ โดยมีนิคม พุทธาเป็นผู้ประสานงาน
12.วิ่งสู้ฝุ่น เชียงดาว-เชียงใหม่ โดยมีนิคม พุทธาเป็นผู้ประสานงาน
โดยในปีนี้ หลังจากหมดฝุ่นควัน สภาลมหายใจได้ผลักดันให้จังหวัดเริ่มกระบวนการแก้ปัญหาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้ในทันที โดยเสนอแนวคิดว่าการจะแก้ปัญหาจากนี้ต้องดึงชุมชนมามีส่วนร่วมออกแบบวางแผนตั้งแต่เริ่ม
จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าเป็นเข้ามาร่วมแก้ปัญหาโดยคนในพื้นที่ ภายใต้หลักการของของการจัดการตนเองที่ว่า “ไม่มีใครรู้ปัญหาท้องถิ่นดีกว่าคนท้องถิ่น และไม่มีใครรู้ปัญหาในพื้นที่ดีกว่าคนในพื้นที่”นั่นเอง
ถึงเวลาต้องจัดการตนเองกันแล้วครับ