Travel Bubble โมเดลท่องเที่ยวแบบใหม่ รับยุคโควิด
ทำความรู้จัก "ระเบียงท่องเที่ยว" (Travel Bubble) เทรนด์ท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เดินทางระหว่างกันเมื่อปลอดภัยพอ เช่น จีนให้เดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ส่วนออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ก็อนุญาตให้เดินทางถึงกันได้แล้ว
การระบาดของโรคโควิด-19ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเดินทางและท่องเที่ยว ล่าสุด องค์การการท่องเที่ยวโลกเตือนว่าวิกฤตสาธารณสุขครั้งนี้อาจทำให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกหายไปมากถึง 80% ในปีนี้ และเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้คนตกงานอย่างน้อย 100 ล้านคนด้วยกัน แต่อุตสาหกรรมเดินทางและท่องเที่ยวโลกจะเลวร้ายตามคำเตือนหรือไม่ ติดตามได้จากรายงานของซีเอ็นเอ็น
เว็บไซต์ซีเอ็นเอ็น นำเสนอรายงานว่าด้วยอนาคตอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการเดินทางในยุคไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ที่ภูมิภาคเอเชียอาจให้คำตอบได้ว่าจะเป็นอย่างไร โดยระบุว่า ทุกประเทศทั่วโลกกำลังหาทางพลิกฟื้นธุรกิจท่องเที่ยวที่บอบช้ำอย่างหนักจากมาตรการล็อกดาวน์ ควบคุมการเดินทางของทุกประเทศ เพราะการระบาดของโรคโควิด-19
อย่างกรณี "นิวซีแลนด์" และ "ออสเตรเลีย" รับปากทำ "ระเบียงท่องเที่ยว" (Travel Bubble) เปิดช่องการเดินทางระหว่างกันเมื่อปลอดภัยมากพอ ส่วนจีนก็เริ่มอนุญาตให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ แม้ยังไม่เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่วนไทยก็เตรียมทำรีสอร์ทพิเศษเป็นเขตกักกันสำหรับต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเที่ยวไทย
ข้อเสนอทำระเบียงท่องเที่ยวของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้ที่พำนักอยู่ภายในทั้งสองประเทศสามารถเดินทางท่องเที่ยวไปมาได้อย่างอิสระ โดยไม่จำเป็นต้องมีการกักตัว ซึ่งเขตระเบียงการท่องเที่ยวนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว เศรษฐกิจการค้า รวมถึงด้านการขนส่ง
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า แม้จะทำโครงการริเริ่มใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แต่ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าการเดินทางจะกลับไปเหมือนช่วงก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 และแม้การเดินทางกลับไปเป็นเหมือนก่อนเกิดการระบาดได้จริง แต่การเดินทางอาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ประเทศริมทะเลบอลติก 3 แห่งได้แก่ เอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนีย ประกาศเปิดให้คน 3 ประเทศเดินทางไปมาหาสู่กันได้ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. เพราะประเทศส่วนใหญ่ไม่สามารถปิดประเทศได้นานๆ ต่อไปทุกประเทศต้องทำ Travel Bubble ของตัวเองไม่ช้าก็เร็ว
“มาริโอ ฮาร์ดี” ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ)ของสมาคมเดินทางเอเชียแปซิฟิก (พาตา) องค์กรไม่หวังผลกำไร มีฐานปฏิบัติการในไทย กล่าวว่า เวียดนามและไทยกำลังหาทางทำระเบียงท่องเที่ยวระหว่างกันในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้านี้
ขณะที่นักวิเคราะห์ด้านการบินอย่าง “เบรนดัน โซบี” คาดการณ์ว่า ยุโรปและอเมริกาเหนือจะทำข้อตกลงแบบเดียวกันนี้ เมื่อประเทศต่างๆ จะจับคู่ ก็มีปัจจัยบางอย่างให้ต้องพิจารณา ได้แก่ 1.ต้องอยู่ในภูมิภาคเดียวกัน 2.คุมการแพร่ระบาดของโรคได้ 3.มีสถิติที่เชื่อถือได้
“เบนจามิน ลาควินโต” นักภูมิศาสตร์การท่องเที่ยวจากมหาวิทยาลัยฮ่องกง มองว่า การจับคู่ต้องดูประเทศที่มีความสัมพันธ์เชิงภูมิรัฐศาสตร์แข็งแกร่งด้วย ซึ่งในเอเชียคำถามใหญ่อยู่ที่จีน ซึ่งเป็นตลาดท่องเที่ยวต่างประเทศใหญ่สุดของโลก
"บิลล์ บาร์เน็ตต์" กรรมการผู้จัดการบริษัทที่ปรึกษาซี9 โฮเทลเวิร์กส์ อ้างผลสำรวจที่ระบุว่า นักท่องเที่ยวจีนอยากไปในที่ที่ตนรู้จักและไม่ไกลมากนัก หมายความว่า ประเทศไทยที่มีคนจีนเดินทางมาเที่ยวปีละราว 11 ล้านคน อาจเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่เปิดรับการท่องเที่ยวจีน
"เฟรยา ฮิกกินส์ เดสบิโอลส์" อาจารย์อาวุโสจากมหาวิทยาลัยเซาท์ออสเตรเลีย ผู้ทำวิจัยเรื่องการท่องเที่ยวเสริมว่า จีนอาจไม่สนใจเปิดการท่องเที่ยวกับประเทศที่มีความรู้สึกต่อต้านจีนในช่วงเกิดโรคระบาด เช่นออสเตรเลีย
อย่างไรก็ตาม Travel Bubble ก็เป็นแนวคิดที่มีความสุ่มเสี่ยง เพราะถ้าประเทศใดประเทศหนึ่งเกิดติดเชื้อขึ้นมาอีกครั้ง ระเบียงท่องเที่ยวนี้ก็ต้องปิดตัวลง และคงอีกนานกว่าการเดินทางนอกบับเบิลจะเกิดขึ้น นั่นหมายความว่าการเดินทางจากสหรัฐไปเอเชียต้องใช้เวลา
สำหรับประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก จำเป็นต้องสร้างสมดุลระหว่างข้อกังวลเรื่องสุขภาพกับเศรษฐกิจให้ได้ แต่แม้ประเทศเหล่านี้จะรู้สึกกดดันให้ต้องเปิดประเทศนอกเหนือจากบับเบิล แต่ก็ใช่ว่านักท่องเที่ยวจะหลั่งไหลเข้ามา ถ้าประเทศหนึ่งอยากเปิด แต่ไม่มีใครอยากไป ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แนวคิดนี้ย่อมไม่ได้ผล
ตอนนี้ไทยกำลังพิจารณาเปิดบางพื้นที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เท่ากับว่านักท่องเที่ยวต้องถูกกักไว้ในที่ๆเดียว เช่น เกาะ ไปโดยปริยาย ซึ่งผู้ว่า ททท.บอกว่าเป็นประโยชน์สำหรับนักท่องเที่ยวและชาวบ้านในท้องที่ ซึ่งซีเอ็นเอ็นระบุว่าความน่าสนใจอยู่ที่ระเบียบในการกักตัว เช่น หากชาวออสเตรเลียมาเที่ยวไทยแล้วต้องถูกกักตัวสองอาทิตย์ตอนกลับประเทศก็อาจจะไม่อยากมาเที่ยวไทยอีก
ส่วนประเด็น “Immunity passport” หรือหนังสือเดินทางภูมิคุ้มกัน ที่ก่อนหน้านี้ มีการคาดการณ์กันว่าจะช่วยให้ผู้ถือหนังสือเดินทางนี้ สามารถเดินทางไปยังที่ต่างๆได้เหมือนบุคคลทั่วไปก็ไม่ใช่เสียแล้ว เมื่อองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศเมื่อวันที่ 25 เม.ย ว่า ไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าหนังสือเดินทางภูมิคุ้มกันใช้ได้จริง เพราะไม่พบหลักฐานว่าผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายดีแล้วจะไม่กลับมาติดเชื้อใหม่ เพราะฉะนั้นบางประเทศที่เริ่มอนุญาตให้ประชาชนกลับไปทำงานหรือสามารถเดินทางได้จากพื้นฐานความเชื่อที่ว่า คนเหล่านี้มีภูมิคุ้มกันจากโควิด-19แล้วนั้น ต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่
นอกจากการระบาดของโรคโควิด-19 จะทำให้เกิดความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวของประเทศที่อยู่ใกล้กันแล้ว ยังทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปด้วย โดยก่อนเกิดการระบาดใหญ่ การเที่ยวบนเรือสำราญ ไปรีสอร์ตสกี หรือการบินในเที่ยวบินยาว ๆเป็นสุดยอดปรารถนาของผู้บริโภค แต่หลังจากเกิดการะบาดผู้บริโภคส่วนใหญ่จะนิยมไปเที่ยวที่ใกล้ๆ ไม่ต้องใช้เวลาในการเดินทางมากนัก
ผลสำรวจของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาต้า) ระบุว่า นักเดินทาง 60% บอกว่าจะจองตั๋วหลังควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้แล้ว 2 เดือน และ40% บอกว่าจะรออย่างน้อย 6 เดือน
ส่วนบริษัทโบอิง ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเดินทางและท่องเที่ยว และล่าสุดได้ประกาศลดพนักงานทั่วโลกถึง 10 % จากวิกฤตในครั้งนี้ บอกว่าต้องรอถึงอย่างน้อยปี 2566 กว่าที่การเดินทางทางอากาศจะกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับปี 2562 สอดคล้องกับไอเอจี ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของสายการบินบริติช แอร์เวย์ ที่บอกว่าต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่ทุกอย่างจะกลับมาเหมือนเดิม