Digital Yuan & Libra 2.0 อนาคต 'เงินดิจิทัล' หลังโควิด

Digital Yuan & Libra 2.0 อนาคต 'เงินดิจิทัล' หลังโควิด

ทำความรู้จักเงินดิจิทัลในอนาคตหลังโรคโควิด-19 ผ่านพ้นไป เพื่อรองรับการทำธุรกรรมแบบ Cashless ทั้งนี้จะยกตัวอย่างกรณีศึกษา Digital Yuan ของจีน กับการออกเวอร์ชั่น 2.0 ของ Facebook Libra ในแง่ที่มา รูปแบบการใช้งาน และความได้เปรียบระหว่างจีนกับสหรัฐ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกในปัจจุบันและหลังโควิดเราจะอยู่บนสังคมออนไลน์มากขึ้น “เงิน” ก็เช่นกัน จากที่เคยใช้กระดาษเป็นสื่อกลาง ก็มีช่องทางในการใช้ที่ยากขึ้นในยุคที่การซื้อขายส่วนใหญ่ทำผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัจจัยเร่งในการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลเพื่อรองรับการทำธุรกรรมแบบ cashless ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มทดลองใช้ Digital Yuan ของจีน หรือการออกเวอร์ชั่น 2.0 ของ Facebook Libra โดยผู้เขียนขอตั้งประเด็น ดังนี้

1.ใครเป็นคนสร้าง?

Digital Yuan : รัฐบาลเป็นเจ้าภาพ โดยธนาคารกลางจีนเป็นผู้ออกแต่เพียงผู้เดียว และไม่ได้ยกเลิกสกุลเงินหยวนที่อยู่ในรูปแบบธนบัตร/เหรียญกษาปณ์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่ Digital Yuan จะถูกใช้ควบคู่กันไป

โดยวัตถุประสงค์ของเหรียญก็เพื่อการชำระเงินรายย่อย (Retail CBDC) หรืออาจกล่าวได้ว่าประชาชนจีนสามารถใช้จ่ายเงินหยวนในรูปแบบดิจิทัลผ่านกระเป๋าสตางค์ e-wallet ของตนเองได้

Libra 2.0 : เอกชนเป็นเจ้าภาพ โดย Fb ผ่าน Libra Association เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งในเวอร์ชั่น 2.0 ได้มีการเปลี่ยนรูปแบบจากการที่ Fb จะเป็นผู้ออกเหรียญเอง เป็นการสร้าง Platform ที่เชิญชวนให้ธนาคารกลางทั่วโลกเข้ามาพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลบน platform ของ Libra หรือพูดง่ายๆ ว่า Fb กำลังเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้ออกเหรียญ เป็นผู้สร้างระบบที่ให้ธนาคารกลางต่างๆ มาลงโปรแกรมเงินดิจิทัลของตนบน Libra platform

2.รูปแบบและการใช้งานเป็นอย่างไร?

Digital Yuan : ในการออก Digital Yuan จำนวน 1 เหรียญ จะต้องมีการตั้งสำรองจำนวน 1 หยวน (1:1) และเก็บรักษาไว้ในบัญชีของธนาคารกลาง ซึ่งเท่ากับว่ามีหลักทรัพย์หนุนหลังในลักษณะที่ไม่ต่างจากการพิมพ์ธนบัตรในกรณีปกติ นอกจากนี้ Digital Yuan ยังสามารถใช้งานแบบ Offline ได้ (ผ่านระบบ NFC หรือเทคโนโลยี​ไร้สาย​ที่​ช่วย​​จับคู่​​อุปกรณ์) ดังนั้น แม้โทรศัพท์จะไม่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้แต่ก็ยังสามารถทำธุรกรรมทางการเงินผ่าน e-Wallet ได้อยู่ดี

Libra 2.0 : ได้เสนอสร้างเหรียญในสองรูปแบบ รูปแบบแรกคือ การสร้าง Single-currency stablecoins ซึ่งมีหลักการในการตั้งสำรองแบบ 1:1 เหมือน Digital Yuan ในข้างต้น แต่ต่างกันที่ในระยะแรก Libra ได้กำหนดสกุลเงินที่สามารถเข้าร่วมพัฒนาบนระบบไว้เพียง 4 สกุล ได้แก่ USD, EUR, GBP และ SGD (ในอนาคตอาจมีการกำหนดเพิ่ม) ดังนั้น หากมีการออก LibraGBP จำนวน 1 ล้าน LibraGBP ก็ต้องตั้งสำรองไว้ 1 ล้าน GBP และเก็บไว้ในบัญชีธนาคารที่ Libra กำหนด 

รูปแบบที่สองคือ การสร้าง Global Libra โดยมูลค่าสินทรัพย์ที่หนุนหลังคือมูลค่าของทุกเหรียญที่รวมกันอยู่ใน Single-currency stablecoins ซึ่งจะคำนวณแบบค่าเฉลี่ยของทุกสกุล (คล้ายกับสิทธิพิเศษถอนเงิน (SDR) ที่กำหนดโดย IMF) โดยวัตถุประสงค์ในการสร้างเหรียญประเภทนี้เพื่อใช้เป็นช่องทางการชำระเงินระหว่างประเทศ

3.บทบาทของรัฐจะเป็นอย่างไร?

Digital Yuan : ผู้เขียนชื่อว่าบทบาทในการกำกับและสอดส่องระบบการเงินของธนาคารกลางจีนจะเพิ่มขึ้นจากเดิม ลองคิดภาพว่านี่คือการสร้างระบบการเงินที่ดึงความ Centralize กลับมาที่ธนาคารกลางอย่างเต็มรูปแบบ กล่าวคือ “เงิน” หากอยู่ในรูปแบบธนบัตร/เหรียญกษาปณ์ โดยทั่วไปธนาคารกลางจะกำกับดูแลได้ในระดับหนึ่งแต่ไม่เต็มรูปแบบเพราะไม่อาจเห็นภาพการเคลื่อนไหวทั้งหมดของระบบการเงินได้

แต่หากปรับให้อยู่ในแบบดิจิทัลที่ตนเป็นผู้สร้าง การสอดส่องระบบการเงินจะทำได้ดีขึ้น ประกอบกับชาวจีนจำนวนมากนิยมทำธุรกรรมและเปิดบัญชีบน platform ของเอกชนอย่าง Alipay/WeChat ซึ่งแต่ละ platform เปรียบเสมือนช่องทางการทำธุรกรรมของประชาชนที่รัฐอาจไม่เห็นทั้งหมด เพราะต่างมีระบบของตนแยกกันไป ดังนั้น การออก Digital Yuan จึงเท่ากับเป็นการที่รัฐจะบอกว่า กำลังจะสร้างหยวนให้อยู่ในรูปดิจิทัลเพื่อเป็นสื่อกลางให้ทุก App ใช้รูปแบบเดียวกัน ซึ่งสิ่งที่จีนทำคือการให้ร้านค้าและ App ต่างๆ ลงระบบที่สามารถใช้ Digital Yuan ได้ และกำหนดห้ามผู้ใดออกเงินดิจิทัลแข่งกับรัฐบาล

Libra 2.0 : ได้ปรับรูปแบบเพื่อเพิ่มบทบาทให้กับรัฐหลายประการ ประการแรกคือ เสนอให้ธนาคารกลางเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเงินดิจิทัลบนระบบของตน ซึ่งข้อสังเกตของผู้เขียนคือ ธนาคารกลางประเทศต่างๆ จะสนใจพัฒนาสกุลเงินของตนบน platform ของเอกชนหรือไม่? ประกอบกับเงินสำรองที่ตั้งไว้ก็อาจอยู่นอกเหนือการควบคุม เพราะต้องเก็บไว้ในบัญชีตามที่ Fb กำหนด และแม้ Fb จะเพิ่มเติมระบบความปลอดภัยให้กับระบบ แต่แนวโน้มในปัจจุบันคือประเทศต่างๆ เร่งพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลบน platform ที่ศึกษาและพัฒนาเองเสียมากกว่า

ประการที่สอง Libra จะเปิดให้ผู้บริการบางประเภท (เช่น ผู้ให้บริการแลกเงิน) ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลจากรัฐอยู่แล้ว (Regulated VASPs) สามารถให้บริการบน Libra Platform ได้ ซึ่งในอนาคต Fb ได้ระบุว่าอาจมีการเพิ่มผู้ให้บริการอีกกลุ่ม ซึ่งกลุ่มหลังนี้จะเข้ามาได้ต้องผ่านการรับรองจาก Libra Association ก่อน (Certified VASPs) ซึ่งหากผู้ให้บริการในรูปแบบที่สองนี้เกิดขึ้นจริง ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ Fb อาจอนุญาตผู้ให้บริการที่ไม่ได้ “license” จากภาครัฐ แต่ได้ “การรับรอง” จาก Fb เข้าประกอบธุรกิจทางการเงินบน Platform ของตน ซึ่งในส่วนนี้ Whitepaper ยังไม่ได้ระบุรายละเอียดชัด

4.จีนกับสหรัฐ ใครได้เปรียบ?

ถ้ามองว่านี่คือการแข่งขัน ก็ต้องบอกว่าสหรัฐตามจีนอยู่หลายช่วงตัว ในขณะที่จีนได้เริ่มมีการทดลองใช้แล้วในสี่เมืองใหญ่และคาดว่าจะทดลองแล้วเสร็จภายในปีนี้ แต่สหรัฐยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องสกุลเงินดิจิทัล และแม้ว่าสหรัฐจะเร่งให้ Libra 2.0 ออก LibraUSD ให้ได้เร็วเท่าไร ก็ต้องไม่ลืมว่า Libra Platform ได้รองรับการสร้างเหรียญในสกุลอื่นๆ ด้วยเช่นกัน เนื่องจาก Libra 2.0 มีวัตถุประสงค์ในการสร้างสกุลเงินที่หลากหลายและไม่ได้รองรับเพียงแค่ USD (เพื่อให้มีเงินหลายสกุลมาค้ำประกันเหรียญดิจิทัลได้)

ท้ายที่สุด โควิดคล้ายจะเป็นวิกฤติในโอกาสที่ทำให้จีนมองภาพในอนาคตได้ชัดเจนขึ้น ผู้เขียนเชื่อว่าอีกไม่นานเงินดิจิทัลจะมีบทบาทและเป็นความจำเป็นหนึ่งในชีวิตเราโดยไม่รู้ตัว ซึ่งนี่อาจเป็นความปกติใหม่ประการหนึ่งหลังโควิดก็เป็นได้

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน]