แพทย์หวั่นไข้หวัดใหญ่ระบาด ตรงกับช่วงผ่อนปรน เพิ่มความรุนแรงโรค

แพทย์หวั่นไข้หวัดใหญ่ระบาด ตรงกับช่วงผ่อนปรน เพิ่มความรุนแรงโรค

“แพทย์” เตือนเข้าสู่หน้าฝน มิ.ย.นี้ ไข้หวัดใหญ่ระบาด หวั่นตรงกับช่วงผ่อนคลายมาตรการ โควิด-19 ส่งผลติดเชื้อไวรัส 2 โรคพร้อมกัน เพิ่มความรุนแรงของโรค ย้ำ 6 กลุ่มเสี่ยงมีอาการควรรีบพบแพทย์ ระบุไทยมียาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่

วันนี้ (13 พ.ค.2563) นายแพทย์ วีรวัฒน์ มโนสุทธิ รองผู้อำนวยการสถาบัน กลุ่มแผนปฏิบัติการชาติฯ สถาบันบำราศนราดูร แถลง “ความร้ายแรงของโรคไข้หวัดใหญ่ ในภาวะการระบาดของโควิด-19” ว่าโรคไข้หวัดใหญ่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะอาการแสดงของโรคไข้หวัดใหญ่มีความคล้ายกับโรคโควิด-19 ซึ่งทำให้สามารถแยกทางคลินิกได้ค่อนข้างยาก ต้องอาศัยประวัติ ปัจจัยเสี่ยง และการตรวจอื่นๆ ร่วมด้วย

โดยโรคไข้หวัดใหญ่ สามารถทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน ภาวะปอดอักเสบ และเป็นโรคที่มีการแพร่กระจายได้เช่นเดียวกับโรคโควิด-19 เนื่องจากเป็นโรคทางเดินหายใจ มีการติดเชื้อ แพร่กระขายเชื้อจากการสัมผัสของโรค ซึ่งเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ มีการแพร่กระจายเชื้อจาก 1 คนไป 2 คน และทำให้เกิดอัตราการเสียชีวิต 2% ทั่วโลก เพิ่มขึ้น 26 เท่าในผู้สูงอายุ อีกทั้งผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วสามารถป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้เพียง 60-70% เท่านั้น


“ขณะนี้กำลังเข้าสู่ช่วงการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจากสถิติของไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย พบว่า จำนวนผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ปี 2563 เทียบกับปี 2561 และปี2562 โดยค่ามัธยฐานย้อนหลัง 5 ปี มีช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สูง ในช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ย. ซึ่งเป็นช่วงหน้าฝนของประเทศ โดยมีจำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สูงกว่าผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 33 เท่า และปัจจุบันเมื่อมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะยิ่งทำให้ผู้ที่มีการติดเชื้อโควิด -19 มีความเสี่ยง โอกาสติดเชื้ออื่นๆ ได้มากถึง 20% ซึ่ง 60% มีโอกาสติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญสายพันธุ์ A ”นายแพทย์วีรวัฒน์ กล่าว

158937384599

  • 6 กลุ่มเสี่ยงเฝ้าระวังติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่


ทั้งนี้ สำหรับ 6 กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มากที่สุด ได้แก่ กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ กลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น เป็นโรคมะเร็ง กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น มีโรคปอดอักเสบเรื้อรัง โรคหัวใจ ไตวายเรื้อรัง หลอดเลือดในสมองตีบ และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย ซึ่งเมื่อแพทย์ยังไม่สามารถแยกอาการระหว่างผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่กับผู้ป่วยโควิด-19 ได้อย่าง 100% ดังนั้น หากใครมีอาการต้องสงสัยว่าไข้หวัดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น มีไข้สูง ไอ คัดจมูก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บคอ ร่างกายอ่อนเพลีย และมีน้ำมูลมาก แสดงว่ามีอาการไข้หวัดใหญ่มากกว่าโควิด-19 ต้องรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว

  • แนะประชาชนเฝ้าระวังติด 2 โรคในเวลาเดียวกันได้


นายแพทย์วีรวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า ตอนนี้เมื่อมีสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ผู้ป่วยมีโอกาสที่จะติดเชื้อทั้งสองโรค คือโรคไข้หวัดใหญ่ และโรคโควิด-19 ได้ในเวลาเดียวกันหรือ co-infection ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความรุนแรงของโรค และเป็นอันตรายในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์ โดยการศึกษาที่สหรัฐอเมริกาและจีนพบว่าการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้ออื่นๆร่วมกันได้สูงถึง 20% และ 80 %ตามลำดับ และการติดเชื้อร่วมกับโควิด-19 กว่า 60 %พบเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ ที่น่าตกใจกว่านั้นคือการติดเชื้อร่วมกันนั้นเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตสูงถึง 29-55 %


“อาการที่เข้าเกณฑ์การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ประกอบด้วย ไข้สูง 38-40 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะ คัดจมูกหรือน้ำมูกไหล เจ็บคอ ไอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และร่างกายอ่อนเพลีย หากพบว่ามีอาการดังกล่าวผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์ โดยเฉพาะในกรณีที่อาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง เพื่อรับคำแนะนำและการรักษาด้วยยาต้านไวรัส ซึ่งยาต้านไวรัสมีประโยชน์ในการบรรเทาอาการของไข้หวัดใหญ่ได้ภายใน 2.3 ถึง 4 วัน, ลดความเสี่ยงการเกิดโรคแทรกซ้อน และช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อไวรัสไปสู่คนใกล้ชิดได้ด้วย ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญในช่วงเวลาที่ทุกคนกักตัวในบ้านกับครอบครัวขณะนี้ โดยยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่จะมีประสิทธิผลที่ดีที่สุดเมื่อรับประทานภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากมีอาการ และในปัจจุบันมีทางเลือกยาต้านไวรัสหลายชนิด ทั้งชนิดรับประทาน และสูดดมทางจมูกให้เลือกใช้ โดยจะต้องคำนึงถึงทั้งประสิทธิผลและความปลอดภัยไปพร้อมกัน” นายแพทย์ วีรวัฒน์ กล่าว

  • หวั่นไข้หวัดใหญ่ระบาดควบคู่โควิดหลังผ่อนมาตรการ


สำหรับการป้องกันการแพร่ระบาดในประเทศไทยนั้น กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีนโยบายในการให้วัคซีนกับกลุ่มเสี่ยงทั่วประเทศอยู่ แต่ถ้าไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสามารถพบแพทย์ทั้งในภาครัฐ และเอกชนได้ โดยการฉีดวัคซีนจะเป็นการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อของไวรัสได้ ซึ่งการแพร่กระจายเชื้อของไข้หวัดใหญ่ และโควิด-19 มีลักษณะใกล้เคียงกัน ผู้เป็นไข้หวัดใหญ่สามารถแพร่กระจายเชื้อไป 2 คน แต่โควิด -19 กระจายเชื้อ 2-3 คน อีกทั้ง จากข้อมูลที่ผ่านมา การระบาดโควิด-19 ในประเทศจีนจะมีผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดใหญ่ร่วมด้วยสูงเนื่องจากเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สูงอยู่แล้ว


“แม้สถานการณ์ภาพรวมของประเทศดีขึ้น และสถาบันบำราศนราดูรมีการรับคนไข้ประมาณ 200 กว่าราย ตอนนี้ได้มีการรักษาหายหมดและกลับบ้านแล้ว เหลืออยู่เพียง 1 ราย แต่เมื่อเข้าสู่หน้าฝนในเดือนมิ.ย.นี้ ที่มีการระบาดไข้หวัดใหญ และมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์โควิด -19 จะทำให้เกิดการประชุม สัมมนา การท่องเที่ยว การคมนาคมมากขึ้น จึงอาจจะทำให้มีแนวโน้มเกิดโควิด -19 รุนแรงกลับมาใหม่ได้ และหากผู้ป่วยมีไข้หวัดใหญ่ร่วมด้วย จะทำให้ภาวะแทรกซ้อนมากขึ้น และต้องใช้ยารักษาต้านไวรัสทั้งไข้หวัดใหญ่ และโรคโควิด-19 ไปพร้อมกัน ซึ่งจะทำให้เกิดอันตรายได้” นายแพทย์วีรวัฒน์ กล่าว

  • วิธีจัดการไข้หวัดใหญ่ เน้นทั้งป้องกัน-รักษา


นายแพทย์ วีรวัฒน์ กล่าวอีกว่าวิธีจัดการไข้หวัดใหญ่ของประเทศไทย ในปัจจุบันนั้น จะมีแนวทางการป้องกัน และรักษา โดยการป้องกันจะมีการรณรงค์ สร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชน สามารถทำได้โดยการรักษาสุขอนามัยที่ดี ล้างมือบ่อยๆ และฉีดวัคซีนประจำปีซึ่งป้องกันได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากการจะฉีดวัคซีน แต่ละปีองค์การอนามัยโลกจะคาดการณ์ว่ามีการแพร่ระบาดของไวรัสตัวไหนบ้าง และประกาศให้แต่ละประเทศมีการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสตัวนั้น ซึ่งหากจะมีกรณีที่เกิดการคาดการณ์ผิดก็เป็นได้ เพราะไวรัสมีสายพันธุ์จำนวนมาก


“การรักษา จะมีการรับยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ เพื่อลดอาการ ลดปริมาณเชื้อไวรัสในร่างกาย ทำให้อาการของคนไข้ลดลง ลดภาวะการเป็นโรคแทรกซ้อน โรคปอดอักเสบได้ และลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อไวรัสสู่คนรอบข้าง โดยทางการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่จะแบ่งตามความรุนแรง คือ ถ้าเป็นผู้ป่วยที่อาการรุนแรง จะพิจารณายาต้านไวรัสให้เร็วที่สุด โดยไม่ต้องรอผลการตรวจ ส่วนกลุ่มผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง จะแบ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง จะให้ยาต้านไวรัสเร็วที่สุด ขณะที่กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ จะมีการพิจารณาตามอาการ แต่หากเป็นกลุ่มเสี่ยงต่ำแต่ต้องอาศัยร่วมกับบุคคลเสี่ยงก็จะพิจารณาให้ยาต้านไวรัสเช่นเดียวกัน” นายแพทย์ วีรวัฒน์ กล่าว

สำหรับยาต้านไวรัสในประเทศไทย มี 3 ชนิด คือ บาลอกซาเวียร์ รับประทานครั้งเดียว 2-4 เม็ดตามน้ำหนักตัว ชนิดที่ 2 โอเซลมามิเวียร์ รับประทานวันละ 2 เม็ด นาน 5 วัน ซึ่งส่วนใหญ่จะคุ้นเคยยาชนิดนี้ และชนิดซานามิเวียร์ พ่นวันละ 2 ครั้ง นาน 5 วัน อย่างไรก็ตาม ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ จะให้ประสิทธิภาพในการลดอาการได้ไม่แตกต่างกัน ทั้งนี้ สำหรับการปลดปล่อยเชื้อไวรัส พบว่า ยาบาลอกซาเวียร์ ลดการปลดปล่อยไวรัส 24 ชั่วโมง ขณะที่ โอเซลมามิเวียร์ ได้ 72 ชั่วโมง และซานามิเวียร์ได้ 96 ชั่วโมง ซึ่งการปลดปล่อยเชื้อไวรัสเป็นตัวชี้วัดการแพร่กรายเชื้อ หรอการติดเชื้อ ในผู้ป่วยทางเดินหายใจในหลายชนิด อย่างไรก็ตาม ยาต้านไวรัสจุลชีพ มีทั้งยาต้านไวรัสและยาแบคทีเรีย และการเกิดโรคทางเดินหายใจเกิดได้จากไวรัสและแบคทีเรีย แต่ส่วนใหญ่ จะเกิดจากไวรัสมากกว่าแบคทีเรีย และไวรัสที่เจอบ่อย คือไข้หวัดใหญ่ ยาที่ใช้รักษาจึงต้านไวรัส แต่ไม่ได้ต้านแบคทีเรีย


ส่วนความปลอดภัยของยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งยาทุกตัวที่มีใช้ในปัจจุบันมีความปลอดภัยสูง แต่มีผลข้างเคียงที่พบบ่อยและข้อควรระวัง คือ มีอาการท้องเสีย หลอดลมอักเสบ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ไซนัสอักเสบ มึนงง ฉะนั้น เมื่อมีอาการไม่ควรไปซื้อยารับประทานเอง ควรไปพบแพทย์ และหากไปซื้อยาตามร้านขายยา จ่ายยาโดยเภสัชกร ควรมีใบสั่งซื้อจากแพทย์

  • ผู้ป่วยโควิด-19 หายแล้วไม่เป็นซ้ำแตกต่างกับไข้หวัดใหญ่


นายแพทย์วีรวัฒน์ กล่าวด้วยว่าผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อโควิด-19 จะมีภูมิคุ้มกันป้องกันการติดเชื้อได้ ขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยที่ติดโควิด-19 หายแล้วมาเป็นซ้ำ ซึ่งแตกต่างจากโรคไข้หวัดใหญ่เป็นแล้วเป็นซ้ำได้ เนื่องจากมีหลายสายพันธุ์ ฉะนั้น เมื่อมีการรักษาแล้วต้องมีการป้องกันอย่างต่อเนื่องด้วย และหากใครอยากฉีดวัคซีนสามารถทำได้

“ภาครัฐ และเอกชน มีการรณรงค์ในการแพร่ระบาดโรคไข้หวัดใหญ่ให้ประชาชนมีความรู้ในการป้องกันตนเอง ซึ่งช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา มีโควิด-19 ระบาด มาตรการป้องกันดูแลตัวเองของโควิด-19 สามารถป้องกันการแพร่ระบาดไข้หวัดใหญ่ในช่วงหน้าฝนเดือนมิ.ย.นี้ด้วยเช่นกัน ทุกคนควรจะดูแล ป้องกันสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัว ต้องระวังการแพร่กระจายเชื้อ หากมีอาการผิดปกติ ไข้ ไอ เหนื่อย หรือมีความเสี่ยง ต้องอยู่กับกลุ่มเสี่ยงในบ้านต้องมาพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อนำไปสูการวินิจฉัย รักษา และมีโอกาสในการลดการปลดปล่อยของเชื้อ ไปยังผู้อื่น” นายแพทย์วีรวัฒน์ กล่าว