'ดิจิทัลหยวน' เปลี่ยนโลก จับตา 'ดิสรัป' ครั้งใหญ่
“เงินดิจิทัลหยวน” หรือรู้จักกันในนาม e-RMB โดยมีธนาคารกลางของจีนเป็นผู้ออกรายเดียว และมีเป้าหมายเพื่อให้การชำระเงินดิจิทัลสะดวกและเร็วขึ้น
ประธานาธิบดีฯ สีจิ้นผิง ได้ประกาศชัดไว้ตั้งแต่ปี 2559 ว่า "จีนต้องการเป็นผู้นำทางด้านบล็อกเชนของโลก และดิจิทัลหยวนจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลก"
จนเมื่อเร็วๆนี้ มีข่าวหลุดออกมาตอกย้ำว่า จีนกำลังเข้าใกล้จุดนั้น โดยมีภาพปรากฎที่หลายธนาคารพาณิชย์ของจีนและผู้ให้บริการรายใหญ่ๆ อีก 19 บริษัท เช่น สตาร์บัค แมคโดนัลด์ ซับเวย์ รวมถึงแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีประชาชนใช้บริการมากมายในจีน ทั้ง อาลีเพย์ เจดี วีแชท กำลังร่วมทดสอบให้บริการ "ดิจิทัลหยวน" ใน 4 มณฑลหลักของจีน และในปีนี้มีมณฑลหนึ่งกำลังจะจ่ายเงินพนักงานครึ่งหนึ่งเป็นเงินหยวนอีกครึ่งเป็นดิจิทัลหยวน โดยช่วงทดสอบมีระยะเวลา 6-12 เดือน
"จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา" ผู้ก่อตั้งเว็บซื้อขายเงินดิจิทัล Bitkub.com หรือ "บิทคับ" ฉายภาพให้เห็นว่า การเข้ามาของ "ดิจิทัลหยวน" กำลังเปลี่ยนโฉมโลกใบนี้ โดยอนาคตอาจไม่มี "เงินกระดาษ" อีกต่อไปแน่นอนทุกคนจะเป็นใช้ "เงินดิจิทัล" ทั้งหมดแบบไม่รู้ตัวอย่างเช่น "การโอนเงิน" จะส่งไปที่ไหนก็ได้ทั่วโลกไม่มีค่าธรรมเนียมเหมือนกับที่เรา "สติกเกอร์ไลน์หากัน" คาดว่าในอีก 3-5 ปี จากนี้เราสามารถไปถึงจุดเปลี่ยนนั้นได้ซึ่งนับจากนี้จะเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นในตลาดเงินดิจิทัลทั่วโลก
เขายกตัวอย่างว่า ใครที่เข้ามาค้าขายอยู่ในเส้นทางสายเศรษฐกิจ หรือ "วันเบลต์ วันโรด"...One Belt One Road (OBOR) ของจีน ในอนาคตคงจะต้องปรับตัวใช้ "เงินดิจิทัลหยวน" อย่างแน่นอน เพราะทุกวันนี้จะเห็นได้ว่า ใครที่รับสินค้าจากจีนมาขาย รวมถึงคนไทย ก็ต้องปรับตัวมาใช้ระบบโอนเงินผ่านระบบวีแชท ที่เป็น "ดิจิทัลมันนี่" อยู่แล้ว ในอนาคตหากวีแชทหรืออาลีเพย์ พร้อมมารับ "เงินดิจิทัลหยวน" ทุกคนที่อยู่ในระบบนี้ก็ใช้ได้ทันที
ด้วยเหตุนี้เอง อนาคตอาจเห็น "เงินดิจิทัลหยวน" กลายเป็น "เงินสกุลหลัก" ของโลกแทนดอลลาร์ เพราะสุดท้ายแล้ว "ทุกคนจะเลือกใช้สิ่งที่สะดวกสบายมากที่สุดและดีที่สุดสำหรับชีวิต"
สำหรับจุดเปลี่ยนที่จะส่งผลต่อประเทศไทยนั้น "จิรายุส" มองว่า "ดิจิทัลหยวน" ยังจะเป็นตัวเร่ง "ดิจิทัลบาท" ให้เกิดตามมาด้วย แต่ทั้งรัฐบาลและหน่วยงานกำกับแลทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง นอกจากมีนโยบายการป้องกัน รักษาดูแลด้านเสถียรภาพต่างๆแล้ว สิ่งที่สำคัญ คือ ต้องมีการกำหนดนโยบาย ทิศทางในการผลักดันและสนับสนุนนวัตกรรมเงินดิจิทัลของประเทศให้ชัดเจนเหมือนอย่างสีจิ้นผิงของจีน
"แบงก์ชาติของเรา ยังก็ต้องปรับตัวอีกมาก เพราะหากช้า คนไปใช้ดิจิทัลหยวนกันหมด การควบคุมเสถียรภาพของเงินบาทจะทำได้ยากขึ้น และฝั่งผู้ให้บริการโดยเฉพาะแบงก์ ต้องปรับตัวให้ทันกับการดิสรัปชั่นของเทคโนโลยีครั้งนี้"
จิรายุส บอกด้วยว่า จุดพลิกผันของเงินดิจิทัลในไทย คือ ถ้าฝั่งผู้ออกนโยบายหรือผู้คุมกฎหมายผิด จะยิ่งทำให้เราล่าช้าหรือล้าหลัง เหมือนยุคแรกที่กูเกิลหรือเฟชบุ๊กไปเกิดในต่างประเทศ เราก็จะเป็นแค่ "ผู้ใช้งาน" ไม่ใช่ "ผู้ให้บริการ"
สุดท้ายแล้วจะเห็นว่า มีข้อเสีย ของการเป็นเพียงผู้ใช้งาน คือ จีดีพี ไหลไปอยู่ในต่างประเทศหมด และในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 พิสูจน์แล้วว่า บริษัทที่ยังเติบโตต่อได้ คือ ธุรกิจด้านนวัตกรรมดิจิทัล และเทคโนโลยี เช่น อเมซอล เติบโต 29% เฟชบุ๊ก เติบโต 18% ขณะที่ธุรกิจไทยร้านอาหารไทยตายหมด เพราะไม่มีดิจิทัลแชร์ริตี้และเศรษฐกิจไทยจะยิ่งแย่ลง
"หากรัฐบาลเราช้า ยิ่งลดทอนอำนาจรัฐลงไปเรื่อยๆ และเราก็จะยิ่งล้าหลัง เหมือนอินเทอร์เน็ตกำลังจะมาแล้ว จีนกับสหรัฐแข่งกันเป็นผู้นำด้านนี้ แต่คนไทยบอกว่าอย่าเพิ่งเข้าไปยุ่ง เราจะเป็นแค่ผู้ใช้งาน จีดีพีไหลไปนอกประเทศ หรือทั่วโลกกำลังแข่งขันผลิตรถยนต์ แต่เรากลับบอกว่า รถทับคนตาย ไม่สนับสนุนขี่ม้ากันต่อ"
"จิรายุส" กล่าวต่อว่า เพื่อให้เราทันกับเงินดิจิทัลหยวนที่เข้ามาเปลี่ยนโลก สิ่งที่เรายังขาด คือ "การสนับสนุน" โดยเฉพาะการให้องค์ความรู้และการเข้าถึงชุดข้อมูลในแบบเดียวกัน มองว่า เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องทำร่วมกันมากขึ้น เพราะจะทำให้เกิดการตัดสินใจไปทิศทางเดียวกันและมองเป็นเชิงบวก เหมือนในต่างประเทศที่การขับเคลื่อน "เงินดิจิทัล" ออกมาใช้งานได้จริง หรือแม้ในประเทศเล็กๆอย่างอิสราเอล ยังสามารถเป็นผู้ให้บริการด้านนวัตกรรม มีซิลิคอนวัลเลย์เป็นลูกค้าในหลายโปรเจ็คได้
เมื่อโลกทุกวันนี้ยังไม่หยุดหมุน การพัฒนา "ตลาดเงินดิจิทัล" ในไทยยังต้องเดินหน้ากันต่อไป และยังมีหลายเรื่องของเงินดิจิทัลที่ต้องได้รับ "unlock" ไม่เช่นนั้นในโลกที่หมุนเร็วขึ้น หลังเงินดิจิทัลหยวนเข้ามาเปลี่ยนโลก ไทยเราอาจจะวิ่งตามเขาไม่ทัน