กมธ.ตามงบฯ สภา เสนอเซ็ตซีโร่ 'การบินไทย'

กมธ.ตามงบฯ สภา เสนอเซ็ตซีโร่ 'การบินไทย'

"กมธ.ตามงบฯ สภา" เสนอเซ็ตซีโร่ "การบินไทย" ใช้ผู้บริหารมืออาชีพ พร้อมเปลี่ยนเป็นรัฐวิสาหกิจชั้นสาม เพื่อยังได้รับความช่วยเหลือจากรัฐได้ต่อไป

เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 63 ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายไชยา พรหมา ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน กมธ.ฯ ซึ่งได้นัดประชุมกมธ. ผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อพิจารณาประเด็นการแก้ไขปัญหาโครงสร้างหนี้ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยมี นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองปลัดกระทรวงการคลัง ฐานะรักษาการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ นายปัญญา ชูพานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม เข้าให้ข้อมูลและชี้แจงในรายละเอียด

สำหรับประเด็นที่กมธ.ฯ ตั้งประเด็นซักถาม คือ กรณีแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทการบินไทย ทั้งในแง่ความเป็นไปได้ต่อการยื่นเรื่องต่อศาลล้มละลาย หรือ การปรับสัดส่วนผู้ถือหุ้นในบริษัท เพื่อทำให้บริษัทการบินไทยฯ สามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินในรูปแบบของเอกชน แทนการเป็นรัฐวิสาหกิจ โดย นายจักรกฤศฏิ์ ชี้แจงในสาระสำคัญตอนหนึ่งว่า ตามแผนการฟื้นฟูที่กระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคม เสนอต่อ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) พิจารณามีหลักการเบื้องต้น คือ การลดสัดส่วนผู้ถือหุ้น จากเดิมที่กระทรวงการคลังถือหุ้นร้อยละ 50 , แผนการคงความเป็นรัฐวิสาหกิจไว้ อย่างไรก็ตามยังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจน

นายจักรกฤศฏิ์ ยังกล่าวตอบคำถามของกมธ.ฯ​ที่ให้วิเคราะห์ถึงข้อดีข้อเสียในแผนฟื้นฟูด้วยว่า จุดอ่อนของบริษัทการบินไทย คือ ความเป็นรัฐวิสาหกิจที่ไม่เอื้อต่อการแข่งขันในอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งมีข้อเสนอต่อทางเลือกที่เหมาะสม คือ ปรับโครงสร้างองค์กร ให้ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ เพื่อความคล่องตัวในการแข่งขันและสามารถต่อสู้กับคู่แข่งรายอื่นๆ ได้ แต่กรณีที่จะดำเนินการดังกล่าวอาจติดปัญหาข้อกฎหมายหลายฉบับ ซึ่งกระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคมหารือร่วมกันหลายครั้งแต่ไม่มีบทสรุป เนื่องจากมีปัญหาที่ซับซ้อน ทั้ง การค้ำประกันเงินกู้จากหน่วยงานรัฐ หรือการไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล ทั้งนี้หากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากกระทรวงการคลังจะทำให้ขาดสภาพคล่องด้านการเงิน ไม่มีเงินชำระหนี้ ไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนพนักงาน และต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูโดยสาร หรือเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย อย่างไรก็ตามมีทางเลือกที่เสนอคือ ทำให้บริษัทการบินไทย เป็นรัฐวิสาหกิจชั้นสาม เพื่อยังได้รับความช่วยเหลือจากรัฐได้ต่อไป แต่อาจกระทบกับสหภาพการบินไทย หรือหากลดสัดส่วนการถือหุ้นโดยรัฐและเพิ่มหุ้นในสัดส่วนของ เอกชนนั้นยังไม่ได้พิจารณา แต่อนาคตมีความเป็นไปได้ แต่ต้องเกิดขึ้นภายหลังจากที่แผนฟื้นฟูในกิจการและการทำงานมีความชัดเจน​

“ตามแผนที่เสนอให้รัฐบาลช่วยเหลือ คือ ต้องใช้เงิน 5.4 หมื่นล้านบาท โดยมีแผนการเบิกจ่ายเป็นขั้นตอน ไม่ใช่เบิกจ่ายเงินทั้งก้อนรวดเดียว อย่างไรก็ตามหลังจากการฟื้นฟู การบินไทยมีอนาคต และต้องหาทางออกร่วมกัน โดยรัฐบาลต้องใช้ความรวดเร็วในการแก้ปัญหา แต่หากไม่มีข้อยุติภายใน 15-30 วันนี้จะมีปัญหาเรื่องการเข้าสู่สถานะขาดสภาพคล่อง ซึ่งกระแสเงินสดของบริษัทอยู่ได้ถึงแค่ต้นเดือนมิถุนายน และผมอยู่ระหว่างเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อยืดเวลาพักชำระหนี้ แต่มีบางรายไม่อมและจะฟ้อง หากไปถึงระดับนั้นจะเป็นอันตรายมาก” นายจักรกฤศฏิ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับกมธ.ฯ มีข้อเสนอในเบื้องต้นต่อการแก้วิกฤตบริษัทการบินไทย คือ เซ็ตซีโร่ ทั้งปรับเปลี่ยนคณะผู้บริหารที่มีความเป็นมืออาชีพ ไม่ใช่ให้ข้าราชการ, นายทหาร หรือคนที่มีประโยชน์ได้เสียเข้ามาบริหาร นอกจากนั้นในแผนการฟื้นฟูที่เสนอให้รัฐบาลใช้เงินภาษีของประชาชนช่วยเหลือบริษัทการบินไทย รัฐบาลต้องเปิดเผยรายละเอียดและข้อเท็จจริง นอกจากนั้นต้องกล้าผ่าตัดใหญ่ อย่างไรก็ตามกมธ. ได้นัดหารือประเด็นดังกล่าวอีกครั้งในสัปดาห์หน้า โดยเชิญตัวแทนที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตัวแทนสหภาพการบินไทย เข้าชี้แจง