'โควิด-19' ทุบเศรษฐกิจบังกลาเทศ 'คนจน-หิวโหย' พุ่งนับล้าน
บังกลาเทศ ประเทศในเอเชียใต้ที่พึ่งพารายได้จากอุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นหลัก มีชะตากรรมไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ ทั่วโลกในขณะนี้ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ชาวบังกลาเทศหลายล้านคนกลายเป็นคนฐานะยากจน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การระบาดของโรคโควิด-19 ยังถือเป็นการทดสอบความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรีชีค ฮาซีนาอย่างแท้จริงว่า จะสามารถรับมือกับปัญหาขาดแคลนอาหารและประชากรในประเทศไม่มีรายได้ ได้อย่างไร
ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 14 พ.ค. บ่งชี้ว่า บังกลาเทศมีผู้ป่วยโรคโควิด-19 สะสมอยู่ที่กว่า 17,800 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตเกือบ 270 ราย แต่การที่บังกลาเทศใช้มาตรการล็อกดาวน์ประเทศประมาณ 75% เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ ทำให้คนตกงานมากถึง 13 ล้านคน
ขณะที่โครงการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบของรัฐบาลก็แทบไม่ได้ช่วยเยียวยาประชาชนได้จริง จึงทำให้เกิดเหตุชาวบ้านที่ยากจน สิ้นหวังและหิวโหยตัดสินใจโจมตีขบวนรถแจกจ่ายอาหารของทางการอยู่บ่อยครั้ง
นอกจากนี้ บังกลาเทศยังมีปัญหาคอร์รัปชันเงินหรือแม้แต่สิ่งของจำเป็น รวมทั้งอาหารที่ทางการจัดไว้สำหรับแจกจ่ายแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด ส่วนผู้สื่อข่าวบางกลุ่มที่ลงพื้นที่เพื่อเปิดโปงขบวนการคอร์รัปชั่นเงินและสิ่งของเยียวยาก็จะตกเป็นเป้าถูกทำร้าย แต่มุมมองของชาวบังกลาเทศ ภาวะขาดแคลนอาหารและไมีมีรายได้เลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัวจึงน่ากลัวยิ่งกว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 6 พ.ค. มีข่าวดีที่ฟังแล้วช่วยทำให้การรับมือกับโรคโควิด-19 ของบังกลาเทศพอจะมีความหวังขึ้นมาบ้าง เมื่อบริษัทยารายใหญ่แห่งหนึ่งในบังกลาเทศบอกว่า จะเริ่มผลิตเรมเดซิเวียร์ ยาที่อยู่ระหว่างการทดลองว่าอาจใช้รักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 โดยได้รับการยกเว้นจากเรื่องสิทธิบัตรในฐานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุด
รับบูร์ เรซา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ (ซีโอโอ) บริษัทเบ็กซิมโก ฟาร์มาซูติคัล บอกว่า จะเริ่มผลิตเรมเดซิเวียร์ในเดือน พ.ค. โดยเป็นยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ตั้งราคาไว้ที่ 5,000-6,000 ตากา ต่อยาหนึ่งขวดเล็ก ซึ่งผู้ป่วยหนึ่งคนอาจต้องฉีดยา 5-11 ขวด ยังไม่ทราบปริมาณที่แน่ชัดจนกว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จ และบริษัทหวังว่ารัฐบาลจะเข้ามาช่วยอุดหนุนราคายาบางส่วน และการผลิตในช่วงแรกจะใช้สำหรับผู้ป่วยในประเทศก่อน
ส่วนเรื่องสิทธิบัตรยาเป็นของบริษัทกิเลียด ไซแอนซ์ในสหรัฐ ซึ่งมีสิทธิผลิตแต่เพียงผู้เดียว ซีโอโอเบ็กซิมโก บอกว่า ระเบียบการค้าโลกอนุญาตให้ประเทศที่สหประชาชาติจัดให้เป็นประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ซึ่งรวมถึงบังกลาเทศ สามารถผลิตได้โดยไม่ถือว่าละเมิดสิทธิบัตร เพื่อให้คนในประเทศสามารถเข้าถึงยา นอกจากนี้ ยังผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศพัฒนาน้อยที่สุดอื่น ๆ ได้ด้วย
ขณะนี้มีประเทศในยุโรปบางประเทศแสดงความจำนงขอนำเข้า บริษัทสามารถยื่นขอให้รัฐบาลอนุญาตให้ส่งออกเป็นกรณีฉุกเฉิน แต่เป้าหมายแรกคือต้องการผลิตให้คนในประเทศก่อนซึ่งเจ้าหน้าที่กำกับดูแลยาของบังกลาเทศ เปิดเผยว่า รัฐบาลอนุญาตให้บริษัทยาในประเทศอีก 7 แห่งผลิตยาเรมเดซิเวียร์เช่นเดียวกัน เพื่อใช้ในประเทศเป็นอันดับแรก หลังจากนั้นจึงจะพิจารณาเรื่องส่งออก
ส่วนอุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของบังกลาเทศ ล่าสุด โรงงานสิ่งทอในบังกลาเทศหลายแห่งเริ่มเปิดดำเนินการตั้งแต่ปลายเดือนมี.ค. โดยผู้จำหน่ายบางรายแจ้งว่า ร้านเสื้อผ้าขอให้เร่งผลิตตามคำสั่งส่งออกที่ค้างอยู่ แม้ว่าร้านเสื้อผ้าใหญ่ระดับโลกหลายแห่งจะยกเลิกหรือระงับคำสั่งซื้อจำนวนมหาศาลไปแล้วเพราะโควิด-19
โฆษกสมาคมผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้าบังกลาเทศ ระบุว่า ต้องอยู่ให้ได้ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ระบาดเพราะหากไม่เปิดโรงงานจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ โรงงานหลายแห่งถูกกดดันจากร้านเสื้อผ้าให้เร่งผลิตให้ทันเส้นตายการส่งออก เพราะเกรงว่าลูกค้าจะหนีไปยังประเทศคู่แข่งอย่างจีนและเวียดนามแทน
ทั้งนี้ บังกลาเทศมีประชากร 168 ล้านคน ในจำนวนนี้กว่า 4 ล้านคนทำงานในโรงงานสิ่งทอที่มีหลายพันแห่งทั่วประเทศ เมื่อปีที่แล้ว ยอดส่งออกเสื้อผ้าของบังกลาเทศมีมูลค่ารวม 35,000 ล้านดอลลาร์ มากเป็นอันดับสองของโลกรองจากจีน โรงงานหลายร้อยแห่งในย่านนิคมอุตสาหกรรมในเขตกาซิปูร์และเขตอาชูเลีย ชานกรุงธากา เริ่มเปิดดำเนินการอีกครั้ง
ตำรวจท้องถิ่น คาดการณ์ว่า เฉพาะเขตอาชูเลียแห่งเดียวมีคนกลับมาทำงานมากถึง 200,000 คน โดยคนงานชายคนหนึ่ง ยอมรับว่า กลัวติดโรคโควิด-19 แต่ต้องกลับมาทำงานเพื่อแลกกับรายได้เดือนละ 115 ดอลลาร์
เพื่อรับมือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นายกรัฐมนตรีฮาซีนาของบังกลาเทศ ประกาศมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบมูลค่า 11,600 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมีสัดส่วนเท่ากับ 3.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) โดยเน้นช่วยเหลือบรรดาผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าเพื่อส่งออก และภาคเกษตรกรรม รวมทั้งสร้างเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคม
แต่การเยียวยาของรัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าไม่ได้ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมากของประเทศ เช่น ไม่ได้เน้นให้ความช่วยเหลือด้านอาหาร และเยียวยาบริษัทขาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) รวมทั้ง ไม่ได้มีมาตรการสนับสนุนระบบดูแลสุขภาพในประเทศให้ดีขึ้น
ในปีงบประมาณปี 2562 เศรษฐกิจของบังกลาเทศขยายตัว 8.15% และเป็นหนึ่งในประเทศที่เก็บภาษีน้อยที่สุดในเอเชีย ซึ่งรายได้จากการเก็บภาษีเมื่อเทียบกับจีดีพีของบังกลาเทศลดลงเหลือ 8.5% จาก 10% ในปี 2559 และในช่วง 9 เดือนนับจนถึงเดือน มี.ค. บังกลาเทศจัดเก็บรายได้ได้เพียง 19,000 ล้านดอลลาร์ ต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ที่ 26,000 ล้านดอลลาร์
นี่คือโจทย์ใหญ่ที่ถือว่าท้าทายความสามารถและทดสอบความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรีฮาซีนาโดยตรง