‘ดูแลสุขภาพใจ’ เมื่อต้องอยู่ร่วมกับไวรัส
ตอนนี้ ทั้งโลกกำลังรอวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อจากไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ (โควิด-19) ถ้ามีเมื่อใดเท่ากับว่าทุกประเทศจะเปิดเศรษฐกิจและเปิดพรมแดนได้เต็มรูปแบบ แถมใครผลิตวัคซีนได้ย่อมทำเงินอย่างมหาศาล
แต่องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) เตือนว่า ไวรัสโคโรนาอาจไม่หายไปไหน ผู้คนต้องเรียนรู้ในการใช้ชีวิตอยู่กับไวรัส
ไมเคิล ไรอัน ผู้อำนวยการโครงการสาธารณสุขฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก ระบุในการแถลงข่าวที่นครเจนีวา เมื่อวันพุธ (13 พ.ค.) “เรามีไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่เข้าสู่ประชากรมนุษย์เป็นครั้งแรก เพราะฉะนั้น มันจึงยากมากๆ ที่จะคาดเดาว่าเมื่อไหร่ที่เราจะมีชัยชนะเหนือมัน บางทีไวรัสอาจกลายเป็นอีกหนึ่งไวรัสประจำถิ่นในชุมชนของเราและไวรัสนี้อาจไม่มีวันหายไป เอชไอวีก็ไม่เคยหายไป แต่เราจำเป็นต้องอยู่ร่วมกับมัน”
ไรอันกล่าวด้วยว่าภารกิจการรับมือกับไวรัสโคโรนานั้นไม่ง่าย แม้จะค้นพบวัคซีนแต่สุดท้ายก็ต้องอาศัยความพยายามอย่างมหาศาล โดยความยากนั้นราวกับการปล่อยจรวดขึ้นสู่ดวงจันทร์เลยทีเดียว
เมื่อพูดถึงวัคซีน สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ขณะนี้ทั่วโลกมีการพัฒนาวัคซีนแล้วกว่า 100 ตัว หลายที่เริ่มขั้นตอนการทดลองแล้ว แต่ผู้เชี่ยวชาญต่างยอมรับกันว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะพบวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะสู้กับไวรัสโคโรนาได้
จากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของดับเบิลยูเอชโอ หันมาดูตัวเลขผู้ติดเชื้อทั่วโลก ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยจอห์นส ฮอปกินส์ เมื่อเย็นวานนี้ (14 พ.ค.) ยอดผู้ติดเชื้อจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ทั่วโลกอยู่ที่กว่า 4.4 ล้านคน และเสียชีวิตเกือบ 300,000 คน
นอกจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสร้างความเสียหายให้กับโลกมากมายมหาศาลแล้ว สหประชาชาติยังเตือนด้วยว่า อาจทำให้เกิดวิกฤติสุขภาพจิตโลกครั้งใหญ่อีกด้วย จึงเรียกร้องให้มีปฏิบัติการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาด้านจิตวิทยาที่มากับการแพร่ระบาด
อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แถลงวานนี้ว่า ในช่วงเดือนแรกๆ ของวิกฤติโรคระบาด ทั่วโลกมัวแต่ปกป้องสุขภาพกาย แต่ประชากรโลกมากมายต้องเผชิญความตึงเครียดอย่างใหญ่หลวงด้วย
“หลังจากบริการดูแลสุขภาพจิตถูกละเลยและลงทุนน้อยมานานหลายสิบปี ตอนนี้โควิด-19 กำลังสร้างความเครียดให้กับครอบครัวและชุมชน ต่อให้ควบคุมโรคระบาดได้แล้ว ความวิตกกังวล เคร่งเครียดและซึมเศร้าจะยังส่งผลต่อผู้คนและชุมชนอย่างต่อเนื่อง”
ยูเอ็นเน้นย้ำเรื่องความตึงเครียดที่ประชาชนวิตกว่า คนที่ตนรักอาจติดเชื้อหรือเสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ รวมถึงผลกระทบต่อจิตใจต่อประชาชนจำนวนมหาศาลที่สูญเสียหรือเสี่ยงสูญเสียการใช้ชีวิตแบบเดิมๆ ต้องพลัดพรากจากบุคคลที่รัก หรือประสบความยากลำบากจากคำสั่งล็อกดาวน์อย่างเข้มงวด
“เรารู้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันที่มีทั้งความกลัว ความไม่แน่นอน เศรษฐกิจผันผวน ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสาเหตุของความเครียด” เดโวรา เคสเทล ผู้อำนวยการแผนกสุขภาพจิตและการใช้สารเสพติดของดับเบิลยูเอชโอกล่าวและว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและบุคลากรด่านหน้า ที่ทำงานภายใต้ความกดดันมากมาย เป็นกลุ่มเสี่ยงมาก เห็นได้จากรายงานข่าวหลายชิ้นระบุว่าการฆ่าตัวตายในหมู่บุคลากรทางการแพทย์เพิ่มสูงขึ้น
ไม่เพียงเท่านั้นคนกลุ่มอื่นๆ ยังเผชิญปัญหาด้านสุขภาพจิตที่มาพร้อมกับวิกฤติครั้งนี้ด้วย เช่น เด็กๆ ที่ไม่ได้ไปโรงเรียนต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและความเครียด ผู้หญิงที่ต้องเจอกับการถูกล่วงละเมิดในครอบครัวเมื่อผู้คนใช้ชีวิตในบ้านมากขึ้น
คนชราและคนที่มีโรคประจำตัว ที่ถูกมองว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อไวรัส ยิ่งเครียดไปกว่าเดิม เช่นเดียวกับคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตอยู่ก่อน ประกอบการการรักษาตามปกติที่ต้องใช้วิธีการพบหน้าค่าตาอาจทำไม่ได้เหมือนเดิมอีกต่อไป
การบรรยายสรุปของยูเอ็นอ้างถึงผลการศึกษาระดับชาติมากมายที่ชี้ว่า ความทุกข์ใจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การศึกษาชิ้นหนึ่งทำในภูมิภาคอัมฮาราของเอธิโอเปียพบว่า ประชากร 33% กำลังระทมทุกข์จากอาการที่เกี่ยวข้องกับความซึมเศร้า ตัวเลขเพิ่มขึ้น 3 เท่าจากช่วงก่อนระบาด
งานอีกชิ้นหนึ่งพบว่า ความชุกของความทุกข์ใจช่วงวิกฤติในอิหร่านสูงถึง 60% ในสหรัฐ 45%
นอกจากนี้เคสเทลยังกล่าวถึงงานศึกษาชิ้นหนึ่งของแคนาดาที่พบว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเกือบครึ่งบอกว่า พวกเขาต้องการกำลังใจ
ด้วยเหตุนี้ ยูเอ็นจึงเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่การรับมือไวรัสระบาดในทุกมิติของนานาประเทศจะต้องรวมการสนับสนุนทางจิตใจและการดูแลสุขภาพจิตฉุกเฉินเข้าไว้ด้วย และขอให้เพิ่มการลงทุนด้านนี้อย่างมีนัยสำคัญ ถ้าดูจากตัวเลขก่อนเกิดวิกฤติไวรัสระบาด ประเทศต่างๆ ลงทุนไปกับการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตเฉลี่ยเพียง 2% ของงบประมาณสาธารณสุขเท่านั้น