หวั่นแรงงานตอนต้น ตกงานเพิ่มหลังยุคโควิด-19
ภาพรวมของตลาดแรงงานไทยพึ่งพาแรงงานทักษะต่ำ/ผลิตภาพไม่สูงในสัดส่วน มีความไม่สอดคล้องกันของระดับการศึกษา การผลิตปริญญาตรีสัดส่วนสูงแต่ตลาดต้องการสายอาชีพ นักวิชาการ หวั่นแรงงานตอนต้น เสี่ยงตกงานหลังโควิด-19 สูง
โดยในปี 2562 มีผู้ที่มีงานทำ 37.5 ล้านคน และมีผู้ว่างงาน 371,480 คน ซึ่งผู้ว่างงาน 43% จบปริญญาตรี ส่งผลให้แรงงานตอนต้นอายุ 15-29 ปี เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการตกงานค่อนข้างสูง และเมื่อเกิดโควิด-19 ยิ่งสร้างผลกระทบให้แก่คนวัยแรงงานมากขึ้น ยิ่งทำให้เข้าสู่ตลาดแรงงานยากมากขึ้น และทักษะที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอในการทำงาน
แรงงานไทยขาดทักษะความรู้ในการทำงาน
ดร.เสาวณี จันทะพงษ์ นักวิชาการฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย และนักวิจัยเครือข่าย CU-Collar กล่าวในงานสัมมนา“ตลาดแรงงานไทยหลังยุค COVID-19: การปรับตัวเพื่อความอยู่รอดและยั่งยืน” นำเสนอผลกระทบของวิกฤต COVID-19 ที่มีต่อตลาดแรงงานของวัยแรงงานตอนต้น จัดโดยสถาบันวิจัยสังคมและศูนย์ประสานงานวิจัยแรงงานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จุฬาฯ ตอนหนึ่งว่าภาพรวมของแรงงานในประเทศไทย จะแบ่งเป็นแรงงานในระบบ ประมาณ 17.10 ล้านคน หรือ 45% และแรงงานนอกระบบ 21.20 ล้านคน หรือ 55% ซึ่งแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่จะมีรายได้น้อยและไม่ได้รับการคุ้มครองทางสังคม ในจำนวนแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร พนักงานบริการ ผู้ปฏิบัติงานทางฝีมือ และอาชีพพื้นฐาน
ขณะที่การผลิตบัณฑิต STEM ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี คณิตศาสตร์ ที่คิดค้นทางนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงาน และแรงงานในตลาดมีทักษะต่ำกว่าที่นายจ้างต้องการ โดยเฉพาะทักษะความรู้ที่ใช้ในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นด้านกฎระเบียบ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ธุรกิจ วิชาชีพ และเกี่ยวกับองค์กร รวมถึงทักษะทางปัญญาและการทำงาน อย่างภาษาต่างประเทศ การใช้คอมพิวเตอร์ คณิตศาสตร์และการคำนวณ และเฉพาะในวิชาชีพ
ชงปรับตัว เปลี่ยนแปลง ปฎิรูปแรงงานตอนต้น
“จากการศึกษาของILO พบว่า แรงงงานตอนต้น อายุ 15-24 ปี ในกลุ่ม EU ทำงานกระจุกอยู่ในสาขาที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด 19 มากกว่าแรงงานผู้ใหญ่ 25-64 ปี เช่นเดียวกับกรณีในประเทศไทย มีความคล้ายคลึงกัน นั่นคือ คนที่อายุน้อย ทำงานในสาขาที่มีความเสี่ยง อีกทั้งมาตรการของภาครัฐ โดยเฉพาะการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล ทำให้แรงงานในเมืองมีรายได้ลดลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายยังส่ง จึงตัดสินใจกลับบ้านเกิดเพื่อความอยู่รอด แต่บางคนก็ปรับตัว เช่น เปลี่ยนจากพนักงานขับรถรับจ้างเป็นรับส่งอาหารแทน และหยุดงานไม่ได้”ดร.เสาวณี กล่าว
อย่างไรก็ตาม ต่อให้มีมาตรการเยียวยาครัวเรือน เติมCash ลด Cost และเสริม Credit แต่ยังต้องปรับตัวแรงงานตอนต้นและแรงงานไทยทุกช่วงวัย โดยเร่งยกระดับทักษะแรงงานซึ่งเป็นโจทย์ ในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก ควรขยายบทบาทและออกแบบหลักสูตร ที่ยืดหยุ่นตอบสนองต่อรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป เน้นการใช้ทักษะทางเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับงาน และเปลี่ยนแปลง ลดช่องว่างทักษะ เชื่อมทักษะแรงงานที่ต้องการในอนาคตกับระบบการศึกษาไทยให้มากขึ้น
เน้นทักษะการคิดวิเคราะห์ การคิดเชิงนวัตกรรม ทักษะเทคโนโลยีและภาษาต่างประเทศ รวมถึงควรเร่งปฎิรูป โดยการจัดตั้งศูนย์วิจัย ฝึกอบรมแห่งชาติด้านการพัฒนาทักษะแรงงานที่มีข้อมูลด้านแรงงานระดับชาติ การฝึกอบรม เพื่อใช้วางยุทธศาสตร์การพัฒนาทักษะแรงงาน สร้างกลไกการวางแผนร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ และสร้างกลไกความร่วมมือไตรภาคี ระหว่างรัฐ นายจ้าง และแรงงาน รวมกันผลักดันกลไกการคุ้มครองทางสังคมแก่แรงงานทุกกลุ่ม และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
“ล็อกดาวน์” กระทบตกงานอย่างรุนแรง
ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมของไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจในประเทศได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ในพื้นที่เศรษฐกิจ ห้างร้านต่างๆ ต้องปิดตัว กระทบต่อการตกงานอย่างรุนแรง ซึ่งจากการประเมินมีผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ไม่มีงานทําจากวิกฤตโควิด-19 ประมาณ 9.523 ล้านคนสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ภาพรวมของตลาดแรงงาน ณ มี.ค. 2563 มีผู้มีงานทํา ประมาณ 37.33 ล้านคน (จากกําลังแรงงาน 38.21 ล้านคน) ประกอบด้วยแรงงานในภาคเอกชนมีสัดส่วน ประมาณร้อยละ 58 ประกอบด้วยแรงงานในระบบภาคเอกชน (ประกันสังคม ม.33) ประมาณ 11.65 ล้านคน ในจํานวนนี้มายื่นขอเงิน ชดเชยประกันสังคมประมาณ 1.1 ล้านคน และแรงงานเอกชนและแรงงานอิสระนอกระบบรวมกันประมาณ 10.13 ล้านคน
แรงงานกลุ่มนี้รัฐบาลให้การเยียวยา 5,000 บาท เป็นเวลาสามเดือนแต่ผู้ที่ผ่านการคัดกรองสามารถใช้สิทธิ์มีมากถึง 16 ล้านคนแสดงให้เห็นว่าแรงงานนอกระบบของไทยจําเป็นที่จะต้องมีการทบทวนตัวเลขให้ชัดเจน
“เรามีแรงงานที่อยู่ในการค้า และบริการที่สูง ซึ่งเมื่อเกิดโควิด-19 ทำให้กระทบทุกภาคส่วน ยิ่งในส่วนของแรงงานตอนต้น อายุ 15-29 ปี สถานประกอบการต้องการอย่างมาก แต่คนจบปริญญาตรีจำนวนมากตกงาน เพราะเรียนไม่ตรงกับสาขาที่ต้องการและไม่ตรงกับสาขา ดังนั้น ถึงเราจะมีความต้องการแรงงานตอนต้นอยู่”ธนิต กล่าว
ความท้าทายว่าหลังโควิด-19 เด็กเหล่านี้จะไปหางานจากที่ไหน เนื่องจากความต้องการของตลาดแรงงานจะไม่เหมือนเดิม จะมีการลดขนาดขององค์กร การใช้คนลดลงใช้เทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น และลดจำนวนแรงงานในสถานประกอบการเป็นทางเดินของธุรกิจที่เป็น New Normal นอกจากนั้น ภัยคุมคามการจ้างงานจากการเร่งของเทคโนโลยีก้าวหน้าในรูปแบบต่างๆ ภูมิทัศน์ตลาดแรงงานจะเปลี่ยนไป นายจ้างจะคัดกรองคนที่กลับเข้ามาทำงาน ในตลาดแรงงาน ของบริบทของ New Normal แรงงานต้องปรับทัศนคติใหม่ด้วยการทำงานตัวเองให้มีคุณค่าต่อองค์กร
แนวโน้มตลาดแรงงานผ่อนคลายมาตรการเฟส2
จิตรพงศ์ พุ่มสะอาด ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร สาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่าผลกระทบของวิกฤตที่มีผลต่อการจ้างงานของกลุ่มวัยแรงงานตอนต้นที่กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงาน และกลุ่มที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ EEC พบว่าจากมาตรการต่างๆ ส่งผลให้ความต้องการแรงงาน/จ้างงานลดลง แรงงานเดิมได้รับผลกระทบอย่างมาก มีลูกจ้างจำนวนหนึ่งถูกให้หยุดงาน เลิกจ้าง และไม่มีงานใหม่ที่ดีเท่าเดิมรองรับ แรงงานใหม่ไม่ได้รับการจ้างงาน หรือเข้าสู่การเป็นแรงงานในระบบ วัยแรงงานตอนต้นเข้าสู่อาชีพฟรีแลนซ์ รับจ้าง เป็นผู้ประกอบรายย่อย ทำธุรกิจออนไลน์มากขึ้นและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ส่วนใหญ่ยังไม่มีความแน่นอนทางด้านรายได้
แนวโน้มหลังคลายมาตรการ การผลิตเริ่มฟื้นตัวกลับมา ยอดสั่งซื้อเริ่มมีมากขึ้น โดยแรงงานเดิมมีโอกาสกลับเข้าสู่การจ้างงาน แรงงานที่มีทักษะฝีมือ ประสบการณ์จะได้รับการพิจารณาให้กลับเข้าสู่การจ้างงาน ส่วนแรงงานกลุ่มท่องเที่ยว บริการ ที่พัก งานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจบันเทิง กลางคืน แหล่งท่องเที่ยวสังสรรค์ และอื่นๆ ได้รับผลกระทบมาก จึงยังน่าจะใช้เวลาอีกพอสมควรจึงจะฟื้นตัว ขณะที่แรงงานกึ่งฝีมือและไร้ฝีมือ จะเป็นที่ต้องการน้อยกว่าเดิม และการติดต่อทางระบบออนไลน์ ส่งผลให้เกิดการลดการจ้างงาน และเร่งให้เกิดการใช้ระบบอัตโนมัติ และไอทีในระยะต่อไป
เปิดสาขา/ทักษะแรงงานยุคหลังโควิด-19
จิตรพงศ์ กล่าวต่อว่าสำหรับสาขาและทักษะที่จำเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในอนาคตจะไม่เปลี่ยนแปลง แต่โควิด-19 จะเร่งให้เกิดการใช้เครื่องมือ เครื่องจักรระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ ดิจิทัล และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่ทดแทนการใช้คนทั้งในระดับภูมิภาค ชุมชนเร็วกว่าเดิม และสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับด้านดิจิทัล และวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม โลจิสติกส์ อาหาร ยังเติบโตต่อไป ส่วนทักษะที่จำเป็น จะเป็นทักษะด้านดิจิทัล IT ภาษา และทักษะด้านอารมณ์และสังคม ที่จำเป็นต่อการวิจัย พัฒนา สร้างนวัตกรรม และทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ทักษะอุตสาหกรรม ทักษะอาชีพด้านพาณิชย์ และความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย
ส่วนแนวทางการปรับตัวของแรงงานตอนต้น เน้นการเรียนรู้ตลอดเวลา สร้างเสริมทักษะใหม่ๆ อัพเดทและพัฒนาตัวเองแบบ informal และ Non formal ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ดิจิทัล ออนไลน์ เพื่อสร้างรายได้และสร้างงาน วัยแรงงานตอนต้นยุคใหม่ต้องมีทักษะที่หลากหลาย และลดต้นทุนของตนเองด้านการครองชีพแต่เพิ่มการลงทุนด้านความรู้ แสวงหาโอกาสใหม่ๆ
“จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อวัยแรงงานตอนต้น เพราะสถานศึกษา/สถาบันฝึกอบรมจะมุ่งเน้นการป้องกันโรค การแก้ไขปัญหา การกักตัว ทำให้การมาอบรมเกิดอุปสรรคและทำให้ยาก ยิ่งมีชวงล็อกดาวน์ส่งผลให้การเรียนรู้และพัฒนาทักษะเกิดความต่อเนื่อง ที่สำคัญต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดเดิม และการเรียนออนไลน์ไม่สามารถตอบสนองได้อย่างมีประสิทธิ์ภาพ ดังนั้น สถาบันมหาวิทยาลัยควรลดค่าเทอม ค่าลงทะเบียน ต้นทุนที่ไม่จำเป็น พัฒนาครู ผู้สอนยุคใหม่ และให้ภาคเอกชนเข้ามานำประสบการณ์จริงมาสอน และเร่งให้เด็กที่มีความพร้อมในการประกอบอาชีพเข้าสู่การจ้างงานอย่างรวดเร็ว”จิตรพงศ์ กล่าว