เร่ง 'รีแบรนด์' เที่ยวไทย ฟื้นรายได้หลังโควิด-19
กระทรวงท่องเที่ยว เดินหน้า “Amazing Trusted Thailand” รีแบรนด์ท่องเที่ยวไทย ยึดเป้ารายได้รวมท่องเที่ยวปี 63 ที่ 1.23 ล้านล้านบาท “พิพัฒน์” สั่ง “ททท.” ลุยแผนฟื้นฟูระยะที่ 2 ท่องเที่ยวอย่างจำกัด ทำประชาคมสอบถามความยินยอมคนในพื้นที่ท่องเที่ยวเป้าหมาย เบื้องต้นอาจเป็นเกาะ
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า วานนี้ (18 พ.ค.) ได้ประชุมร่วมกับนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา และนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการ ททท. เพื่อกำหนดเป้าหมายแผนฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ก่อนรวบรวมเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
“ทาง รมว.การท่องเที่ยวฯสั่งการในที่ประชุมว่าให้ยึดเป้าหมายรายได้รวมท่องเที่ยวปี 2563 ที่ 1.23 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศ 8.28 แสนล้านบาท จากเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติ 14-16 ล้านคน ใกล้เคียงกับคาดการณ์ของ สศช.ซึ่งอยู่ที่ 13-16 ล้านคน ส่วนตลาดในประเทศตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 4.02 แสนล้านบาท จากเป้านักท่องเที่ยวไทยไม่ต่ำกว่า 100 ล้านคน-ครั้ง แม้อำนาจซื้อของคนในประเทศจะยังน่าเป็นห่วงหลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่คาดว่าน่าจะสามารถชิงกำลังซื้อส่วนหนึ่งจากตลาดไทยเที่ยวนอกได้ เนื่องจากคนไทยไม่สามารถเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศได้ในช่วงนี้”
ทั้งนี้นายพิพัฒน์ ยังได้มอบหมายให้ ททท.ดำเนินแผนฟื้นฟูตามนโยบาย “Amazing Trusted Thailand” หรือ “ประเทศไทยที่คุณวางใจ” เพื่อให้ภาคท่องเที่ยวไทยกลับมาอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน พร้อมถือโอกาสนี้รีแบรนด์ภาพลักษณ์ท่องเที่ยวไทยไปในตัว ผ่านจุดขาย 3 เรื่อง ได้แก่ ความปลอดภัย โดยเฉพาะเรื่องระบบสาธารณสุขและการจัดการที่มีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับ, ความคุ้นเคย ทั้งเรื่องอาหารและวัฒนธรรมที่โดดเด่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และความสวยงามของธรรมชาติและผู้คน ซึ่งเป็นจุดขายที่ต้องรักษาไว้
สำหรับแผนฟื้นฟู 3 ระยะ แบ่งเป็น ระยะที่ 1Lockdown Exitเป็นระยะที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการควบคุมให้สามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้บ้าง แต่ยังมีข้อจำกัดในการเดินทาง การเคลื่อนย้ายผู้คน และสถานที่ชุมนุม โดยในระยะนี้จะมุ่งเตรียมความพร้อมเรื่องบุคลากร ซ่อมสร้างอุปทานเพื่อปรับตัวสู่การท่องเที่ยววิถีใหม่ (นิวนอร์มอล) ยกระดับคุณภาพสินค้าและบริการ ปรับภาพลักษณ์ เน้นการทำตลาดแบบนุ่มนวล (Soft-sell)ให้ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวคนไทยและต่างชาติยังนึกถึงเสมอ
ระยะที่ 2Selective Open เปิดเมืองเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยวอย่างจำกัด ไม่เกิน 60%ของพื้นที่ที่อนุญาตให้เดินทาง การเคลื่อนย้ายของผู้คน และสถานที่ชุมนุม ให้ความสำคัญกับการเที่ยวภายในประเทศเป็นอันดับแรก อย่างไรก็ดีอาจอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติบางประเทศที่มีการควบคุมโรคได้ดีแล้วเดินทางเข้ามาเที่ยวในไทยได้ อยู่ภายใต้การควบคุมเพื่อความปลอดภัยและป้องกันการระบาดซ้ำ
โดยรูปแบบการเดินทางท่องเที่ยวที่เป็นไปได้ หากมีการอนุญาตให้การเดินทางท่องเที่ยวและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ โดยความยินยอมของประชาคมในพื้นที่ และเป็นไปตามแนวทางการเฝ้าระวังและสอบสวนโรคโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อย่างเคร่งครัด
“ททท.จะพิจารณาเลือกพื้นที่ปลอดโควิด (Covid-Free Area) จากนั้นจะเข้าไปสร้างความเข้าใจแก่คนในพื้นที่ท่องเที่ยวเป้าหมาย เบื้องต้นอาจจะเลือกเป็นพื้นที่เกาะก่อน พร้อมทำประชาคมหรือสอบถามความคิดเห็นจากคนในพื้นที่ก่อน คาดเริ่มดำเนินแผนระยะที่ 2 ในเดือน มิ.ย.นี้ เพื่อเตรียมความพร้อมในเชิงพื้นที่ ลดความเกลียดกลัวชาวต่างชาติจากการเปิดประเทศ พร้อมสร้างความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าน่าจะเริ่มกลับมาเที่ยวไทยในเดือน ต.ค.นี้ ”
ขณะที่ระยะที่ 3Extensive Openเปิดเมืองเปิดประเทศสู่ความยั่งยืน ภายใต้นิวนอร์มอล กระตุ้นไทยเที่ยวไทยด้วยรูปแบบการเดินทางท่องเที่ยวที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและบริการที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง เน้นตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติระดับบนด้วยภาพลักษณ์ประเทศไทยในฐานะจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก