เปิดบทบาท 'เควิน เมเยอร์' จากผู้บริหาร 'Disney' สู่ซีอีโอ 'TikTok'
“ติ๊กต๊อก” (TikTok) แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียแบบคลิปวิดีโอสั้นยอดนิยม ดึงบุคลากรมือฉมังข้ามค่าย ด้วยการแต่งตั้งอดีตผู้บริหารของ “ดิสนีย์” ยักษ์ใหญ่ความบันเทิงของสหรัฐ นั่งเป็นซีอีโอคนใหม่ มีผลเดือนหน้า
เมื่อวันจันทร์ (18 พ.ค.) ติ๊กต๊อก แถลงว่า เควิน เมเยอร์ อดีตหัวหน้าฝ่ายสตรีมมิงของบริษัทวอลท์ ดิสนีย์ จะมานั่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) คนใหม่ของติ๊กต๊อก ควบตำแหน่งหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (ซีโอโอ) ของไบต์แดนซ์ (ByteDance) บริษัทแม่สัญชาติจีนของติ๊กต๊อก มีผลวันที่ 1 มิ.ย.นี้
คำประกาศดังกล่าวส่งผลให้ราคาหุ้นของดิสนีย์ร่วงเกือบ 1% ในช่วงหลายชั่วโมงหลังเปิดซื้อขายในวันจันทร์ ก่อนปิดตลาดที่บวก 7.15%
การดึงตัวผู้บริหารข้ามค่ายระหว่าง 2 บริษัทใหญ่นี้ ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญสำหรับติ๊กต๊อก โดยเมเยอร์เคยเป็นหนึ่งในตัวเต็งอันดับต้น ๆ ที่จะนั่งเก้าอี้ซีอีโอดิสนีย์แทน บ็อบ ไอเกอร์ แต่สุดท้ายดิสนีย์แต่งตั้ง บ็อบ ชาเพ็ค เป็นซีอีโอคนใหม่แทน
- คว้าโอกาสทอง
เมเยอร์ วัย 58 ปี เปิดใจกับซีเอ็นบีซีเกี่ยวกับการเปลี่ยนงานใหม่ว่า เขาไม่ได้มีปัญหาอะไรกับการถูกเมินในตำแหน่งซีอีโอดิสนีย์ แต่มองว่าการย้ายไปเป็นซีอีโอของติ๊กต๊อกถือเป็นโอกาสที่ดี
“ผมสนุกกับงานของผม ผมชื่นชมบ็อบ ชาเพ็คและความเป็นบริษัทที่เหลือเชื่อของดิสนีย์” เมเยอร์เผย “เมื่อมีโอกาสแบบนี้ คุณไม่อาจปฏิเสธได้ ผมอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ และนี่ก็เป็นโอกาสที่ดี แต่ผมก็รักดิสนีย์และไม่เคยต้องการจากที่นี่เลย”
ก่อนหน้านี้ เมเยอร์ประสบความสำเร็จกับการเปิดตัวแพลตฟอร์มสตรีมมิง “ดิสนีย์ พลัส” (Disney+) ซึ่งเริ่มให้บริการเมื่อเดือน พ.ย. 2562 และนับถึงวันที่ 4 พ.ค. ที่ผ่านมา บริการนี้มีสมาชิกแล้ว 54.5 ล้านราย
- บทบาทใหม่กับติ๊กต๊อก
สำหรับบทบาทใหม่ของเมเยอร์จะรวมไปถึงการบริหารติ๊กต๊อกและการพัฒนาระดับโลกของไบต์แดนซ์ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในกรุงปักกิ่ง โดยเขาจะมีหน้าที่รายงานผลการดำเนินงานโดยตรงต่อ อี้หมิง จาง ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของไบต์แดนซ์
“ประสบการณ์อันล้นเหลือของเมเยอร์ในการสร้างธุรกิจระดับโลกให้ประสบความสำเร็จ ทำให้เขาเป็นคนที่ใช่สำหรับภารกิจของเราในการสร้างแรงบันดาลใจด้านความคิดสร้างสรรค์ให้ผู้ใช้งานทั่วโลก” จางระบุในแถลงการณ์
ไบต์แดนซ์เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มติ๊กต๊อก ซึ่งให้ผู้ใช้ถ่ายคลิปที่มีลูกเล่นต่าง ๆ ความยาว 15-60 วินาที เพื่อโชว์ความสามารถในการเต้นและทำคอนเทนท์ขำขันเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน
“เซ็นเซอร์ทาวเวอร์” บริษัทวิจัยของสหรัฐ เผยว่า นับตั้งแต่เปิดตัวในปี 2560 ติ๊กต๊อกมียอดดาวน์โหลดแล้วกว่า 2,000 ล้านครั้ง โดยมีฐานผู้ใช้กลุ่มใหญ่อยู่ในอินเดีย สหรัฐ อินโดนีเซีย และอีกหลายประเทศ
ทั้งนี้ ติ๊กต๊อกเป็นแพลตฟอร์มเวอร์ชั่นต่างประเทศนอกจีนแผ่นดินใหญ่ ส่วนแพลตฟอร์มที่ให้บริการในจีนใช้ชื่อว่า “โต่วอิน” (Douyin)
ขณะเดียวกัน ในช่วงล็อคดาวน์สกัดโรคโควิด-19 แพลตฟอร์มนี้ซึ่งเดิมเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นอยู่แล้ว ยังได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้ใหญ่ที่หาทางคลายเครียดและฆ่าเวลาช่วงกักตัวอยู่ในบ้าน
ข้อมูลของเซ็นเซอร์ทาวเวอร์ระบุว่า เฉพาะในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ติ๊กต๊อกมียอดดาวน์โหลดทั่วโลกอยู่ที่ 65 ล้านครั้ง