'คาซ่า ลาแปง' รุกฟู้ดทรัค ร้านย่อยชุมชนชดเชยรายได้
คาซ่า ลาแปง พลิกกลยุทธ์ชดเชยรายได้ 11 สาขาในห้าง รับห้างปิดรายได้หดจาก 8-9 ล้านบาทต่อเดือน เหลือ 2-3 ล้านบาท รุกจับมือพันธมิตรเปิดร้านย่อยในชุมชน นำร่อง 3 สาขาสแตนอโลน รุกฟู้ดทรัค เล็งถกห้างปรับค่าเช่าคงที่ เป็นคิดตามยอดขาย
นายเติมพงศ์ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีนส์แอนด์บราวน์ จำกัด เจ้าของร้านกาแฟแบรนด์ “คาซ่า ลาแปง” (Casa Lapin) เปิดเผยถึงกลยุทธ์การปรับตัวหลังจากที่ต้องปิดสาขาในห้างสรรพสินค้า ซึ่งมีสาขาอยู่ในห้าง 11 แห่ง ตามคำสั่งรัฐ จึงเปิดบริการได้เฉพาะสาขานอกห้าง 5 แห่ง เพื่อต้องการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโรค หลังจากปิดร้านกาแฟไปกว่า 1 เดือนครึ่งทำให้ได้รับผลกระทบยอดขายหายไปกว่า 70% จาก 8-9 ล้านบาทต่อเดือน เหลือ 2-3 ล้านบาท แม้จะชดเชยด้วยการส่งดิลิเวอรี่ก็ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากสาขาที่ทำเงินหลักอยู่ในห้างสรรพสินค้า
ทั้งนี้กลุ่มธุรกิจต้องปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์ กฎระเบียบข้อบังคับการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ 2019(โควิด-19)ที่ส่งผลทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ภายใต้การเว้นระยะห่างทางสังคมการเข้าห้างจากที่เคยเป็นช่องทางหลักการใช้ชีวิตอยู่บ้านมากขึ้น กลยุทธ์แรกคือการพัฒนาสินค้าที่ส่งตามบ้าน(ดิลิเวอรี่) มากขึ้นทั้งเครื่องดื่มกาแฟ และขยายไลน์การผลิตมาเป็นข้าวกล่องส่งให้กับอาคารสำนักงานที่สั่งเข้ามา
นอกจากนี้ ยังใช้กลยุทธ์เพิ่มช่องทางการขายเข้าหาชุมชน ลูกค้าตามบ้าน โดยเปิดร้านสาขาในชุมชนที่เป็นร้านสแตนอโลนนอกห้าง แต่อยู่ในแหล่งชุมชน เพื่อรับกับพฤติกรรมคนชอบอยู่บ้านมากขึ้น โดยเข้าไปเป็นพันธมิตรกับร้านเครื่องดื่มที่ยังไม่มีกาแฟ ใช้แบรนด์คาซ่า ลาแปง ไปติดในร้านพร้อมกับส่งวัตถุดิบ และกาแฟ ซึ่งเริ่มดำเนินการนำร่องแล้ว 3 แห่ง ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ประกอบด้วย นางลิ้นจี่ พระราม3, อารีย์ ร่วมกับร้านเพ็ทคลับ สาขาเดอะ พรอมานาด แฟชั่นไอส์แลนด์ ถือเป็นร้านขายอาหารและผลิตภัณฑ์สำสำหรับสัตว์เลี้ยงที่สแตนอโลนอยู่ติดกับห้างฯ และมีแผนจะขยายเพิ่มอีก 6 สาขา รวมเป็น 10 สาขา เพื่อเพิ่มช่องทางเข้าถึงผู้บริโภค ในชุมชน
อีกทั้งยังพัฒนาฟู้ดทรัค ร้านกาแฟเคลื่อนที่ซึ่งได้ร่วมกับพันธมิตร บริษัทแสนสิริ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ที่จัดร้านอาหารและกาแฟ เครื่องดื่ม เคลื่อนที่บนรถฟู้ด ทรัค ไปให้บริการลูกค้าตามบ้าน เนื่องมาจากพฤติกรรมที่คนกังวลการแพร่เชื้อหาต้องออกจากบ้าน จึงต้องป้องกันการแพร่ระบาดด้วยการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกไปบริการให้กับลูกบ้าน ซึ่งนำร่องไปแล้ว 1 คันวางเป้าหมาย 5 คัน โดยประมาณการว่าจะสามารถสร้างยอดขายได้ไม่ต่ำกว่า 2 แสนบาทต่อคันต่อเดือน ถือเป็นการปรับตัวให้สอดรับกับความต้องการของลูกค้า ในเครือแสนสิริ ที่มีหลายทำเล
“ในวิกฤติโควิดทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปจากเดินห้างเป็นหลักก็กลับกันอยู่บ้านมากขึ้น เราจึงต้องเข้าไปหาลูกค้าตามชุมชน หมู่บ้าน เพื่อให้คนเข้าถึงได้ง่าย แทนที่จะนั่งรอลูกค้ามาหาในห้างสรรพสินค้า”
เขายังกล่าวต่อว่า มีแผนพัฒนาสินค้าในรูปแบบง่ายเพื่อการขนส่งภายใต้แบรนด์คาซ่า ลาแปงทั้งกาแฟในรูปขวด และอาหารเมนูต่างๆ ซึ่งถือเป็นการบริหารจัดการวัตถุดิบ และการบริหารพนักงานในสาขาที่ปิดตัวไป เป็นการขยายโอกาสการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ที่ไม่ใช่เพียงในร้าน
สำหรับวิธีการบริหารจัดการธุรกิจภายใต้ภาวะวิกฤติสิ่งสำคัญคือต้องใช้จุดแข็งของธุรกิจสร้างมูลค่าช่วยเสริมสภาพคล่อง เพื่อชดเชยกับธุรกิจเสียโอกาสไป ซึ่งจุดแข็งของคาซ่า ลาแปง อยู่ที่แบรนด์ และรสชาติของกาแฟระดับพรีเมี่ยม ที่จะสามารถทำสดใหม่ เสิร์ฟไปให้ลูกค้าได้วันต่อวัน ที่สามารถพัฒนามาเป็นจุดขายเดลิเวอรี่
สำหรับ 11 สาขาในห้างสรรพสินค้า อยู่ระหว่างเตรียมหารือกับเจ้าของห้างสรรพสินค้าขอให้มีการปรับโมเดลการเช่าใหม่จากเดิมค่าเช่าคงที่ตามพื้นที่ต่อเดือน เปลี่ยนเป็นแบ่งปันจากยอดขายหรือรายได้ (Sharing profit or revenue)จากเดิมกำหนดสัดส่วนไว้ที่ 20-30%ให้ลดเหลือ 10%เพื่อรับกับการปรับชีวิตไปสู่ภาวะปกติใหม่ (New Normal) ที่จะเปิดห้างในเร็วๆ นี้ ต้องยอมรับว่า จำนวนคนจมาเดินห้างจะไม่แน่นเหมือนเช่นเมื่อก่อน ยอดขายจึงน่าจะหายไป ซึ่งอย่างน้อยควรจะใช้เกณฑ์นี้ไปถึงมี.ค.ปี 2564 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดระลอก2 และระลอก3
สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจที่วางเป้าหมายจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2564 เมื่อมีวิกฤติโควิด-19 ส่งผลทำให้เป้าหมายยอดขายหายไปกว่า 60-70% จึงอาจส่งผลกระทบต่อเป้าหมายธุรกิจที่วางไว้ จนอาจจะทำให้ต้องเลื่อนการเข้าตลาดหลักทรัพย์ไปเป็นปี 2565