เครือข่ายภาคประชาชนเรียกร้องรัฐตั้งบอร์ดบริหารไฟป่าและหมอกควันทั้งระบบ
ดึงท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา
สภาลมหายใจเชียงใหม่ จัดแถลงข่าวก่อนการประชุมถอดบทเรียนการจัดการไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือโดยภาครัฐและการตรวจเยี่ยมของรองนายกรัฐมนตรี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในวันพฤหัสบดีที่จะถึงนี้ โดย นายบัณรส บัวคลี่ ผู้ประสานงานสภาฯ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันที่ผ่านมาในปีนี้ถือได้ว่า mission ล้มเหลว ซึ่งผลกระทบจากปัญหาที่เกิดขึ้นสูงมาก รวมทั้งมูลค่าทางเศรษฐกิจ อาทิ ในจังหวัดเชียงใหม่ ธุรกิจ long stay ได้รับผลกระทบมาก เป็นต้น
“สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ความไม่ตรงไปตรงมา เวลาเจ้านายมา ก็รายงานว่าแก้ไขถูกต้องแล้ว ซึ่งมันเป็นเดิมพันของจังหวัดเชียงใหม่ ภาคเหนือ หรือทั้งประเทศเลย เราไม่ได้ต้องการเห็นความล้มเหลว เพราะถ้าหน่วยงานล้มเหลวเราก็ล้มเหลวไปด้วย เราต้องการชนะในปีที่ 15 ที่เผชิญปัญหามา”
บัณรสกล่าวว่า ทางเครือข่ายมีข้อเสนอในการทำงานใหม่ และให้รัฐทิ้งวิธีการที่ไม่ได้ผล สร้างความร่วมมือกับท้องถิ่นในการแก้ปัญหา โดยรัฐช่วยอำนวยการผ่านบอร์ดหรือกรรมการบริหารจัดการปัญหาทั้งระบบที่ตั้งขึ้นมาใหม่
“ความร่วมมือระดับจังหวัดมี แต่ไม่พอ เพราะอำนาจส่วนใหญ่อยู่ที่ส่วนกลาง ผู้มีอำนาจต้องเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงต้องอำนวยการให้เกิดผล เช่น อากาศสะอาด ที่ต้องมี กก. ส่วนกลางเร่งรัดให้ เร่งทำกม. หรือการปลดล๊อคให้ อปท.มีส่วนร่วม”
ในการพูดคุยกับหน่วยงานหลักในการแก้ปัญหารวมทั้งกรมป่าไม้ที่ป่านมาในเบื้องต้น การบริหารจัดการไฟป่าจะแยกออกเป็นสองแทรคในอนาคต คือแทรคระดับชาติ ที่เป็นการยกระดับศักยภาพของหน่วยงานและเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ และในระดับท้องถิ่นที่อยู่นอกเหนือจากการดูแลของหน่วยงาน โดยมี อปท.เป็นตัวขับเคลื่อน อาทิ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ในพื้นที่จำนวน 13ล้านไร่ หน่วยงานมีศักยภาพดูแลเพียง 2-3ล้านไร่ ในขณะที่อีกกว่า 80% ไม่มีผู้ดูแล แม้จะมีความพยายามโอนถ่ายภารกิจไปให้ อปท. แต่ติดขัดปัญหาด้านงบประมาณและอำนาจในการบริหารจัดการในพื้นที่
คุณวิทยา ครองทรัพย์ หนึ่งในตัวแทนของสภาฯ จากสภาหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ทางสภาหอการค้าฯ เคยยื่นหนังสือถึงรองนายกสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ให้มี กม.อากาศสะอาด เพื่อมากำกับดูแลการจัดการมลพิษทางอากาศ เพราะอยากให้มีบริหารปัญหาทั้งระบบ ขณะนี้ ร่างกม.อยู่ในสภา และเครือข่ายกำลังระดมชื่อสนับสนุน ซึ่งคงใช้เวลาพอสมควร
ในระหว่างนี้ จึงอยากให้ตั้งบอร์ดอากาศสะอาดระหว่างรอ กม. ซึ่งคล้ายกับ กก. บริหารน้ำ
“อากาศมันสำคัญกว่าน้ำอีก เรามีปัญหาวนกันเกือบทั้งปีในแต่ละภาค เลยต้องการแก้ทั้งระบบ” วิทยากล่าว
ทั้งนี่ ทางสภาฯ ได้ออกแถลงการณ์โดยกล่าวว่า เนื่องในโอกาสที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบการแก้ปัญหามลพิษฝุ่นละออง pm2.5 เดินทางมาจังหวัดเชียงใหม่เพื่อปลูกต้นไม้และรับฟังการถอดบทเรียนปฏิบัติการแก้ปัญหา
ของจังหวัดเชียงใหม่ สภาลมหายใจเชียงใหม่ในฐานะองค์กรประชาสังคมที่รณรงค์เคลื่อนไหวเพื่ออากาศสะอาดขอนำเรียนผ่าน พล.อ.ประวิตร ไปยังคณะรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาว่า นับแต่คณะรัฐมนตรี ได้นำปัญหามลพิษอากาศภาคเหนือ เข้าสู่การพิจารณาแก้ไข เมื่อ พ.ศ. 2550 จนบัดนี้กำลังจะย่างเข้าสู่ปีที่ 15 ที่มีการนำปัญหาเข้าสู่การพิจารณาแก้ไขในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่อง
แต่ผลก็คือ แทบไม่มีความก้าวหน้า มลพิษอากาศฝุ่นควันยังเกินมาตรฐานต่อเนื่องเกิดผลกระทบอย่างรุนแรง
“สถิติทุกประการบ่งบอกว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงล้มเหลวในการแก้ปัญหานี้ แม้จะมีการประกาศวาระแห่งชาติไปเมื่อเดือนตุลาคม 2562 ดังนั้นสภาลมหายใจเชียงใหม่ จึงไม่เห็นด้วย ที่จะมีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ใดๆ ของภาครัฐที่ทำให้สังคมคล้อยตามว่ามาตรการของรัฐประสบความสำเร็จ” สภาฯ ระบุ
สภาฯ กล่าวว่า เวลา 14 ปีของความล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นบทเรียน ดังนั้น มาตรการแก้ปัญหาที่จะมาถึงในอีก 8 เดือนข้างหน้า ไม่ควรจะย่ำซ้ำรอยเดิม
สภาลมหายใจเชียงใหม่ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลระดมความคิดถอดบทเรียนความล้มเหลวที่ผ่านมาอย่างจริงจัง รับฟังความเห็นแตกต่างของภาคส่วนอื่นที่ไม่ใช่หน่วยราชการ ทบทวนกระบวนทัศน์และแนวคิดของการแก้ปัญหา รัฐบาลต้องแสดงความกล้าหาญในการตัดสินใจอย่างมีเจตจำนงทางการเมือง (Political Will) เพื่อแก้ปัญหานี้ให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด
“หลักการใหญ่ของการแก้ปัญหานี้อยู่ที่รัฐต้องเปิดกว้างระดมสรรพกำลังทุกศักยภาพในสังคมโดยเฉพาะชุมชนและท้องถิ่น ให้มีส่วนร่วมคิดร่วมทำ บนฐานความเข้าใจกันและกัน ตามหลักการ “เข้าถึง เข้าใจ พัฒนา”” สภาฯ ระบุ
สภาฯ จึงขอให้มีคณะทำงานระดับชาติที่มีอำนาจเต็ม บูรณาการและสั่งการเพื่อแก้ปัญหาจริงจังตลอดทั้งปี ไม่ใช่แค่ช่วงฤดูร้อนระยะไม่กี่เดือนอย่างที่เคย ในช่วงเวลา 8 เดือนจากนี้
ขอให้รัฐบาลจัดเตรียมทรัพยากร งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ และแก้ไขข้อขัดข้องให้แล้วเสร็จก่อนฤดูมลพิษฝุ่นควัน พร้อมกันนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถือเป็นกลไกที่ใกล้ชิดกับชุมชน รับรู้และเข้าใจปัญหาที่สุด แต่ที่ผ่านมากลับแทบไม่มีบทบาทในกระบวนการแก้ไข ขอให้รัฐบาลเร่งรัดดำเนินการให้หน่วยงานระดับท้องถิ่นและชุมชนได้มีบทบาทหลัก เพื่อประสานความเข้าใจความต้องการข้อปัญหาอุปสรรคของชุมชนและท้องถิ่น เข้าสู่กระบวนการออกแบบการแก้ปัญหาแต่เนิ่นๆ สภาฯกล่าว