หุ้นอาหารกำไรสวนเศรษฐกิจ ปักธงยอดขาย-ตุนเงินสด
การประกาศผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2563 ได้ทยอยออกมาหลายบริษัท ซึ่งภาพรวมตัวเลขกำไรที่ออกมาเห็นการปรับตัวลดลงอย่างชัดเจน แม้ว่าผลกระทบจากโควิด-19 จะไม่เต็มไตรมาส เพราะผลจากการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวทั่วประเทศเกิดในช่วงปลายมี.ค.
ตัวเลขไตรมาส 1ที่ออกมาเบื้องต้นจากจำนวน 113 บริษัท มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 78,700 ล้านบาท ยังเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าคาดการณ์จะอยู่ที่ 1 แสนล้านบาท และในจำนวนนี้มี 45 บริษัท ที่มีผลการดำเนินงานออกมาดีกว่าคาด
โดยมี 41 บริษัทที่ผลการดำเนินงานออกมาแย่กว่าที่คาด และ 27 บริษัท ออกมาตามที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลทำให้ตลาดมองถึงการปรับประมาณการณ์กำไรปีนี้ลงทั้งตลาด เพราะในช่วงไตรมาส 2 ยังต้องเจอกับตัวเลขติดลบเพิ่มมากขึ้น และน่าจะเป็นจุดต่ำสุดของหลายบริษัท
กลุ่มที่กระทบหนักหนีไม่พ้นกลุ่มท่องเที่ยว ทั้งโรงแรม สายการบิน ร้านอาหาร และศูนย์การค้า ภาพดังกล่าวมีมุมสวนทางกัน คือกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร กลายเป็นกลุ่มที่โชว์ผลการดำเนินงานไตรมาส 1ปี 2563 ออกมาเติบโตสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจ
ช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 จะได้รับผลกระทบไม่แตกต่างจากธุรกิจอื่น แต่ตลอดทั้งปีบรรดาผู้บริหารธุรกิจในกลุ่มนี้ยังปักเป้ายอดขายตามเดิม พร้อมปรับกลยุทธ์รับกับการดำเนินธุรกิจภายใต้การใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ หรือ New Normal
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF รายงานกำไร 6,110 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นตัวเลขทำสถิติสูงสุดใรอบ 10 ปี และสูงกว่าค่าเฉลี่ยกำไรอยู่ที่ประมาณ 4,000 ล้านบาท ต่อไตรมาส และจากกำไรดังกล่าวยังคิดเป็น 40 % ของการประมาณกำไรทั้งปีที่โบรกเกอร์ที่ระดับ 19,000 ล้านบาท
การเติบโตของกำไรงวดดังกล่าวมาจากราคาเนื้อหมูที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเวียดนาม และต้นทุนเลี้ยงสัตว์ลดลง ส่งผลทำให้กำไรขั้นต้น (GMP ) ธุรกิจฟาร์ม และอาหารทะเลในประเทศ อยู่ที่ 15.4 % 10.6 % ตามลำดับ ส่วนธุรกิจฟาร์ม และอาหารทะเลในต่างประเทศอยู่ที่ 20.4 % % และ 17.1 % ตามลำดับ
บริษัทไม่ปรับเป้าการขายแม้ไตรมาส 2 รับว่ามีผลกระทบ โดยคาดว่าทั้งปียังเติบโต 8-10 % และตั้งเป้ารายได้แตะ 8 แสนล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้า (2566) แต่ปรับงบลงทุนปีนี้เหลือ 20,000 ล้านบาทจาก 25,000 ล้านบาท เพื่อสงวนสภาพคล่อง
กลุ่มส่งออกไก่และหมูมีบริษัท ไทยฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFG มีธุรกิจใกล้เคียงกับ CPF มีธุรกิจไก่ 69.55 % สุกร 19.94 % อาหารสัตว์ 10.03% และอื่น 0.48 % และมีการส่งออกไปต่างประเทศ มีกำไรอยู่ที่ 641 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 214 %
ทั้งปี 2563 บริษัทยังมองการเติบโตต่อเนื่อง 5-8% แต่เป็นการปรับลดจากเป้าหมายเดิมที่มองไว้ 10% มีผลกระทบจากตลาดยุโรป แต่ได้ปัจจัยบวกจากความต้องการในตลาดจีนเพิ่มจนสามารถส่งออกได้จีนในปีนี้ที่ 12,000 ตัน ต่อปี จาก 5,000 ตันต่อปี
ขณะที่สามารถทำอัตราทำกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 12.3% จาก 10.2% ตามราคาไก่เพิ่มขึ้นและมาร์จิ้นจากสุกรชำแหละที่ดีกว่าสุกรเป็น ประกอบกับต้นทุนอาหารสัตว์ทั้งข้าวโพดและกากถั่วเหลืองที่ลดลง ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อยอดขายลดลงเช่นกัน
ส่วนบริษัทจีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) หรือ GFPT ไม่ได้ประกอบธุรกิจเนื้อหมู แต่เน้นที่เนื้อไก่ และธุรกิจฟาร์ม ทำกำไรในงวดดังกล่าว 324 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42.73 % มาจากการรายการส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการส่งออกไก่แปรรูปเพิ่มขึ้น
และบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU กลุ่มธุรกิจอาหารแปรรูปเพื่อส่งออกของไทยด้วยแบรนด์สินค้าในถึง 15 แบนด์ ซึ่งรู้จักกันดีในไทย เช่น ซีเล็คทูน่า ฟิชโช่ เป็นต้น มีการลงทุนในตลาดสหรัฐ ยุโรป และเอเชียแปซิฟิค รายงานกำไร 1,016 ล้านบาท ลดลง 20 % ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน
โดยลดลงจากผลขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน และส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม จากคำสั่งปิดร้านอาหารในสหรัฐ สวนทางกับยอดขายอาหารทะเลแปรรูปที่เพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาค ทั้งนี้ยังคงเป้าเติบโต 3-5 % แต่ลดการลงทุนทั่วโลกในปีนี้ลง 25 % เพื่อรักษาสภาพคล่องในมือรองรับกับความเสี่ยงในอนาคต