ทส.เตรียมหารือโอนถ่ายอำนาจดูแลไฟป่าให้ท้องถิ่น
ถกยกเลิก zero burning ปรับการเผาแบบควบคุมตามจริงในพื้นที่
วันนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสรุปผลและถอดบทเรียน (After Action Review : AAR) การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ปี 2563 ในระหว่างวันที่ 19-21 พฤษภาคม 2563 ณ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
ทั้งนี้ เพื่อระดมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และร่วมถอดบทเรียนผลการดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรค และแนวทางการแก้ไขปัญหาจากภาคเอกชน ประชาชน จิตอาสา NGOs และนักวิชาการในทุกด้านทุกมุมมอง เพื่อนำมาสรุปและกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือที่เหมาะสมและยั่งยืนต่อไปในอนาคต
ในวันนี้ซึ่งเป็นวันแรกของการประชุมโดยมีนายพงศ์บุณย์ ปองทอง รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน (ส่วนหน้า) และนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมฯ การประชุมกลุ่มย่อย ที่ 1 ในส่วนของเจ้าหน้าที่ ทส. ได้มีการหารือถึงสาเหตุของปัญหา ปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะการทำงาน โดยเฉพาะประเด็นหลัก ดังนี้
1. การถ่ายโอนภารกิจการควบคุมไฟป่าให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ยังไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องให้ทส. หารือกับกระทรวงมหาดไทยและคณะกรรมการกระจายอำนาจ เพื่อหาแนวทางให้การถ่ายโอนภารกิจ มีผลบังคับใช้ และเกิดผลในทางปฏิบัติ
2. การจัดการเชื้อเพลิงที่ไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามช่วงเวลาและยังไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งที่ประชุมเห็นควรให้เร่งจัดการเชื้อเพลิงก่อนเข้าช่วงสถานการณ์หมอกควัน โดยไม่นำเอาจุดความร้อน (Hotspot) มาเป็นตัวชี้วัด ทั้งนี้ เมื่อเข้าช่วงหมอกควัน ให้จัดระเบียบการเผา ดำเนินการเผาแบบควบคุมโดยไม่ให้ฝุ่นละอองสูงจนเกินเกณฑ์มาตรฐาน และให้จังหวัดพิจารณาการใช้มาตรการขอความร่วมมือให้ประชาชนจัดการเชื้อเพลิงภายใต้การควบคุมตามที่ภาครัฐกำหนด โดยไม่ต้องกำหนดช่วงห้ามเผา
3. เพื่อความถูกต้องในการวิเคราะห์ข้อมูล ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์ และกรมป่าไม้ จัดส่งขอบเขตพื้นที่เกษตรกรรมในป่าให้ GISTDA ในการประมวลผลข้อมูลพื้นที่ที่เกิดจุดความร้อน ซึ่งจะช่วยให้การกำหนดแผนงานในการบริหารจัดการมีความถูกต้องและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ส่วนในช่วงบ่ายเป็นการประชุมกลุ่มย่อย ที่ 2 ในส่วนของภาคประชาชน เห็นพ้องให้มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำแผนและดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาร่วมกับภาครัฐ อีกทั้งให้มีการบูรณาการการดำเนินงานให้เชื่อมโยงกันทุกระบบและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนให้มีการบริหารจัดการเชิงพื้นที่เป็นหลัก
จากสถานการณ์จุดความร้อน (Hotspot) ในภาพรวมทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 - 14 พฤษภาคม 2563 (ข้อมูลจากดาวเทียมระบบVIRS ) พบจุด Hotspot 216,964 จุด โดยร้อยละ 62% อยู่ในเขตป่าไม้ (132,486 จุด) และร้อยละ 38% อยู่นอกเขตป่าไม้ (84,478 จุด)
ส่วนสถานการณ์จุด Hotspot ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ พบจุด Hotspot สะสมจำนวน 35,712 จุด เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 3,702 จุด
ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ พบจุด Hotspot สะสมจำนวน 46,580 จุด เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 4,035 จุด