เปิดวงเงิน - มาตรการเศรษฐกิจสู้ ‘โควิด’ ประเทศไหนใช้งบประมาณเท่าไหร่?
การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ “โควิด-19” ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของหลายประเทศจากการปิดกิจการ ล็อคดาวน์ ชั่วคราวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ส่งผลให้มีคนตกงานเกิดภาวะการว่างงานในวงกว้าง ทำให้รัฐบาลแต่ละประเทศต้องออกมาตรการเพื่อใช้พยุงเศรษฐกิจ
สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รวบรวมมาตรการด้านเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศต่างๆรวมถึงเม็ดเงินงบประมาณที่ใช้ในแต่ละประเทศ “กรุงเทพธุรกิจ” สรุปสาระสำคัญดังนี้
1. สหรัฐฯ รัฐบาลกลางออกมาตรการทางการคลัง มูลค่า 3 ล้านล้านดอลลาร์ (14% ของจีดีพี) โดยใช้เป็นวงเงินในเรื่องชดเชยการว่างงาน การคืนภาษีและพักชำระหนี้ งบประมาณด้านสาธารณสุข เงินช่วยเหลือภาคเอกชนจากการลดการเลิกจ้างงาน (Paycheck Protection Program) ส่วนมาตรการทางการเงินและการช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ออกมาตรการลดดอกเบี้ยนโยบายลง 1.5% เหลือ 0 - 0.25% รวมทั้งมาตรการ QE พันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้โดยไม่จำกัดวงเงิน การเพิ่มสถาพคล่องให้กับสถาบันการเงิน การจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการออกตราสารหนี้ การปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีเพื่อเสริมสภาพคล่อง เป็นต้น
2. จีน รัฐบาลได้ออกมาตรการด้านการคลังมูลค่า 2.6 ล้านล้านหยวน (2.5% ของจีดีพี) และการเพิ่มเพดานการก่อหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่น เช่น การเพิ่มงบประมาณสำหรับการรับมือกับภัยพิบัติ การผลิตและซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ ลดภาษีสำหรับประชาชนและภาคธุรกิจ รวมถึงลดเงินสมทบที่ต้องจ่ายเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญ การผ่อนคลายเพดานหนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่นในกรณีที่ช่วยเหลือประชาชนด้านที่อยู่อาศัย
ส่วนมาตรการทางการเงินและการเสริมสถาพคล่อง ธนาคารกลางจีน ดำเนินการในเรื่องลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากส่วนเกิน อัตราเงินกู้ระยะกลางที่กำหนดกลุ่มเป้าหมาย และเสริมสภาพคล่องให้กับเอสเอ็มอี เป็นต้น
3. อิตาลี รัฐบาลออกมาตรการทางการคลังมูลค่า 2.5 หมื่นล้านยูโร (1.4% ของจีดีพี) เพื่อใช้ช่วยเหลือลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบคนละ 600 ยูโร (voucher for seasonal worker) มาตรการช่วยเหลือบริษัที่ถูกปิดการดำเนินการโดยการจ่ายเงินเดือนให้พนักงาน และจ่ายชดเชยให้กับพนักงานที่หยุดงานเพื่อดูแลลูกซึ่งโรงเรียนปิด มาตรการค้ำประกันสินเชื่อมูลค่า 4 แสนล้านยูโร (คิดเป็น 25% ของจีดีพี)
ส่วนมาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องและการช่วยเหลือด้านการเงิน ผ่านธนาคารกลางของยุโรป (ECB) ดำเนินการมาาตรการสำคัญเช่นเพิ่มสภาพคล่องสินเชื่อระยะยาว ปรับเพิ่มมาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ โดยไม่จำกัดวงเงิน และมาตรการการเข้าซื้อสินทรัพย์ในการค้ำประกันเพื่อขอกู้เงินกับ ECB เพื่อรองรับการถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ และการลดภาระหนี้กลุ่ม non - maketable 20%
4. เยอรมนี ใช้มาตรการการคลังมูลค่า 1.56 แสนล้านยูโร (4.9% ของจีดีพี) เช่น เงินช่วยเหลือภาคเอกชนเพื่อป้องกันการเลิกจ้าง เพิ่มเงินช่วยเหลือค่าเลี้ยงดูบุตร สำหรับผู้มีรายได้น้อย รวมถึงเงินช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการอิสระ เงินช่วยเหลือสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมูลค่ารวม 5 หมื่นล้านยูโร ให้เงินช่วยเหลือรัฐบาลท้องถิ่น 4.8 หมื่นล้านยูโร และเงินกู้สำหรับรัฐบาลท้องถิ่น 7.3 หมื่นล้านยูโร การค้ำประกันสินเชื่อ 7.57 แสนล้านยูโร (25%) ของจีดีพี และให้การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับเอสเอ็มอี 7.57 แสนล้านดอลลาร์
5. สหราชอาณาจักร ใช้มาตรการด้านการคลังมูลค่า 4.87 หมื่นล้านปอนด์ (2.2% ของจีดีพี) เช่น การให้เงินสนับสนุนผู้ประกอบการค้าปลีกและกลุ่มท่องเที่ยวและร้านอาหาร การยกเว้นภาษีให้กับผู้ประกอบกิจการที่ได้รับผลกระทบในปีภาษี 2563 - 2564 มาตรการช่วยเหลือประชาชนและลูกจ้าง 7000 ล้านปอนด์ มาตรการจ่ายเงินชดเชยให้กับเอสเอ็มอี เป็นต้น ส่วนมาตรการทางการเงินและการช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.65% เหลือ 0.1% ,มาตรการเพิ่มสภาพคล่องมูลค่า 3.3 แสนล้านปอนด์ (15%ของจีดีพี) เพิ่มการถือครองทรัพย์สินของธนาคารกลางในพันธบัตร 2 แสนล้านปอนด์
6. ญี่ปุ่น มาตรการทางการคลังมูลค่า 117 ล้านล้านเยน คิดเป็น (21.1% ของจีดีพี) เช่นมาตรการป้องกันการแพร่ะราด ช่วยเหลือภาคธุรกิจและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจำนวน 300,000 เยนต่อครัวเรือน และเงินช่วยเหลือบุตรเพิ่มเติมอีก 10,000 เยนต่อบุตร 1 คน เงินอุดหนุนแก่ภาคธุรกิจและงานช่วยเหลือการหยุดงาน
ส่วนมาตการทางการเงินการช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง โดยการเพิ่มวงเงินเข้าซื้อกองทุน Exchange Trade Funds(ETFs) และJapan-Real Estare Investment Trust มาตรการควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เข้าซื้อพันธบัตรญี่ปุ่นโดยไม่กำหนดวงเงินเท่าที่จำเป็น จัดสรรสินเชื่อปลอดดอกเบี้ยสำหรับเอกชน 23 ล้านล้านเยน (4.5% ของจีดีพี)
และ 7.ประเทศเกาหลีใต้ อนุมัติมาตรการด้านการคลังมูลค่า 219 ล้านล้านวอน (11.4% ของจีดีพี) โดยอุดหนุนผู้ประกอบการรายย่อยเพื่อจ่ายเงินเดือนให้แก่ลูกจ้าง ลดภาษีรายได้ ได้แก่ ผู้ให้เช่าที่เพื่อการพาณิชย์ในอัตรา 50% ภายในครึ่งปี 2563 ยกเว้นภาษีให้แก่ธุรกิจขนาดเล็ก การช่วยเหลือผู้ที่ต้องกักตัวจากการแพร่ระบาดโดยให้เงินเพื่อใช้จ่าน บัตรกำนัลเพื่อช่วยเหลือครอบครัวผู้มีรายได้น้อย
ส่วนมาตรการทางการเงินและการช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง ได้แก่ ลดดอกเบี้ยลง 0.5% เหลือ 0.75% การเข้าซื้อสินทรัพย์โดยวงเงินจำกัดได้เพิ่มขอบเขตครอบคลุมถึงตราสารหนี้ของภาคเอกชนที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน รวมทั้งมีมาตรการเพื่อการรักษาเสถียรภาพภาคการเงินมูลค่า 100 ล้านล้านวอน (5.3% ของจีดีพี)
สำหรับในส่วนของประเทศไทยมีการใช้วงเงินในการพยุงเศรษฐกิจประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท จาก พ.ร.ก.ให้กระทรวงการคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และพ.ร.ก.ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธ.ป.ท.) ออกมาในส่วนของมาตรการเพิ่มวงเงินกู้ให้กับธนาคารพาณิชย์ 5 แสนล้านบาท และตั้งกองทุนเพื่อรับซื้อหุ้นกู้คุณภาพดี วงเงิน 4 แสนล้านบาท รวมทั้งมาตรการอื่นๆ โดยคิดเป็นประมาณ 10% ของจีดีพี
โดยหลังจากนี้ต้องดูว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นหรือไม่ หากยังกดดันภาวะเศรษฐกิจรัฐบาลประเทศต่างๆก็จำเป็นต้องออกมาตรการเศรษฐกิจออกมาเพิ่มเติมเพื่อพยุงเศรษฐกิจในประเทศแม้อาจจะต้องมีการก่อหนี้เพิ่มเติมจนเป็นภาระกับการคลังในอนาคตก็ตาม