สั่งการเขตพื้นที่ทุกแห่งสำรวจบ้านนร.รายบุคคล แก้เรียนออนไลน์
สพฐ.มอบเขตพื้นที่สำรวจบ้านนร.รายบุคคล ระบุ 3วัน ปัญหาส่วนใหญ่ไม่สามารถปรับจูนช่องทีวีได้ ประสานกระทรวงดีอีเอส เร่งแจกกล่องรับสัญญาณ 2 ล้านกล่องให้แก่บ้านนักเรียนที่ไม่มีกล่องรับสัญญาณ ส่วนเนื้อหาช่วยมูลนิธิฯ ปรับแก้ไขแล้ว
วันนี้ (20 พ.ค.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ประชุมมอบนโยบายผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนท์ให้แก่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) จำนวน 225 เขตเรื่องการจัดการศึกษาระบบการศึกษาทางไกลผ่านโทรทัศน์ดิจิทัลและระบบออนไลน์
ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวภายหลังการประชุมว่า สพฐ. ได้เริ่มทดสอบระบบการจัดการเรียนการสอนผ่านทีวีและออนไลน์แล้วตั้งแต่วันที่ 18พ.ค.-30 มิ.ย.ดังนั้นขอให้เขตพื้นที่ทุกแห่งได้ลงพื้นที่ติดตามและสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้ปกครองและนักเรียนถึงการเรียนผ่านระบบนี้ด้วย โดยจะต้องลงไปสำรวจเด็กเป็นรายบุคคลและรายโรงเรียนว่าปัญหาจากการทดสอบระบบเหล่านี้มีอะไรบ้าง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขให้มีความสมบูรณ์ต่อไป
จากการทดสอบระบบการเรียนผ่านทีวีตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค.จนถึงวันนี้เป็นวันที่ 3 แล้วซึ่งปัญหาส่วนใหญ่ที่พบคือ บ้านนักเรียนไม่สามารถปรับจูนช่องทีวีให้รับสื่อการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม หรือ DLTV ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ได้
โดยในการแก้ปัญหาดังกล่าว สพฐ.ได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในการจัดหาแจกกล่องรับสัญญาณดิจิทัลจำนวน 2 ล้านกล่องให้แก่บ้านนักเรียนที่ไม่มีกล่องรับสัญญาณ
ส่วนเนื้อหาการเรียนการสอนจากสื่อ DLTV ที่มีข้อผิดพลาดนั้น ได้ประสานมูลนิธิฯเพื่อปรับแก้ไขให้หลักสูตรมีความเชื่อมต่อกันมากขึ้นแล้ว นอกจากนี้ สพฐ.จะจัดครูภาษาอังกฤษจากโครงการศูนย์อบรมครูภาษาอังกฤษระดับภูมิภาค (Regional English Training Centres) หรือที่รู้จักกันในนามโครงการ Bootcampเข้ามาช่วยเสริมกับครูผู้สอนจากมูลนิธิฯ
"ขอย้ำให้สังคมรับทราบเป็นแนวทางเดียวกันว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในการเปิดภาคเรียนโรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติและนักเรียนได้เรียนกับครูในห้องเรียน ซึ่งการทดสอบระบบต่างๆเหล่านี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับโรคระบาดหากยังไม่พ้นวิกฤตเท่านั้น อีกทั้งเป็นการเตรียมปูพื้นฐานให้เด็กก่อนเปิดภาคเรียนใหม่ โดยจะไม่มีการประเมินหรือวัดผลนักเรียนใดๆทั้งสิ้น"เลขาธิการกพฐ.กล่าว
ทั้งนี้ สำหรับการทดสอบระบการเรียนผ่านทีวีและระบบออนไลน์ สพฐ.จะมีการประเมินระบบ 3 รอบ แบ่งเป็นรอบการประเมินในวันที่ 30 พ.ค. รอบกลางเดือนมิ.ย. และรอบวันที่ 30 มิ.ย. เพื่อดูความพร้อมทั้งหมด ซึ่งเชื่อมั่นว่าหากเปิดเรียนในวันที่ 1 ก.ค.สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่พ้นวิกฤตและโรงเรียนในกลุ่มจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อยังมีตัวเลขสูงอยู่ก็จะมีความพร้อมสามารถจัดการเรียนการสอนผ่านทีวีและระบบออนไลน์ได้