เปิดร่างหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุ 'ครูผู้ช่วย' หลัง ก.ค.ศ. ไฟเขียว
สอบครูต้องรู้! เปิดร่างหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุ "ครูผู้ช่วย" หลัง ก.ค.ศ. ไฟเขียว
ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 4/2563 ที่มี นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันพุธที่ 20 พฤษภาคม 2563 ที่ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย
รมว.ศธ. กล่าวว่า ร่างหลักเกณฑ์และวิธีการนี้ ก.ค.ศ. ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2563 ได้มีมติเห็นชอบหลักการของหลักเกณฑ์ที่จะให้มีการปรับหลักสูตรให้มีการวัดทักษะด้านภาษา ทักษะด้านดิจิทัล และความสามารถด้านการสอน และการให้สถานศึกษามีส่วนร่วมในการคัดเลือกครู ซึ่งจะทำให้ได้ครูที่มีความสามารถในการสอน มีทักษะที่เหมาะสมในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา
โดยได้ปรับหลักสูตรการสอบภาค ก ให้สอดคล้องกับการสอบภาค ก ของสำนักงาน ก.พ. การสอบภาค ข ใช้แนวการสอบเทียบเคียงการสอบตามมาตรฐานวิชาชีพของคุรุสภา และการประเมิน ภาค ค ใช้วิธีการสอบสัมภาษณ์เพื่อประเมินความเหมาะสมกับตำแหน่ง วิชาชีพ และการทดสอบการปฏิบัติการสอน และให้สำนักงาน ก.ค.ศ. เพิ่มเติมรายละเอียดและตรวจสอบความถูกต้องของหลักเกณฑ์และวิธีการฯ โดยรอบคอบ
ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้ดำเนินการประชุมหารือกับส่วนราชการอีกครั้งหนึ่ง และพบว่าวิธีการประเมิน ภาค ค คือ การกำหนดให้มีการประเมินภาค ค ทุกครั้งเมื่อมีตำแหน่งว่าง อาจทำให้ไม่สามารถได้ครูมาปฏิบัติการสอนได้ทันตามความต้องการของสถานศึกษา ทั้งยังเป็นการเพิ่มขั้นตอนในการดำเนินการสอบ และต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก หากต้องมีการประเมินภาค ค ทุกครั้งที่มีตำแหน่งว่าง
ที่ประชุมจึงเห็นชอบร่วมกันให้มีการปรับปรุงสาระสำคัญของหลักเกณฑ์ฯ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
ให้ผู้สมัครสอบแข่งขันแจ้งระดับการศึกษา และระดับชั้น ไว้ในใบสมัครสอบ เพื่อให้โอกาสในการเตรียมความพร้อมในการสอบสาธิตปฏิบัติการสอน
กำหนดให้ผู้ผ่านการสอบภาค ก และภาค ข ทุกคนเข้ารับการประเมินภาค ค ในคราวเดียวกัน
ให้มีการขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้เป็นบัญชีของ กศจ. โดยให้บรรจุและแต่งตั้งตามลำดับที่ในบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ เพื่อให้มีครูปฏิบัติการสอนทันทีเมื่อมีตำแหน่งว่าง
กำหนดให้ส่วนราชการเป็นผู้พิจารณากำหนดคุณวุฒิในประเภทวิชา หรือกลุ่มวิชา หรือทาง หรือสาขาวิชาเอก ที่มีความจำเป็นหรือขาดแคลนเป็นพิเศษได้ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทและความจำเป็นของส่วนราชการ
โดยหลักการสำคัญของวิธีการประเมิน ภาค ค ใช้วิธีการประเมินจากคุณลักษณะส่วนบุคคล (สัมภาษณ์) การพัฒนาตนเองและวิชาชีพ (แฟ้มสะสมงาน เกี่ยวกับประวัติการศึกษา/ผลงานในวิชาเอกที่สำเร็จการศึกษา/การเข้าถึงชุมชนและมีจิตอาสา) และความสามารถด้านการสอนนั้น จะช่วยให้นิสิตนักศึกษาครู ได้เน้นการเรียนในภาคปฏิบัติมากกว่า เพื่อจะได้นำผลงานในภาคปฏิบัติมาใช้ในการสอบแข่งขันในตำแหน่งครูผู้ช่วยต่อไป