สธ. พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินรับ New Normal

สธ. พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินรับ New Normal

การแพทย์ฉุกเฉิน ปรับระบบใหม่รับ New Normal ให้ความสำคัญตั้งแต่จุดคัดกรอง คัดแยกผู้ป่วย รถฉุกเฉิน ฝึกซ้อมหัตถการในห้องฉุกเฉินลดการใช้บุคลากร ใช้แคปซูลความดันลบเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ออกมาตรการเข้าเยี่ยม ใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย เล็งพัฒนาครอบคลุมทุกเขตสุขภาพ

วันนี้ (23 พฤษภาคม 2563) ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เฉลิมพล ไชยรัตน์ (โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี) ผอ.สำนักการแพทย์เขตสุขภาพที่ 10 กล่าวถึง ความปกติใหม่ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน (New Normal Emergency Care System) ว่า ประเด็นห้องฉุกเฉินเป็นเรื่องท้าทายของระบบสุขภาพ หลายคนมีประสบการณ์เข้าห้องฉุกเฉิน และต้องรอในระยะเวลานาน เนื่องจากขั้นตอนในห้องฉุกเฉิน เริ่มตั้งแต่รับมาจากบ้าน มีจุดคัดกรอง เข้าห้องฉุกเฉินทำการรักษา พออาการคงที่ จึงส่งต่อไปยังแพทย์เฉพาะทาง ทั้งหมดเราทำงานเป็นทีม เรียกว่าระบบการแพทย์ฉุกเฉิน

ทั้งนี้ ช่วงก่อนโควิด -19 ระบบการแพทย์ฉุกเฉินในอดีตที่ผ่านมา จุดคัดกรองซึ่งเป็นจุดที่สำคัญที่สุดเพื่อแยกผู้ป่วยว่าฉุกเฉิน จำเป็นต้องรับการรักษาทันที หรือไม่ฉุกเฉินสามารถรอได้ บริเวณที่เป็นจุดคัดกรองปกติจะมีโต๊ะตั้ง ประชาชนแออัด ไม่มีการเว้นระยะห่าง เจ้าหน้าที่ใส่อุปกรณ์ป้องกันไม่ครบถ้วน

159021986951

นายแพทย์เฉลิมพล กล่าวต่อไปว่า หลังจากมีสถานการณ์โควิด-19 เกิดขึ้น ห้องฉุกเฉินทุกที่ต้องปรับตัวทันที โดย “จุดคัดกรอง” ต้องมีฉากกั้นเพื่อป้องกันผู้ป่วยไม่ให้สัมผัส บุคลากรใส่ชุดอุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสม มีการเว้นระยะห่าง 1.5 – 2 เมตร และมีจุดมาร์คเพื่อให้ผู้รับบริการยืนรอคิว ถัดมา “ในส่วนของรถฉุกเฉิน” การออกไปรับผู้ป่วยแต่ละครั้ง บุคลากรต้องใส่ชุดป้องกันอย่างมิดชิด เพื่อประโยชน์ต่อผู้ป่วยและบุคลากรเอง เพราะเราไม่สามารถทราบได้ว่าจะไปเจอผู้ป่วยสถานการณ์แบบไหน อาจจะหัวใจหยุดเต้น หรือพูดคุยไม่ได้ นี่คือจุดเสี่ยงที่เราต้องปฏิรูป

ขณะเดียวกัน “ในห้องฉุกเฉิน” เมื่อมีผู้ป่วยหมดสติต้องช่วยชีวิตทันที หัตถการที่สำคัญ คือ การใส่เครื่องช่วยหายใจ เรามองว่าเป็นความเสี่ยงทำให้มีโอกาสติดเชื้อ และการฟุ้งกระจายเชื้อ ทีมห้องฉุกเฉิน จึงต้องมีการซ้อมการใส่หัตถการให้มีความชำนาญ และพยายามใช้คนให้น้อยที่สุด 3 คน โดยต้องใส่ชุดป้องกันมิดชิด

“นอกจากนี้ “การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในโรงพยาบาล” จากเดิมที่เข็นผู้ป่วยบนรถเข็น ขณะนี้ในผู้ป่วยที่มีอาการหนัก ต้องมีการป้องกันโดยใช้ แคปซูลความดันลบเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เพื่อความปลอดภัยทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ป่วยเอง ซึ่งเราพยายามที่จะกระจายบริการดังกล่าว ไปยังทุกโรงพยาบาลและทุกเขตสุขภาพ สิ่งสำคัญคือ ห้องฉุกเฉินต้องไม่แออัด” นายแพทย์เฉลิมพล กล่าว

  • ใช้เทคโนโลยีลดความแออัด

ด้าน นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า แต่เดิมในโรงพยาบาล เรามีทั้งผู้ป่วยฉุกเฉินและไม่ฉุกเฉิน ทำให้สมรรถนะในการดูแลผู้ป่วยลดลง เพราะจำนวนผู้ป่วยฉุกเฉินมาก เกิดความแออัด เมื่อมีการระบาดโรคโควิด-19 ในประเทศ ส่วนสำคัญคือการป้องกันการแพร่ระบาด ทั้งระหว่างผู้ป่วยกับผู้ป่วย และผู้ป่วยไปยังบุคลากรทางการแพทย์ ดังนั้น New Normal ของระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ต้องปรับโครงสร้างพื้นฐาน การปฏิบัติงาน บุคลากร ความพร้อมเครื่องมือต่างๆ

159021986947

โดยให้ความสำคัญตั้งแต่ “การคัดกรอง” ตามความรุนแรง และความเสี่ยงของหัตถการที่ก่อให้เกิดฝอยละออง ถัดมาคือ “ป้องกันการติดเชื้อ” ทั้งเจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงญาติและผู้มารับบริการ และ การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ในการคัดกรอง หรือใช้เทเลเมดิซีน ส่งยาทางไปรษณีย์ เพื่อลดการมาโรงพยาบาล ลดความแออัด และเพื่อการรักษาผู้ป่วย สิ่งเหล่านี้เป็นการปรับระบบการแพทย์ฉุกเฉิน โดยทางกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการสื่อสารไปยังโรงพยาบาลทุกระดับ ตามแต่ละบริบทในพื้นที่ ให้ปรับการบริการเพื่อให้เกิดความปลอดภัยเต็ม ทั้งต่อพี่น้องประชาชน และบุคลากรทางการแพทย์

  • ออกมาตรการเยี่ยมผู้ป่วย

 นายแพทย์ณรงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของญาติและผู้ที่มาเยี่ยมผู้ป่วย ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งในประเทศและต่างประเทศ  มาตรการที่เป็นความปกติใหม่ เน้นว่า เรื่องของการสวมหน้ากากอนามัยยังมีความจำเป็น หากมีการเยี่ยมผู้ป่วย แต่ละโรงพยาบาลจะทำการคัดกรองตามกลไก ทั้งซักประวัติ ความเสี่ยง และอาการที่เข้าได้กับโควิด-19 เพื่อกรอง ลดการสัมผัสโดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง และมีข้อปฏิบัติของแต่ละโรงพยาบาลที่แตกต่างกันไป เช่น  เยี่ยมได้ ไม่เกิน 1 คน ครั้งละไม่เกิน 30 นาที หรือ เยี่ยมได้เฉพาะบุคลที่ลงทะเบียนไว้ นอกจากนี้ ควรล้างมือบ่อยๆ เพราะสามารถนำเชื้อไปแพร่ได้ ดังนั้น การเยี่ยมผู้ป่วย ต้องมีการประเมินความเสี่ยง สวมหน้ากากอนามัย และปฏิบัติตามมาตรการของแต่ละโรงพยาบาล

ขยายบริการใน รพ.หลังผู้ป่วยลด

ทั้งนี้ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ที่มีการผ่อนคลายมากขึ้น นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อไปว่า แม้ว่าพี่น้องประชาชนจะป่วยด้วยโควิดน้อยลง อยากให้ความมั่นใจ 2 ส่วน คือ การเตรียมอุปกรณ์ ความพร้อมต่างๆ ในการรับมือการแพร่ระบาดระลอก 2 เรายังเตรียมการเต็มที่ และ ส่วนที่ 2 คือ ความปกติใหม่ เราเริ่มให้บริการผู้ป่วยระดับรอง เช่น มะเร็ง ซึ่งเริ่มกลับเข้ามาในโรงพยาบาล พร้อมกับมีการปรับการจัดกลุ่มผู้ป่วย ทั้งผู้ป่วยนอก ที่ดูแลตัวเองได้ สื่อสารได้ อาจจะต้องส่งยาทางไปรษณีย์ หรือใช้เทเลเมดิซีนเข้ามาช่วย เพื่อความปลอดภัยทั้งผู้ป่วยและญาติ ในการลดการเข้าสัมผัสเชื้อในโรงพยาบาล

“ส่วนผู้ป่วยที่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้ามาใช้บริการโรงพยาบาล เช่น เข้ารับการผ่าตัด ห้องผ่าตัดก็มีการปรับเปลี่ยน กลไกหอผู้ป่วยใน ก็มีการปรับเปลี่ยนให้มีความปลอดภัยมากขึ้น สิ่งสำคัญ คือมาตรการคัดกรองความเสี่ยง หากในอนาคตมีความเสี่ยงลดลง เราก็สามารถทำหัตถการต่างๆ ในแต่ละกลุ่มได้เพิ่มมากขึ้น โควิด-19 ทำให้เราปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและการดูแลผู้ป่วย ตอนนี้เราจึงพยายามกลับมาทยอยดูแลผู้ป่วยให้ได้ทุกกลุ่ม” รองอธิบดีกรมการแพทย์กล่าว