สมยอม-ขายบริการ! ข้ออ้าง..ทางแก้ 'ตัวเอง-รัฐ-โรงเรียน'
เวลามีข่าวข่มขืนเด็ก ไม่ว่าผู้กระทำจะเป็นครูเหมือนที่เป็นข่าวดังอยู่ในช่วงนี้ หรือประกอบอาชีพอื่นก็ตาม ข้อแก้ตัวแรกที่มักได้ยินจากปากผู้ต้องหาก็คือ "เด็กสมยอม" หรือบางกรณีก็ลามไปถึง "เด็กขายบริการทางเพศ"
ในความคิดของคนกลุ่มนี้ คือเมื่อเด็กสมยอม หรือขายบริการเอง ก็จะไม่ผิดข่มขืน เพราะไม่ได้ขืนใจ ทั้งๆ ที่ประมวลกฎหมายอาญาของไทยเขียนเอาไว้ชัดว่า หากกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไม่ว่าจะสมยอมหรือไม่ ก็มีความผิด
บริบทของกฎหมายนั้นผิดชัดเจน แต่ในมิติทางสังคมก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาเด็กขายบริการทางเพศนั้นมีอยู่จริง ฉะนั้นการแก้ปัญหาข่มขืน หรือกระทำชำเราเด็ก หากจะแก้ไขให้สำเร็จ ต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน ครบวงจร ทั้งตัวผู้ก่อเหตุ และเหยื่อ (ซึ่งหลายๆ กรณีก็ไม่ได้รู้สึกว่าตนเองเป็นเหยื่อ)
ประเด็นนี้ ดร.เชษฐา ทรัพย์เย็น เลขาธิการสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย เสนอมุมมองเอาไว้อย่างน่าสนใจ โดยบอกว่า ปัญหานี้ถือเป็นปัญหาหลักในสังคมของเยาวชนยุคใหม่ ในวงวิชาการทางสังคมศาสตร์ระบุถึงสาเหตุหลักๆ ของเด็กที่ขายบริการเอาไว้
หนึ่งในสาเหตุเหล่านี้ ขอเรียกขานว่ามาจาก “ค่านิยมวัตถุนิยมล้นเกิน” เนื่องจากได้รับแรงกระตุ้นแบบเรียลไทม์จากสื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นโลกที่รัฐไม่สามารถเข้าถึง ควบคุม หรือกำกับติดตามได้อย่างทันท่วงที จึงไม่ทันกระแสการไหลบ่าของวัตถุนิยมล้นเกินที่มีอยู่ทางโลกออนไลน์ หรือแม้แต่สื่อดั้งเดิมทั่วไปอย่างทีวี
จากงานวิจัยปัจจุบันหลายชิ้น บ่งบอกว่าปัญหาการขายบริการทางเพศของเด็กวัยเรียนนั้น แยกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ กล่าวคือ
กลุ่มแรก เป็นกลุ่มเด็กที่มีฐานะทางบ้านยากจนข้นแค้น จึงเสมือนถูกบังคับให้ต้องหารายได้มาจุนเจือทั้งตัวเองและครอบครัวอย่างหลบเลี่ยงได้ยาก กลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มที่อยู่ฐานล่างของความเหลื่อมล้ำทางโครงสร้างสังคม ซึ่งรัฐและภาคส่วนต่างๆ จะต้องให้ความตระหนักและออกนโยบายรองรับให้ความยากจนที่เกิดขึ้นนั้นได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น
อาทิเช่น การพยายามผลักดันรัฐสวัสดิการที่รองรับชีวิตความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐาน ตลอดจนปัจจัยที่กำหนดวิถีชีวิตต่างๆ อีกทางหนึ่งก็มีองค์กรภาคประชาสังคมที่หันมาใส่ใจกับการลดความเหลื่อมล้ำนี้ อย่างล่าสุดก็เห็นจาก “ตู้ปันสุข” ที่พยายามแก้ไขปัจจัยสี่ด้านอาหาร และพยายามบรรเทาความอดอยากของผู้คนที่ประสบภัยโควิด
ดังนั้นปัญหาเด็กกลุ่มแรกนี้ถือเป็นหน้าที่ของรัฐโดยตรงที่ต้องแก้ความเหลื่อมล้ำทางโครงสร้างรายได้ เพื่อให้ครอบครัวเด็กที่ยากจนก้าวพ้นเงื่อนไขการถูกบีบให้ต้องขายบริการทางเพศโดยไม่เต็มใจ
กลุ่มที่ 2 เกิดขึ้นจากกระแสค่านิยมทางสังคมที่หลงใหลความทันสมัย เน้นความสุขทางกายนำหน้า ผ่านการอยากได้อยากมี เช่น วัฒนธรรมบริโภคนิยมล้นเกิน วัฒนธรรมวัตถุนิยมล้นเกิน จึงทำให้เด็กหญิงกลุ่มหนึ่งคิดว่า การอยากได้อยากมีสิ่งเหล่านี้จะทำให้ตัวเองก้าวทันยุคทันสมัยของสังคม ไม่ตกเทรนด์ ก้าวไปอยู่ในระดับกลุ่มคนที่ไฮโซมากขึ้น จึงยอมแลกเงินกับการขายบริการทางเพศ
เพราะตามหลักการลงทุนแล้ว ถือเป็นการลงทุนที่ต่ำที่สุด แต่ได้ผลตอบแทนจำนวนมาก เนื่องจากร่างกายเป็นสิ่งที่เป็นของตนอยู่แล้ว ไม่ต้องลงทุนเพิ่มใดๆ เลย
เมื่อเอาธรรมชาติทางร่างกายไปแลกกับผลตอบแทนที่เป็นตัวเงิน จึงเท่ากับว่าได้กำไรมาก และได้มาโดยง่าย หาเงินก้อนใหญ่ได้ง่าย เพราะความใส่ใจในค่านิยมของวัฒนธรรมและศีลธรรมแบบดั้งเดิมได้จางหายไป อันเนื่องมาจากไม่สามารถต้านทานกระแสไหลบ่าของโลกข้อมูลข่าวสารและกระแสวัตถุนิยมล้นเกินผ่านทางโลกโซเชียลฯ ที่เข้าถึงได้ตลอดเวลาอย่างทันท่วงที
กระแสวัตถุนิยมในสังคมออนไลน์ยุคนี้ แทรกซึมในความคิดเด็กได้เร็วยิ่งกว่าก่อนไม่มีสังคมโซเชียลมีเดีย จนวัฒนธรรมและศีลธรรมแบบเดิมตามไม่ทัน เด็กนักเรียนหญิงจึงถูกซึมซับรวดเร็ว จนหลายคนทนความต้องการอยากได้อยากมีไม่ไหว
ดร.เชษฐา กล่าวถึงแนวทางแก้ไขว่า เด็กขายบริการกลุ่มแรก ถือเป็นความผิดของรัฐที่ไม่สามารถขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำได้ ทำให้เด็กไม่มีทางเลือกที่ดีกว่า จึงต้องฝืนใจขายบริการ
แต่เด็กขายบริการกลุ่มที่ 2 เป็นความผิดร่วมกันระหว่างตัวเด็กที่หลงใหลกระแสวัตถุนิยมล้นเกิน ขาดการยับยั้งชั่งใจ และรัฐที่ไม่สามารถลดทอนค่านิยมบริโภคนิยมให้อยู่ในความพอดีจนประเดประดังไหลบ่าลงสู่เด็กสาวในวัยเปราะบาง ทำให้เด็กยอมขายบริการเพื่อแลกเงินนำมาปรนเปรอความอยากได้อยากมีของตน
แนวทางแก้ไขในส่วนของเด็กกลุ่มที่ 2 ดร.เชษฐา อธิบายว่า มีอยู่ 2 แนวทางก็คือ
- เพิ่มเวทีชั่วโมงแลกเปลี่ยนในโรงเรียน เน้นให้มีชั่วโมงแสดงความคิดเห็นจากเด็กโดยตรง โดยจัดห้องเรียนให้เด็กเป็นศูนย์กลาง (child centered) ในประเด็นค่านิยมต่างๆ ทางสังคมทุกสัปดาห์ นำประเด็นมาถกเถียงและแสดงทัศนะ โดยมีครูหรือวิทยากรกลางเป็นผู้ดำเนินการเสวนา (facilitator) และคัดท้ายประเด็นให้ตกผลึก เพื่อซึมซับลงสู่ความคิดเด็กอย่างเป็นธรรมชาติ
- เพิ่มเนื้อหาหรือคอนเทนต์โต้กลับ ที่มีรูปแบบเข้าถึงวัยรุ่นในโลกยุคไซเบอร์โดยภาคส่วนต่างๆ ทั้งรัฐและประชาสังคมร่วมกันผลิตเนื้อหาสาระเติมเข้าไปในโลกออนไลน์ เพื่อเพิ่มปริมาณและหาวิธีส่งให้เข้าถึงกลุ่มเยาวชน
หวังให้เกิดการสร้างสมดุลทางเนื้อหาเกี่ยวกับค่านิยมต่างๆ ที่ไหลบ่าวนเวียนในโลกออนไลน์ เพื่อให้เด็กได้รับข้อมูลจาก 2 ทางอย่างสมดุลเพียงพอ จนเด็กสามารถมีวิจารณญาณเลือกตัดสินใจในทางที่ถูกที่ควร