“ศักดิ์อนันต์” แนะ ทช. ระงับการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นม่วงงาม จ.สงขลา
ชี้ มีอำนาจตาม พรบ. บริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
อาจารย์ศักอนันต์ ปลาทอง ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้วิทยาศาสตร์ทางทะเล ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และในฐานะที่ปรึกษาของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้โพสต์เฟสบุ๊คอธิบายถึงอำนาจในการระงับโครงการฯ ว่า พระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 มาตรา 3 ได้บัญญัติคำว่าหาดไว้ ในนิยามของ“ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง” และมาตรา 17 ได้ระบุว่า หากมีบุคคลใดก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย มีอำนาจสั่งให้บุคคลนั้นระงับการกระทำหรือกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรฯ นั้นเป็นการชั่วคราวตามความเหมาะสม
ในกรณีของโครงการเขื่อนกันคลื่นบริเวณหาดม่วงงาม อ. สิงหนคร จ. สงขลา อาจารย์ศักดิ์อนันต์กล่าวว่า ผู้รับเหมาดำเนินการสร้างกำแพงคอนกรีตกันคลื่นแบบขั้นบันได ซึ่งในทางวิชาการถือว่า มีการขุดทำลายชายหาดให้สูญสภาพไปทั้งโครงสร้างสัณฐานชายหาด ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในเชิงนิเวศในการปกป้องชายฝั่งและการสันทนาการ จึงถือเป็นการสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อหาด ซึ่งจัดเป็นทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งตามที่กฎหมายบัญญัติ
อาจารย์ศักดิ์อนันต์แสดงความคิดเห็นว่า อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ย่อมมีอำนาจสั่งการให้ผู้รับเหมานั้นระงับการกระทำดังกล่าว และแจ้งประสานงานกรมโยธาธิการและผังเมืองโดยมิชักช้า เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
“คำถามของผม คือ การดำเนินการดังกล่าว สร้างความเสียหายร้ายแรงเพียงพอที่ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจะใช้อำนาจหรือยัง" อาจารย์ศักดิ์อนันต์ตั้งข้อสังเกต
โครงการเขื่อนกั้นคลื่นหาดม่วงงาม
ทั้งนี้ โครงการเขื่อนกั้นคลื่นบริเวณหาดม่วงงาม อ.สิงหนคร จ.สงขลา ได้มีการเดินหน้ารับฟังความคิดเห็นมาตั้งแต่ต้นปี 2561 เพื่อรวบรวมข้อมูลรายงานต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการให้รับรู้ถึงปัญหาและความต้องการของชุมชน รวมทั้งข้อมูลในเชิงพื้นที่ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินโครงการ และเพื่อหาข้อสรุปผลการศึกษาโครงการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นตลอดแนวชายหาดป้องกันปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง เพื่อนำไปประกอบการจัดทำแผนโครงการก่อสร้างฯ
นายผดุงเดช ลือปิยะพาณิชย์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสงขลาเคยกล่าวในการประชุมว่า โครงการดังกล่าว จะสามารถช่วยป้องกันและบรรเทาปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปีและกินพื้นที่หาดเข้ามาเรื่อยๆ นอกจากนี้ ยังจะช่วยป้องกันอาคารบ้านเรือนและส่วนราชการที่ตั้งอยู่ในบริเวณดังกล่าว และช่วยเสริมให้ทัศนียภาพของหาดมีความสวยงามมากขึ้นเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ
จากข้อมูลของกรมฯ รูปแบบของการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นในบริเวณดังกล่าว จะเป็นเขื่อนคอนกรีตแบบขั้นบันไดเสริมเหล็กความยาว 630 เมตร โดยมีสันเขื่อนกว้าง 3.5 เมตร ซึ่งจะก่อสร้างบนชายฝั่งตลอดแนวชายหาดของพื้นที่ หมู่ที่ 7 ตำบลม่วงงาม
นอกจากนี้ นายผดุงเดชได้กล่าวผ่านสื่ออีกว่า จะมีการปรับปรุงทัศนียภาพโดยรอบ พร้อมกับออกแบบให้มีบันไดขึ้นลงชายหาด ทางลาดสำหรับผู้พิการ และทางลาดให้เรือขนาดเล็กขึ้นลงชายหาด ซึ่งจะทำให้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพของคนในพื้นที่ อีกทั้งยังจะเป็นที่สาธารณประโยชน์ ใช้ออกกำลังกาย หรือพัฒนาให้เป็นที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจได้อีกด้วย
คัดค้าน
อย่างไรก็ตาม ประชาชนในพื้นที่บางกลุ่มไม่เห็นด้วยกับโครงการ และมีการยกระดับการคัดค้านเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา โดยตัดสินใจจะจัดกิจกรรมเพื่อเเสดงพลังของประชาชนม่วงงามในการคัดค้านโครงการดังกล่าวในวันที่เสาร์ที่ผ่านมา
แต่เนื่องจากอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทางตำรวจภูธรม่วงงามไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรม ทำให้ตัวเเทนฯ ประกาศยกเลิกการจัดกิจกรรม ก่อนที่แนวร่วม Beach for life สานต่อกิจกรรมทางโลกออนไลน์ โดยเชิญชวนประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการฯ ร่วม mob from home ในช่วงวันอาทิตย์แทน เนื่องจากเห็นว่า การเเสดงออกในสิทธิเเละเสรีภาพของประชาชนในการป้องกันหาดทรายนั้น ถือเป็นการสิทธิที่สามารถกระทำได้ และการอ้างการใช้ พรก.บริหารราชการฉุกเฉิน เพื่อจำกัดสิทธิของประชาชนในการปกป้องฐานทรัพยากร ตามเจตนารมณ์เเห่งรัฐธรรมนูญนั้น ถือการเป็นคุกคามสิทธิเเละเสรีภาพของประชาชน
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเย็นของวันอาทิตย์ ได้มีประชาชนในพื้นที่บางส่วนได้ออกมาทำกิจกรรมเชิงสัญญลักษณ์ อาทิ การติดตั้งงานศิลปะและป้ายคัดค้าน ซึ่งเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อยบริเวณชายหาด โดยมีตำรวจคอยดูแลสถานการณ์
เครือข่ายประชาชนรักหาดม่วงงาม ได้ออกแถลงการณ์โดยกล่าวว่า เครือข่ายฯ และประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงมีความประสงค์ในการรักษาชายหาดม่วงงามให้คงเป็นหาดทราย เป็นพื้นที่ธรรมชาติที่สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้
แต่จากการดำเนินโครงการฯ ประชาชนในพื้นที่ม่วงงามมีความห่วงกังวลถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น เกิดการกัดเซาะชายฝั่งด้านเหนือโครงการ การสูญเสียพื้นที่หาดทรายไปอย่างถาวรหลังจากการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น รวมไปถึงกังวลว่าโครงการดังกล่าว จะทำให้วิถีชีวิตประมงริมชายฝั่งม่วงงามและการพักผ่อนหย่อนใจริมชายหาด ไม่สามารถดำเนินได้ตามปกติ
ทางเครือข่ายฯ อ้างอิงถึงบทเรียนการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นในหลายพื้นที่ชายฝั่งทั่วประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งพบว่า ที่ใดมีกำแพงกันคลื่น จะทำให้ชายหาดเกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงในด้านเหนือ และประชาชนไม่สามารถใช้ประโยชน์พื้นที่ชายหาดได้
ความห่วงกังวลที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ประชาชนม่วงงาม ได้ร้องเรียนความกังวลและความเดือดเสียหายไปยังหน่วยงานเจ้าของโครงการ ผู้ว่าราชการจังหวัดผ่านศูนย์ดำรงธรรม และได้ยืนฟ้องคดีต่อศาลปกครองสงขลา เพื่อให้ยุติการดำเนินโครงการดังกล่าว แต่ยังไม่ปรากฎความคืบหน้าตามประสงค์
ประชาชนม่วงงามจึงรวมตัวกันเพื่อแสดงพลังคัดค้านการดำเนินโครงการ แม้จะไม่สามารถจัดกิจกรรมได้ แต่ตัวแทนเครือข่ายฯ ยืนยันที่จะแสดงพลัง รวมทั้งการดำเนินการผ่านสื่อออนไลน์เพื่อแสดงเจตจำนงในการรักษาหาดทรายม่วงงามต่อไป
นโยบายล่าสุด
ในช่วงเวลาไล่ๆกัน คณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ได้จัดประชุมโดยมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (VDO Conference) โดยที่ประชุมได้พิจารณาเกี่ยวกับ ร่างรายงานสถานการณ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทย พ.ศ. 2561, ร่างระบบกลุ่มหาดประเทศไทย, หลักเกณฑ์ประกอบการจัดทำแผนงาน/โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง, และร่างประกาศกระทรวงกำหนดพื้นที่ใช้มาตรการในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งสำหรับการดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงป้องกันคลื่นริมชายหาดและเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล ตามมาตรา 21 ของ พรบ. บริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
จากการเปิดเผยของ ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หนึ่งในคณะกรรมการฯ, ทาง กก. ได้มีมติเห็นชอบให้มีการควบคุมดูแลการสร้างสิ่งก่อสร้างป้องกันชายหาด ซึ่งเริ่มปรากฏการก่อสร้างอย่างแพร่หลายในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา โดยในอดีตจะมีการประเมินผบกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) คอยกำกับการก่อสร้างริมฝั่งหรือในทะเลที่มีความยาวเกิน 200 เมตร แต่ในปี 2556 ได้ถูกยกเลิกไปโดย ทส. ในสมัยนั้น แม้จะเกิดผลกระทบตามมา ดั่งที่ถูกรายงานโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การก่อสร้างเพิ่มขึ้นรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อเนื่อง ลุกลามไปเรื่อย เกิดการเสียสมดุลของระบบนิเวศ ฯลฯ
ด้วยเหตุดังกล่าว จึงมีการหยิบยกการกำกับดูแลการก่อสร้างในพื้นที่ดังกล่าวมาพิจารณาอีกครั้ง จนเกิดเป็นมติในการประชุมในครั้งนี้ ซึ่งอาจารย์ธรณ์ ระบุว่า “คือการรื้อระบบทั้งหมด”
โดยในช่วงปี 2561 ทางครม. ได้มีมติรับทราบแนวทางป้องกันและแก้ไขกัดเซาะที่ได้มีการลงพื้นที่ไปสำรวจของคณะทำงานด้านวิชาการ รวมทั้งอาจารย์ศักดิ์อนันต์ นำมาสู่การจัดทำกลุ่มหาด และที่สำคัญคือ ร่างประกาศกระทรวงให้พื้นที่ตั้งแต่แนวชายฝั่งเป็นเขตมาตรการป้องกันการกัดเซาะ อาจารย์ ธรณ์กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีการห้ามมิให้มีการดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงป้องกันคลื่น/เขื่อนป้องกันตลิ่ง เว้นแต่จัดทำมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมคือ การทำ Enviromemtal Checklist เพื่อขออนุญาตจากอธิบดีกรม ทช.
“หมายถึงว่า เรากำลังจะมีอะไรบางอย่างมาดูแลการก่อสร้างประเภทนี้ทั้งหมด ไม่ใช่ให้สร้างไปก่อน พอบางแห่งเกิดปัญหาก็มาวุ่นวาย เหมือนที่่เคยเกิดมาตลอดในช่วง 6-7 ปี และพอสร้างไปแล้วก็ยากต่อการแก้ไขหรือหยุดยั้ง เพราะกม.ไม่เปิดช่อง หรือเปิดไว้ก็นิดเดียว ยากที่จะเกิดผลปฏิบัติได้
“และยังมีอีกหลายกระบวนการ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่ต้องไปใช้เป็นแนวทางต่อเนื่องถึงสำนักงบประมาณ ฯลฯ ไม่ได้หมายความว่าห้ามสร้าง แต่ก่อนสร้างต้องมีการพิจารณาว่าควรไหมโดยทำอย่างรอบคอบ และ ทช. จะมีอำนาจในการพิจารณา นี่คือการแก้ไขแบบมองไปข้างหน้าจนครบ ปิดแก๊ปที่เราเคยมีมาในอดีต
“การวิ่งวุ่นไปทุกทิศทาง เป็นข่าวหาดนี้ ต่อไปหาดนั้นหาดโน้น มันมองไม่เห็นจุดจบ แต่ตอนนี้เรากำลังจะมีประกาศฉบับนั้น กำลังจะมีจุดจบ” ดร.ธรณ์ กล่าว พร้อมเพิ่มเติมว่า หลังจากนี้จะเป็นกระบวนการนำเข้าพิจารณาโดยคณะรัฐมนตรี ก่อนจะออกมาเป็นประกาศกระทรวงบังคับใช้ต่อไป
ภาพ/ Beach for Life