คนทะลักเข้า ‘คลินิกแก้หนี้’
บสส. เผยคนแห่ทะลักร่วมโครงการ “คลินิกแก้หนี้” เฟส3 กว่า 2 หมื่นราย หลังผ่อนเกณฑ์ปลดล็อกเอื้อลูกหนี้เข้าถึงการช่วยเหลือมากขึ้น ชี้เบื้องต้นผ่านคุณสมบัติราว 4 พันราย มั่นใจสิ้นปีนี้ยอดผู้เข้าร่วมโครงการแตะ 1 หมื่นราย
นายนิยต มาศะวิสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM ผู้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเจรจาและประสานงานระหว่างเจ้าหนี้-ลูกหนี้ ในโครงการ “คลินิกแก้หนี้” กล่าวว่า หลังจาก เปิด โครงการคลินิกแก้หนี้ ระยะที่ 3 เมื่อต้นเดือนก.พ. 2563 โดยได้ขยายขอบเขตให้สามารถแก้ไขหนี้บัตรที่มีเจ้าหนี้ รายเดียว และหนี้บัตรที่อยู่ในกระบวนการของศาล และมีคำพิพากษาแล้ว รวมถึงขยายให้ผู้ที่เป็นหนี้เสียก่อน1ม.ค. 2563 เข้าโครงการได้ จากเดิมที่กำหนดคุณภาพบัติผู้ที่เข้าโครงการได้จะต้องเกิดหนี้เสียก่อน 1 ม.ค.2562 เท่านั้น ซึ่งพบว่าหลังจากปลดข้อจำกัดต่างๆแล้ว มีส่วนช่วยให้ลูกหนี้เสีย เข้าโครงการได้เพิ่มขึ้นมาก
โดยพบว่า ในช่วงเกือบ 5 เดือนที่ผ่านมา(ม.ค.-ปัจจุบัน) มีลูกหนี้จำนวนมาก ที่ยื่นความจำนงขอเข้าโครงการคลินิกแก้หนี้ ถึง 20,000 คน หากเทียบกับก่อนหน้านี้ เพราะการคลายล็อคต่างๆทำให้มีคนที่ผ่านคุณสมบัติเข้ามาเพิ่มขึ้น โดยหากดูจากจำนวนลูกหนี้ที่ยื่นเข้ามาใหม่นี้ พบว่า มีลูกหนี้ที่ผ่านคุณสมบัติ และคาดว่าจะผ่านเข้าโครงการ “คลินิกแก้หนี้”ได้ในเบื้องต้นราว 4,000 คน ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างพิจารณาคุณสมบัติและยื่นเอกสารเพิ่มเติมต่อไป
ทั้งนี้ จากผู้ที่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้น และคาดว่าจะสามารถเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ ในคลินิกแก้หนี้ได้ พบว่า ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้นอนแบงก์ โดยมีวงเงินหนี้เฉลี่ยอยู่ที่ราว 2-3 แสนบาทต่อคน
ทั้งนี้ หากดูจากจำนวนลูกหนี้ที่เข้ามาต่อเนื่อง คาดว่า ณ สิ้นปีนี้ มีโอกาสเห็นจำนวนลูกหนี้ ผ่านเข้าโครงการ “คลินิกแก้หนี้ได้” ถึง 10,000 คน หากเทียบกับสิ้นปีก่อน ที่มียอดผ่านเข้าโครงการไปแล้ว 3,194 ราย
อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มจำนวนลูกหนี้ที่ได้รับความเดือนร้อนในภาวะปัจจุบัน บริษัทเอง อยู่ระหว่างหามาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมสำหรับลูกหนี้กลุ่มนี้ โดยเตรียมเสนอบอร์ด เพื่อวางมาตรการช่วยเหลือคนที่ได้รับการเดือนร้อนเพิ่มขึ้น เช่น การทบทวนกำลังคน โดยการเสนอให้มีการเพิ่มขึ้นคน ในจุดที่ต้องพิจารณาหรือช่วยเหลือลูกค้าเพิ่มเติม หรือเพิ่มจุดให้บริการ เพิ่มวันเวลาในการเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าเพิ่มขึ้น เป็นต้น
โดยหนึ่งในแผนของบริษัท คือช่วยให้ลูกหนี้เข้าถึงจุดให้บริการของคลินิกแก้หนี้ได้มากขึ้น เช่นการไปให้บริการในจุดที่ใกล้กับเครดิตบูโร เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบ ง่ายต่อการติดตาม และแก้ปัญหาต่างๆ เพราะหากดูจากการทำงานกับเครดิตบูโร อย่างใกล้ชิดในช่วงที่ผ่านมา พบว่าจุดที่ให้บริการที่ใกล้กับเครดิตบูโรมักมีลูกค้าใช้บริการจำนวนมาก และกระบวนการต่างๆจบเร็วมากขึ้น
นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ กล่าวว่า บริษัทยังคงมีระบบการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุม และยังมีมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ เช่น ลดอัตราการชำระขั้นต่ำต่อเดือน การพักชำระหนี้สูงสุด 2 เดือน และมาตรการลดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ สำหรับกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งลูกค้าสามารถแจ้งความจำนงเพื่อเข้าร่วมโครงการได้ โดยจะได้รับการพิจารณาเป็นรายกรณี
ทั้งหมดนี้ เพื่อพยายามช่วยเหลือลูกค้าที่ เป็นกลุ่มที่มีประวัติทางชำระหนี้ดี ไม่ให้ตกลงไปเป็นกลุ่มหนี้เสียเพื่อช่วยเหลือให้ทุกคนผ่านช่วงเวลานี้ไปได้
อย่างไรก็ตามคาดว่า ในปีนี้จะมีหนี้เสียของธุรกิจบัตรฯ จะอยู่ที่ราว 1.6 – 1.7% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่1.05% ในขณะที่ยอดสินเชื่อปีนี้เติบโต 3.4% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ เติบโต 2.5%
นางพิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC เปิดเผยว่า หนี้เสียของเคทีซี ยังอยู่ในวิสัยที่ควบคุมได้ จากในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ หนี้เสียตามมาตรฐานใหม่ TFRS 9 อยู่ที่ 3.44% และยังให้ความสำคัญดูแลติดตามใกล้ชิด