'การบินไทย' เริ่มเข้าร่องเข้ารอย
วันนี้สถานการณ์ของการบินไทยเริ่มเห็นแสงสว่างขึ้นมาบ้างแล้ว หลังจากเข้ายื่นต่อศาลล้มลายกลาง ซึ่งนับเป็นก้าวแรกของการฟื้นฟู ยังรวมไปถึงการปรับทีมคณะกรรมการบริษัท ดึง 4 ขุนพล มืออาชีพ เข้ามาร่วมทำแผนด้วย
ถึงวันนี้ต้องยอมรับว่าทิศทางการฟื้นฟูบริษัทการบินไทย เข้าร่องเข้ารอย เริ่มเห็นแสงสว่างกันบ้างแล้ว หลังจากเข้ายื่นต่อศาลล้มละลายกลางเป็นท่ีเรียบร้อยแล้ว และต้องมาดูกันว่าวันนี้ศาลจะว่าอย่างไรต่อไป แต่นี้คือก้าวแรกของการฟื้นฟู สายการบินแห่งชาติ ที่อยู่คู่เรามา 60 ปี ซึ่งก่อนอื่นต้องยอมรับว่าทุกสายการบินทั่วโลกต่างอาการโคม่ากันทั้งนั้น เพียงแต่การบินไทยอาการหนักกว่าอีกหลายสายการบิน เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 5 ปี หลังจากมีนโยบายปรับโครงสร้าง ไม่ได้ขยับทำแผนแต่อย่างใด เมื่อต้องเผชิญพิษโควิดพร้อมๆ ทุกสายการบิน จึงรุนแรง ทรุด อาการหนักกว่าสายการบินอื่นๆ
แสงสว่างที่เห็นบ้างในวันนี้ คือการปรับทีมคณะกรรมการบริษัท ดึง 4 ขุนพล มืออาชีพซึ่งผ่านการบริหารองค์กรชั้นนำมาเข้าร่วม ประกอบด้วย 1.พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี 2.บุญทักษ์ หวังเจริญ ฝ่ายเศรษฐกิจและการลงทุน อดีตนายกสมาคมธนาคารไทย ซีอีโอแบงก์ทหารไทย 3.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ที่ปรึกษานายกฯ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม สมัยรัฐบาล คสช. อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด และ 4.ปิยะสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานบอร์ด ปตท. เมื่อครั้ง พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้นำรัฐบาล คสช. และนายปิยะสวัสดิ์ยังเป็น 1 ในคณะกรรมการซูเปอร์บอร์ดเมื่อครั้งรัฐบาล คสช. โดยได้รับการแต่งตั้งให้ทำงานด้านปรับโครงสร้างรัฐวิสาหกิจ
ทั้งนี้ ทั้ง 4 คนที่มาเสริมกับคณะกรรมการที่มีอยู่ก่อนแล้ว ถือเป็นสายตรงนายกรัฐมนตรีโดยตรง ซึ่งเป็นเรื่องถูกต้องเมื่อนายกรัฐมนตรีออกมายืนยันและประกาศแล้วว่า การฟื้นฟูการบินไทย อยู่ในความรับผิดชอบของตัวเอง ดังนั้นจำเป็นต้องคัดเลือกบุคคลที่ตัวเองมั่นใจ และทั้ง 4 คนนี้คาดว่าจะเป็นผู้ร่วมทำแผน ซึ่งต้องยอมรับว่าคณะผู้ทำแผนคือหัวใจของความสำเร็จ หากคัดเลือกผิดกลุ่ม ผิดคนแล้วอาจจะทำให้การฟื้นฟูไม่เป็นไปตามความมุ่งหวังและยิ่งการบินไทย คือความภาคภูมิใจของคนไทย อยู่ด้วยแล้ว จำเป็นต้องทำทุกอย่างให้ประสบความสำเร็จ
เราเห็นว่าหลังจากนี้ นายกรัฐมนตรี ต้องเข้ามาดูในรายละเอียดทุกขั้นตอน อย่าปล่อยให้เกิดช่องโห่วของแผนฟื้นฟู เพราะหลังจากนี้อาจจำเป็นต้องลดทุนและหาสภาพคล่องเพื่อปล่อยกู้ให้กับการบินไทยดำเนินกิจการต่อไป ขณะที่พนักงานที่มีมากกว่า 2 หมื่นคน ต้องเตรียมใจว่าการผ่าตัดครั้งนี้ จำเป็นต้องลดพนักงานลง ลดต้นทุนจากปัจจบันที่ต้องจ่ายอยู่ปีละประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ระบบการขายตั๋วที่ปล่อยช่องโหว่ผ่านเอเจนซี ซึ่งบริษัทการบินไทยต้องจ่ายออกไปปีละ 1 หมื่นล้านบาท หากปรับปรุงหันมาขายออนไลน์มากขึ้น ก็จะช่วยลดต้นทุนได้เป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้เพียงแค่ส่วนหนึ่งที่เห็นบนยอดเขาน้ำแข็ง ส่วนข้างใต้น้ำยังมีอีกเยอะที่ต้องผ่าตัด ซึ่งถึงวันนี้คนทั้งประเทศฝากชะตากรรมสายการบินแห่งชาติ ไว้กับพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี