“อิปซอสส์”ชี้คนไทยรอเดินทาง โอกาสฟื้นธุรกิจท่องเที่ยวหลังโควิด
แม้ "ตัดผม" จะเป็นสิ่งที่คนไทยเรียกร้องหลังปลดล็อกดาวน์ แต่การเดินทาง "ท่องเที่ยว" คืออีกสิ่งที่ผู้บริโภคโหยหา โดยเฉพาะกลุ่มมีรายได้ 50,000 บาทขึ้นไป พร้อมเปย์ เป็นสัญญาณบวกธุรกิจท่องเที่ยวฟื้นตัวได้หลังโรคโควิดคลี่คลาย
นับตั้งแต่โรคโควิด19 ระบาดหนักในประเทศไทย จนทำให้รัฐต้องออกมาตรการ “ล็อกดาวน์” เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แน่นอนว่ากลุ่มที่ “สายป่านสั้น” เมื่อไม่มียอดขาย รายได้ กระแสเงินสดไม่เข้ามา การขาดสภาพคล่อง สต็อกบวม ทำให้หลายธุรกิจต้อง “ปิดกิจการ”
ส่วนมิติของผู้บริโภค คนจำนวนมากต้องอยู่บ้าน ทำงานจากที่บ้านเป็นเวลาร่วม 2-3 เดือน ซึ่งจำนวนไม่น้อยมีอาการเบื่อ และเรียกร้องการทำกิจกรรมนอกบ้าน เห็นได้จากการ “ปลดล็อกดาวน์” ในระยะที่ 2 ห้างร้าน ร้านอาหารเปิดให้บริการ เห็นผู้คนจำนวนมากแห่เข้าคิว เพื่อไปช้อป ชิม ชิลล์ที่ศูนย์การค้าต่างๆ แต่ตราบใดที่ “จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด” ยังมีมากน้อยสลับกันแต่ละวัน “การ์ดห้ามตก” เด็ดขาด! เพราะหากเกิดการระบาดระลอกใหม่ อาจเห็นการ “ล็อกดาวน์” ซ้ำ กระทบธุรกิจและวิถีชีวิตผู้บริโภคอีกรอบ
อิษณาติ วุฒิธนากุล
ทั้งนี้ตามผลวิจัยการตลาดเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภค ล่าสุด อิษณาติ วุฒิธนากุล ผู้อำนวยการอาวุโสองค์กรลูกค้าสัมพันธ์ บริษัท อิปซอสส์ (ไทยแลนด์) จำกัด หยิบผลสำรวจผ่านออนไลน์ผ่านเครือข่าย “GlobalAdvisor” จากกลุ่มตัวอย่างคนไทยกว่า 1,000 คน อายุระหว่าง 18-74 ปี ระหว่างวันที่ 14-18 พ.ค. 2563 เกี่ยวกับความต้องการทำกิจกรรมต่างๆหลังโควิดมีประเด็นน่าสนใจดังนี้
1.คนไทยต้องการไปร้านตัดผมมากที่สุด ภาพรวมจากสถิติทั่วประเทศ พบว่าคนไทยต้องการไปใช้บริการร้านตัดผมมากสุด 21% เห็นได้จากการกระแสบนโลกออนไลน์ที่ผ่านมา ผู้คนจำนวนมากบ่นเรื่อง “ผมยาว” โดยเฉพาะผู้ชาย และต้องการตัดผมสูงสุด สอดคล้องกับข้อมูลของแบรนด์สินค้าความงามระดับโลก ที่ชี้พฤติกรรมผู้บริโภคขาดความมั่นใจเมื่อทรงผมไม่ได้รับการดูแล นอกจากนี้ เจาะลึกความต้องการของผู้หญิง จะพบว่าโหยหาการเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดและเมืองนอกมากสุด 21% ตามด้วยการเดินเล่นและชอปปิงที่ห้างสินค้า 15%
“แม้ผู้หญิงจะให้ความสำคัญกับการดูแลเส้นผมมากกว่าผู้ชาย แต่การสำรวจกลับพบว่าผู้ชายไทยต้องการไปตัดผมหลังการปลดล็อกดาวน์ ขณะที่ผู้หญิงต้องการไปร้านตัดผมเป็นกิจกรรมที่จะทำอันดับสองรองจากท่องเที่ยว”
ส่วนภาพรวมกิจกรรมที่คนไทยต้องการทำเป็นอันดับ 2 คือการท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ คิดเป็น 19% อันดับ 3 ต้องการไปรับประทานอาหารนอกบ้าน 15% อันดับ 4 ออกไปเดินเล่น ชอปปิงในศูนย์การค้า 13% และอันดับ 5 คือการกลับไปเรียน และทำงานที่สำนักงาน(ออฟฟิศ) 8% ส่วนกิจกรรมที่ต้องการทำหลังสุดคือไปใช้บริการคลินิคเสริมความงาม 3%
2.คนรวยเที่ยวได้ คนชนชั้นกลางต้องทำงาน หากเจาะลึกประชาชน 1 ใน 4 มีความต้องการเที่ยวทั้งในและต่างประเทศหลังโควิดคลี่คลาย จะเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้ต่อครัวเรือนสูงกว่า 50,000 บาทขึ้นไป อยากเดินทางมากสุด ขณะที่ชนชั้นกลางหรือครัวเรือนที่มีรายได้น้อยให้ความสำคัญกับการเรียนการทำงานสูงสุด และกลับไปทำงานให้เร็วที่สุดด้วย
“ความต้องการดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจการท่องเที่ยวจะมีโอกาสฟื้นตัวสูง หลังการปลดล็อกดาวน์ และกลุ่มที่จะท่องเที่ยวเป็นละดับแรก ยังเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ รายได้ต่อครัวเรือนสูงด้วย”
3.วัยรุ่นไทยอยากเรียน ทำงาน ดูหนัง และเที่ยวสถานบันเทิง (WorkHard,PlayHard ) อิษณาติ ยังแจกแจงผลสำรวจกลุ่มวัยรุ่นอายุ 18-24 ปี มีความต้องการกลับไปเรียนหนังสือ และทำงานสูงกว่าในทุกๆกลุ่มช่วงอายุ โดย 17% ต้องการกลับไปเรียนเป็นอันดับแรกหลังปลดล็อกดาวน์ ขณะเดียวกัน 5% ของกลุ่มวัยรุ่นต้องการกลับไปใช้บริการโรงภาพยนตร์ ดูหนัง และท่องเที่ยวตามสถานบันเทิงยามค่ำคืนมากกว่ากลุ่มช่วงอายุอื่นๆด้วย หลังจากที่ผ่านมาผับ บาร์ สถานบันเทิงต้องปิดให้บริการจนถึงปัจจุบัน
เมื่อกลุ่มวัยรุ่นไทยเน้นทำงานหนักจริงจังกับเรื่องเล่นหรือ Work Hard, Play Hard แต่กลุ่มอายุ 25-44 ปี หรือกลุ่มวัยกลางคนมีความต้องการสวนทาง โดยให้น้ำหนักกับการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศสูงสุด
“ประมาณ 1 ใน 5 ของกลุ่มวัยกลางคนจะไปเที่ยวเป็นอันดับแรกที่มีการปลดล็อกดาวน์ ส่วนกลุ่มอื่น เช่น คนสูงวัย หรืออายุเฉลี่ย 45 ปีขึ้นไปให้ความสำคัญกับการไปยังศาสนาสถาน 6% ออกกำลังกาย 9% เดินเล่นผ่อนคลาย ชอปปิงสูงกว่ากลุ่มอื่นๆอย่างชัดเจน”
สำหรับความต้องการของผู้บริโภคข้างต้น เป็นกุญแจที่ทำให้ภาคธุรกิจ นักการตลาดสามารถวางแผน และกลยุทธ์เพื่อรับมือกับการเดินทางท่องเที่ยว การออกไปใช้ชีวิต ทำกิจกรรมนอกบ้านของกลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุด และยังช่วยเพิ่มโอกาสในการ “ฟื้นตัว” ของธุรกิจได้ด้วย