ธุรกิจร้านสะดวกซื้อเมืองไทยส่อแววเดือดอีกครั้ง ! หลังกลุ่ม “เซ็นทรัล” ดับเครื่องชน เข้าซื้อกิจการ “แฟมิลี่มาร์ท” เมืองไทยเต็ม 100% พร้อมประกาศรุกธุรกิจเต็มสูบ เดินหน้าพัฒนาธุรกิจโมเดลใหม่ตอบโจทย์ลูกค้ายุคนิวนอร์มอล
หากย้อนกลับไป “แฟมิลี่มาร์ท” มีต้นกำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่น โดยกลุ่ม “เซ็นทรัล” ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกเมืองไทยของตระกูลตระกูล “จิราธิวัฒน์” ได้อิมพอร์ตเข้ามาเปิดให้บริการในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี 2555 ผ่านการร่วมทุนระหว่างบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC กับ บริษัท Japan FamilyMart Co., Ltd. (JFM) บริษัทแม่ของแฟมิลี่มาร์ทในญี่ปุ่น ภายใต้ชื่อบริษัทร่วมทุน “เซ็นทรัลแฟมิลี่มาร์ท”
โดย CRC ส่งบริษัท เอสเอฟเอ็ม โฮลดิ้ง จำกัด (SFMH) เข้าไปถือหุ้นในสัดส่วน 50.65% และ บริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นอีก 0.35% ส่วนที่เหลือ 49% ถือโดย JFM ต่อมาเมื่อบริษัทแม่ต้องการถอนการลงทุนออกจากประเทศไทย CRC จึงตัดสินใจส่งบริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด เข้าไปซื้อหุ้นทั้งหมด 49% ของ JFM ส่งผลให้เวลานี้ CRC กลายเป็นผู้ถือหุ้นเต็ม 100% ได้สิทธิ์ในการบริหารแฟรนไชส์ “แฟมิลี่มาร์ท” ในเมืองไทยอย่างเต็มรูปแบบเพียงรายเดียว
สอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัทที่ต้องการมุ่งตอบสนองความต้องการของลูกค้าในทุกแพลตฟอร์มทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อให้เซ็นทรัลคงอยู่ในใจลูกค้าตลอดไป และแน่นอนว่าการถือหุ้นเต็ม 100% ในแฟมิลี่มาร์ทครั้งนี้จะทำให้การบริหารงานต่างๆ มีความคล่องตัว รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
โดยบริษัทมีแผนเดินหน้าขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการพัฒนาโมเดลธุรกิจ การให้บริการรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเพื่อสร้างจุดเด่นให้เป็นที่จดจำ และตอบโจทย์ทุกความต้องการของลูกค้า ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ร้านขายสินค้าทั่วๆ ไปเท่านั้น
ที่ผ่านมา ได้ขยายไลน์สินค้าใหม่ๆ เช่น อาหารพร้อมทาน มีมุมกาแฟสด มีการจัดโซนพื้นที่ให้ลูกค้าได้มาพบปะสังสรรค์ นั่งทำงาน นอกจากนี้ ยังมีบริการใหม่ๆ เช่น เครื่องซักผ้ายอดเหรียญตลอด 24 ชั่วโมง, ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ รวมทั้ง จับมือกับ “แกร็บ” ประเทศไทย โดยลูกค้าสามารถสั่งซื้อสินค้าผ่านแอพลิเคชั่น “GrabMart” ซึ่งจะจัดส่งตรงให้ถึงบ้าน
เชื่อว่าในไม่ช้านี้น่าจะได้เห็นอะไรใหม่ๆ อีกแน่นอน เพราะการระบาดของโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ดังนั้น ผู้ประกอบการจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคให้เข้ากับสมัย ซึ่งเชื่อว่ากลุ่มเซ็นทรัล คงมองเกมขาดและวางแผนไว้แล้ว ด้วยประสบการณ์ในการทำธุรกิจมานานกว่า 70 ปี น่าจะเข้าใจพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคคนไทยมากที่สุด
“จิ๊กซอว์” แต่ละตัวที่ปลุกปั้นขึ้นมา เมื่อนำมาต่อกันแล้ว ทำให้ภาพธุรกิจค้าปลีกของกลุ่มเซ็นทรัล ภายใต้ CRC แข็งแกร่งและครบเครื่องมากกว่าเจ้าอื่นๆ เพราะมีทุกสเกล ไล่มาตั้งแต่หน่วยเล็กที่สุดอย่าง “ร้านสะดวกซื้อ” แฟมิลี่มาร์ท, “ซุปเปอร์มาร์เก็ต” ท็อปส์, เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์, “ร้านขายสินค้าเฉพาะทาง” เช่น เพาเวอร์บาย, ไทวัสดุ, บ้าน แอนด์ บียอนด์ ไปจนถึง “ห้างสรรพสินค้า” เซ็นทรัล, โรบินสิน, รีนาเชนเต ในประเทศอิตาลี
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ต้องจับตาดูว่า CRC จะต่อยอด “แฟมิลี่มาร์ท” ให้เข้ากับเครือข่ายธุรกิจที่มีอยู่ได้มากน้อยแค่ไหน แต่ต้องยอมรับว่าการจะไปต่อกรกับคู่แข่งในตลาดคงไม่ใช่งานง่ายแน่นอน เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าสมรภูมิค้าปลีกเมืองไทยนั้นแข่งเดือดเหลือเกิน ต้องชิงไหวชิงพริบกันตลอดเวลา โดยเฉพาะในกลุ่มร้านสะดวกซื้อซึ่งเข้าถึงคนได้มากที่สุด แม้ยอดใช้จ่ายจะไม่เยอะ แต่เน้นที่ความถี่ ความสะดวกสบายในการใช้บริการ จึงกลายเป็นโมเดลธุรกิจที่ผูกพันกับสังคมไทย
ทำให้บรรดามหาเศรษฐีระดับเจ้าสัวตระกูลดังที่รวยที่สุด 1 ใน 5 ของประเทศ กระโดดลงมาเล่น ขอมีธุรกิจร้านสะดวกซื้อติดอยู่ในพอร์ตกันแทบทุกราย นำโดยกลุ่ม “ซีพี” ของ เจ้าสัว “ธนินท์ เจียรวนนท์”ถือเป็นเจ้าตลาดที่ทิ้งห่างคู่แข่งคนอื่นๆ หลายเท่าตัวจนแทบไม่เห็นฝุ่น ทุกถนนในเมืองไทยต้องมี “เซเว่น อีเลฟเว่น” ด้วยจำนวนสาขาที่มากถึง 11,983 สาขา ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2563 รวมทั้ง ยังได้สิทธิ์บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น ในกัมพูชาอีก 30 ปี
และหลังปิดดีลซื้อกิจการ “เทสโก้ โลตัส” ในไทยและมาเลเซีย ถือเป็นลูกคนสุดท้องที่กลับคืนสู่อ้อมอก ซึ่ง “เทสโก้ โลตัส” มีร้านสะดวกซื้อที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง “เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส” เกือบ 1,600 สาขา ทั่วประเทศ เรียกว่าเกินต้านจริงๆ
ส่วนกลุ่ม “ทีทีซี” ของเจ้าสัว “เจริญ สิริวัฒนภักดี” ขอสู้ด้วย “มินิ บิ๊กซี” แต่ยังตามอยู่ห่างๆ ด้วยสาขา 585 สาขา ขณะที่กลุ่ม “สหพัฒน์” ของตระกูล “โชควัฒนา” จับมือพันธมิตรญี่ปุ่นส่ง “ลอว์สัน 108” ลงสนามร้านสะดวกซื้อเมืองไทย แต่ดูยังไม่ตอบโจทย์ จึงต้องงัดกลยุทธ์เด็ดบุกขึ้นสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส หวังเจาะตลาดคนเมือง
กลับมาที่กลุ่ม “เซ็นทรัล” แม้ศึกนี้จะเหนื่อย แต่จะทิ้งไปเลยก็ไม่ได้ 1,000 สาขา ที่มีอยู่ต้องรีบเร่งเครื่อง ถือเป็นความท้าทายครั้งสำคัญหลังได้สิทธิ์เต็ม 100% ส่วนถามว่าดีลนี้จะเอื้อประโยชน์ให้ CRC แค่ไหน ? ถ้าคิดเป็นตัวเลขทางการเงิน คงไม่มาก เพราะสัดส่วนยอดขายน้อยมากไม่ถึง 10% เมื่อเทียบกับยอดขายของ CRC และปีที่ผ่านมา “แฟมิลี่มาร์ท” ยังขาดทุนอยู่กว่า 182 ล้านบาท จึงสะท้อนกลับมาที่ราคาหุ้น CRC ดูไม่ตอบรับกับข่าวนี้เท่าไหร่