เข้าเฟส 3 อย่างไร ให้ไทยไม่ระบาดระลอก 2

เข้าเฟส 3 อย่างไร ให้ไทยไม่ระบาดระลอก 2

การผ่อนปรนเฟส 3 วันที่ 1 มิ.ย. เพื่อให้ประชาชนดำเนินชีวิต ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พร้อมกับการอยู่ร่วมกับโควิด-19 จึงมีความจำเป็นที่รัฐบาล ผู้ประกอบการ และประชาชน จะต้องร่วมมือกันตั้งการ์ดไว้ให้สูง ป้องกันไม่ให้มีการระบาดระลอก 2

ผลสำรวจ กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งดำเนินการสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “คนไทยว่ายังไง…กับการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” เก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,205 คน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 57.9 เห็นว่า การต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน การล็อคดาวน์มีผลต่อการดำเนินชีวิต การทำงาน การเรียน ค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ขณะที่ร้อยละ 42.1 เห็นว่ามีผลค่อนข้างมากถึงมากที่สุด

การผ่อนปรนระยะ 3 และ 4 สถานที่ที่ประชาชนกังวลมากที่สุด ที่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 คือ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คิดเป็นร้อยละ 80.5 รองลงมาคือ สนามมวย สนามม้า สนามแข่งกีฬาต่างๆ คิดเป็นร้อยละ 77.6 และโรงภาพยนตร์ คิดเป็นร้อยละ 46.2 อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ร้อยละ 82.4 ยังคงเห็นด้วยกับการลดเวลาเคอร์ฟิวลงเหลือ 23.00 – 03.00 น. เพราะเวลาไม่ได้แตกต่างจากเดิมที่ 23.00 – 04.00 น. จะได้มีความยืดหยุ่นในการดำเนินชีวิตได้มากขึ้น

ก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณสุขได้ทำฉากทัศน์การผ่อนปรนมาตรการ สถานการณ์โควิด-19 จำนวน 3 ฉากทัศน์ ได้แก่ ฉากทัศน์ที่ 1 สถานการณ์ปัจจุบันที่มีการควบคุม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรการปิดกิจการ/กิจกรรมต่างๆคาดการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ 15 รายต่อวัน ผู้ติดเชื้อที่รายงาน 3 รายต่อวัน ความชุกผู้ป่วยวิกฤติที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ อยู่ห้องไอซียู 15 ราย สถานพยาบาลยังรองรับเพียงพอ

ฉากทัศน์ที่ 2 มีมาตรการผ่อนปรนกิจการ/กิจกรรมบ้าง คาดการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ 114 รายต่อวัน ผู้ติดเชื้อที่รายงาน 24 รายต่อวัน ความชุกผู้ป่วยวิกฤติ 105 ราย และ ฉากทัศน์ที่ 3 ซึ่งเป็นการผ่อนปรนมากๆ เปิดทุกกิจการ/กิจกรรม คาดการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ 398 รายต่อวัน ผู้ติดเชื้อที่รายงาน 65 รายต่อวัน ความชุกผู้ป่วยวิกฤติ 289 ราย

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัว ระบุว่าโควิด-19 จะเกิดระบาดระลอก 2 หรือไม่ในปีนี้สรุปได้ว่าถึงแม้ว่าในประเทศไทยจะไม่พบการระบาดในขณะนี้ เกิดขึ้นระหว่างคนไทยสู่คนไทย จะประมาทไม่ได้ ในขณะที่เชื้อตัวนี้ยังอยู่มาก รอบบ้านไม่ว่าจะเป็นทางใต้ ทางตะวันตกอินเดียและบังคลาเทศ กำลังระบาดอย่างหนัก มาตรการในการป้องกันการเดินทางเข้าประเทศไทย จะต้องไม่ให้มีรูรั่ว หรือถ้าจะลอดมาแล้วต้องหาให้เจอ การค้นหาสิ่งที่มองไม่เห็น เป็นเรื่องยากพอสมควร

"อย่างที่เคยบอก เราวิ่งมาราธอน ไม่ใช่วิ่ง 100 เมตร แล้วถึงเส้นชัย ขณะนี้วิ่งมาเพียงไม่กี่กิโลเมตร ทางยังอีกยาวไกล การผ่อนปรน เพื่อให้มีทางหายใจ ก็มีความจำเป็น ไม่เช่นนั้นก็จะวิ่งไม่ถึงจุดหมาย สิ่งสำคัญจะต้องอยู่บนจุดสมดุล ไม่ให้เกิดโรคจำนวนมากหรือการระบาดขึ้น และทุกคนมีทางหายใจได้ เพื่อให้ถึงเป้าหมายในระยะทางอีกไกล"ศ.นพ.ยง กล่าว 

อย่างไรก็ตามเรามีมาตรการในการป้องกันเต็มที่ ตั้งแต่เรื่องสุขอนามัยการล้างมือการรับประทานอาหารที่สุกสะอาด การกำหนดระยะห่างของบุคคล ให้มีการสัมผัสกันให้น้อยที่สุด หลีกเลี่ยงการเข้าชุมชน หรือการรวมกันเป็นหมู่มาก เมื่อมีมาตรการผ่อนปรน เป็นระยะออกมา ทุกคนจะต้องเคร่งครัดในการปฏิบัติให้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แสดงความห่วงใยผ่านผ่านช่องยูทูป Mahidol Channel ว่ามีโอกาสที่จะมีการระบาด 2 หากคนไทยมีภูมิต้านทานจนครอบคลุม 2 ใน 3 ของคนไทยทั้งประเทศ แต่การที่เมืองไทยจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมนั้น มีการคำนวณคร่าวๆไว้ 18-24 เดือน โควิด-19 อยู่อีกระยะหนึ่ง และหายไปเมื่อวัคซีนออก จะทำให้คลื่นลูกที่สองรุนแรงหรือไม่ ขึ้นกับคน 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้บริหารประเทศ ต้องค่อยๆ ผ่อนทุก 14 วัน อย่าปกปิดความจริง ถัดมา คือ กลุ่มผู้ประกอบการ ต้องช่วยกันทำตามกฏระเบียบ และ กลุ่มสุดท้าย คือ คนไทยต้องระวังตัวเอง ทั้งสามกลุ่มต้องช่วยกัน

บทความ ความรู้เรื่อง COVID-19 (ตอนที่ 65) โดย นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ” รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ได้ยกตัวอย่างประเทศที่สามารถควบคุมโรคให้สงบรอบที่ 1 ได้ดีนานนับเดือน เช่น ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ แต่เมื่อมีความจำเป็นต้องผ่อนคลายมาตรการลง และประชาชนเริ่มมีวินัยลดลง เมื่อติดตามดูอย่างใกล้ชิด พบว่าระยะเวลา 14 วันที่จะประเมินผลหลังมีมาตรการนั้นสั้นเกินไป

ในที่สุดทั้งสองประเทศดังกล่าวเกิดการระบาดรอบ 2 ขึ้น ด้วยความรวดเร็วรุนแรง โดย ประเทศสิงคโปร์ ในวันที่ 1 เมษายน มีผู้ป่วย 926 ราย และในวันที่ 26 เมษายน มีผู้ป่วยถึง 32,343 ราย ขณะที่ ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 1 เมษายน มีผู้ป่วย 2,000 ราย และในวันที่ 26 เมษายน มีผู้ป่วยถึง 16,581 รายภายในชั่วเวลาไม่ถึง 2 เดือนสิงคโปร์มีผู้ติดเชื้อเพิ่มถึง 34.92 เท่าตัว และญี่ปุ่นมีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 8.29 เท่าตัว มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย แต่ปัจจัยหนึ่งที่มีผลด้วยแน่นอน คือ การลดหย่อนของวินัยในการป้องกันตนเอง (การ์ดตก)

การผ่อนคลายระยะที่ 3 ในครั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชนทุกคนทุกภาคส่วนปฏิบัติการตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และเว้นระยะห่างทางสังคม เป็นสิ่งที่ทุกคนร่วมมือกันได้ ทั้งภาครัฐ  เอกชน และประชาชน  ที่จะทำให้ทั้งการดำเนินชีวิต และธุรกิจเดินหน้าไปได้ ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ที่สำคัญการ์ดห้ามตก จะช่วยให้คนไทยก้าวผ่านพ้นวิกฤติในครั้งนี้ ไปด้วยกัน

159085687034