'เพื่อไทย' เตรียมเสนอร่างพ.ร.บ.แก้พ.ร.ก.ให้สภาตรวจสอบ 'เงินกู้'
"เพื่อไทย" เสนอร่างพ.ร.บ.รื้อพ.ร.ก.เปิดทางสภาตรวจสอบ "เงินกู้" หวั่นเกิดทุจริตรุนแรง
เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.63 ที่พรรคเพื่อไทย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย และนายโภคิน พลกุล คณะกรรมการยุทธศาตร์ ร่วมกันแถลง โดยคุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า วิกฤตครั้งนี้ต้องละความเห็นแก่ตัวลง เพราะไม่ใช่เรื่องที่เป็นประโยชน์ของรัฐบาล และพรรคการเมือง แต่เป็นประโยชน์ของประชาชน ตลอดเวลาที่มีนายกรัฐมนตรี ชื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้ ซึ่งที่บอกว่า มีความจริงใจ เราก็ไม่เห็นความจริงใจของนายกฯ เพราะจากการเสนอพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ทั้ง 3 ฉบับ ไม่ได้มีรายละเอียดที่จะทำให้เห็นไว่าจะเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจได้
"เงินจำนวนนี้คือน้ำมันถังสุดท้าย แล้วในการติดเครื่องยนต์ประเทศไทย แต่วันนี้คนที่ไม่ตายไม่ได้ถูกเยียวยา แต่คนที่ตายไปแล้วกลับได้รับการเยียวยา ทุกอย่างสับสนอลหม่านไปหมด วันนี้คุณมองโลกข้างหน้ายังไม่ออกเลย เราจึงเห็นว่า มีความจำเป็นที่จะต้องแก้พ.ร.ก.ฉบับนี้ให้มีการตรวจสอบได้ ให้มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญ และให้มีการรายงานการใช้เงินทุก 3 เดือน ถ้าพล.อ.ประยุทธ์บอกว่ามีความจริงใจ ก็ช่วยพิสูจน์ความจริงใจในการสนับสนุนข้อเรียกร้องของฝ่ายค้านทั้ง 3 ข้อ เพื่อให้การใช้เงินกู้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่รั่วไหล ถ้าเงินก้อนนี้ไม่สามารถรีสตาร์ตประเทศไทยใน 3 เดือนนี้ได้ คนไทยจะลำบากมาก ทั้งนี้ นี่คือข้อแนะนำด้วยความจริงใจให้รัฐบาลด้วย" คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว
ด้านนายโภคิน กล่าวว่า การเปิดกิจการของรัฐบาลทำเป็นช่วงๆ การทำมาหากินของประชาชนจึงไม่ได้ต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาประชาชนเสียสละ เสียเสรีภาพ ตกงาน และยังไม่มีความมั่นใจอนาคตว่าจะเป็นอย่างไรต่อ ซึ่งการใช้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท ไม่มีความชัดเจน เพราะการตรวจสอบทำได้ยาก ดังนั้นหากการใช้เงินทำไม่สำร็จคนที่จะต้องรับผิดชอบคือ พล.อ.ประยุทธ์
นอกจากนี้ การใช้งบประมาณในส่วนนี้อาจจะมีการหาประโยชน์ทางการเมือง ใช้เงินเอื้อพวกพ้องในรูปแบบต่างๆ เช่น ระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง การตั้งราคาเกินจริง ซึ่งอาจจะมีความไม่ชอบมาพากล พรรคเพื่อไทยจึงเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาตรวจสอบ พร้อมกับเสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.ก.กู้เงิน เพื่อให้รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย รายงานการดำเนินการการใช้เงินต่อสภาทุก 3 เดือน รวมถึงให้ข้อมูลตัวเลขการใช้เงิน เช่น การซื้อหุ้นกู้ ทุก 15 วัน หรือ 1 เดือน ซึ่งเราจะยอมให้เงินกู้ถูกปู้ยี้ปู้ยำ นอกจากนี้เรามีการผลักดันกฎหมายสภาเอสเอ็มอี และคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาในเดือนมิถุนายน ซึ่งอยากให้มีการพิจารณา 3 วาระรวด
นายโภคิน กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้จะมีการนิยามเอสเอ็มอีไว้ชัดเจน เพื่อให้มีการรวมตัว สร้างมาตรฐานร่วมกัน เข้าถึงสินเชื่อ และมีความต้องการแบบไหน
นอกจากนี้ในส่วนของ พ.รบ. แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.ก. กู้เงินอยู่รอยู่ระหว่างการยกร่าง ซึ่งเราเห็นว่า คณะกรรมการกลั่นกรองควรมีคนจากสภา เข้ามาร่วมด้วย เช่น มีตัวแทนจากรัฐบาล ฝ่ายค้าน เข้าไปมีส่วนร่วม และต้องรายงานสภาทุก 3 เดือน รวมถึงในส.ส. 1 ใน 5 สามารถเข้าชื่อกันขอข้อมูลจากรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยได้ โดยส่งเรื่องผ่านประธานสภา และต้องให้ข้อมูลภายใน 7 วัน เพื่อให้ฝ่ายค้านได้ร่วมตรวจสอบ ส่วนที่จะให้องค์กรอิสระเข้ามาตรวจสอบได้นั้น ต้องเป็นกรณีร้องเรียน กว่าจะรับเรื่อง ตั้งอนุกรรมการตรวจสอบ เงินก็หมดประเทศแล้ว ซึ่งเงินนี้เป็นก้อนสำคัญ ถ้าผิดพลาดก็จะไปทั้งประเทศ ถ้าจริงใจใช้เงินอย่างสุจริต ก็ไม่ควรที่จะกลัวการตรวจสอบ