อัพทักษะดิจิทัลเด็กอาชีวะพร้อมทำงานวิถีชีวิตใหม่

อัพทักษะดิจิทัลเด็กอาชีวะพร้อมทำงานวิถีชีวิตใหม่

สอศ. จับมือ ICDL Thailand ยกระดับความรู้และทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลต่อยอดเรียนรู้ พร้อมทำงานในวิถีชีวิตใหม่ (new Normal) แนะครู สถานศึกษาสื่อสารกับนักเรียนผ่านเฟสบุ๊ค และไลน์

นโยบายในการพัฒนาทักษะดิจิทัลเพื่อเตรียมความพร้อมด้านกำลังคนในยุคดิจิทัล โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)      ได้ลงนามความร่วมมือกับ บริษัท ICDL Thailand Company Limited  หรือ (ICDL Thailand) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็น National Operator ของมูลนิธิ ICDL Foundation  ซึ่งทำหน้าที่ดูแลบริหารงานวุฒิบัตรรับรองทักษะดิจิทัล มาตรฐานสากล ICDL ทั้งหมดในประเทศไทย

เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนสนับสนุนการยกระดับความรู้และทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลพื้นฐานที่จำเป็น และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูง ให้แก่ นักเรียนนักศึกษา ครู อาจารย์ และบุคลากรของ สอศ.

วันนี้ ( 4 มิถุนายน 2563) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมมือกับ บริษัท ICDL Thailand Company Limited  (ICDL Thailand) ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือของทั้ 2 หน่วยงาน เพื่อพัฒนาและยกระดับด้านทักษะดิจิทัลพื้นฐาน  ที่จำเป็นและเทคโนโลยีดิจิทัลชั้นสูงให้ผู้เรียน  ครู และบุคลากรสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา 

159124279273

นายณัฎฐพล  ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่าความร่วมมือครั้งนี้ จะทำให้นักศึกษา และบุคลากรอาชีวะสามารถใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพในระดับมาตรฐานสากล ซึ่งจะมีส่วนส่งเสริมให้ สอศ. เป็นผู้นำด้านการพัฒนากำลังคนดิจิทัลที่มีสมรรถนะสูงจากภาคการศึกษาระดับอาชีวศึกษา ให้มีขีดความสามารถที่ตอบโจทย์ภาคการผลิตสู่ New S-Curve ที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

รวมถึง เพื่อสร้างและพัฒนาผู้บริหาร ครู นักเรียน นักศึกษา และบุคลากรทางการศึกษา ให้สอดรับกับการพัฒนามาตรฐานทักษะและความรู้ด้านดิจิทัล ให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจ และสังคมยุคใหม่ ของการเป็นพลเมืองในศตวรรษที่ 21 ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคมของการพัฒนาประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0

นายณรงค์ แผ้วพลสง  เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่านักศึกษาและบุคลากรของอาชีวะ จะได้รับการยกระดับทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ได้มาตรฐานสากล ด้วยวุฒิบัตรรับรองความสามารถด้านดิจิทัลตามมาตรฐานสากล ICDL รวมทั้งส่งเสริมให้มีรับรองหลักสูตร และการจัดทำวุฒิบัตรร่วมกัน

อีกทั้งการเพิ่มเติม หรือปรับปรุงหลักสูตร (เฉพาะกิจ) ที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีปัจจุบัน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาครู บุคลากรด้านการศึกษา และบัณฑิตพันธุ์ใหม่ในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ  รวมถึงการยกระดับสำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นหน่วยงานในกำกับของ สอศ. ให้เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาและทดสอบทักษะดิจิทัลมาตรฐานสากล ICDL

พร้อมทั้งการพัฒนาวิทยากรต้นแบบมาตรฐานสากลด้านทักษะดิจิทัลตามมาตรฐานสากล ICDL ให้กับบุคลากรของอาชีวศึกษา (Train the Trainer) เพื่อช่วยสนับสนุนในการขยายผลการพัฒนาทักษะดิจิทัล และจะดำเนินการศึกษาด้านมาตรฐานร่วมกันเพื่อทำการเทียบเคียง และรับรองหลักสูตรตามกรอบมาตรฐานทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ได้การรับรองมาตรฐานระดับสากล

159124388542

ในการจัดทำระดับทักษะดิจิทัลสำหรับผู้บริหารสถานศึกษา ครู นักเรียน นักศึกษา และบุคลากรการศึกษา สำหรับสถานศึกษาในสังกัด สอศ. เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนา อีกทั้งนำมาตรฐานนี้มาเป็นระบบประเมิน และรับรองทักษะด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสร้างความต่อเนื่องและยั่งยืน

ดร.สุรพงษ์ เอิมอุทัย สำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา สอศ. กล่าวว่าได้มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนนักศึกษา เรามีนักเรียนทั่วประเทศเกือบ1 ล้านคน ซึ่งในรอบที่ 1 มีนักเรียนเข้ามาเรียน จัด 1 หลักสูตร แต่ทางICDL 3 หลักสูตร ซึ่งมีนักเรียนลงทะเบียน 86,519 คน คนจากทั่วประเทศ แบ่งเป็นนักเรียนในสถานศึกษาของรัฐ 77.4%และสถานศึกษาเอกชน 22.6% ระดับการศึกษา มีระดับปวช. 67.9% ปวส.31% และที่เหลือระดับปริญญาตรี ซึ่งจากการสรุปผลการเรียนรู้ของเด็ก พบว่าเด็กจะเรียนรู้ระหว่าง 9.00-12.00 น. เด็กรู้จักโครงการนี้จากเฟสบุ๊ค และไลน์แอปพลิเคชั่น  ดังนั้น ถ้าครู สถานศึกษาต้องการสื่อสารกับนักเรียน ต้องผ่านเฟสบุ๊ค และไลน์

นอกจากนั้น วิทยาลัยกว่า 90% อยากให้นักเรียนทดสอบเพื่อเข้าวัดสมรรถะทางเทคโนโลยีดิจิทัลกับ ICDL และนักเรียน66% ก็ต้องการเข้าร่วมโครงการเพราะอยากจบการศึกษา สมัครงาน โอกาสได้ตำแหน่งงานที่ดี และโอกาสในเงินเดือนที่ดี

อย่างไรก็ตาม  มาตรฐานสากลทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ICDL เป็นวุฒิบัตรและหลักสูตรที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดำเนินงานโดย ICDL Foundation ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ไม่หวังผลกำไร ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการด้านดิจิทัลแห่งสหภาพยุโรป (European Union: EU)    

159124333884         

โดยมีพันธกิจที่จะยกระดับทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้กับประชากรโลก วุฒิบัตร ICDL เป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศทั่วโลกว่าเป็นผู้นำอันดับหนึ่งของโลกเรื่องคุณภาพมาตรฐานของการประเมินและรับรองความรู้ความสามารถด้านดิจิทัล และด้านหลักสูตรพัฒนาทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยอยู่ในกรอบมาตรฐานคุณสมบัติแห่งชาติ (National Qualification Framework) ของนานาประเทศทั่วโลก

ปัจจุบัน ICDL ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำอันดับหนึ่งเรื่องมาตรฐานที่มีคุณภาพด้านวุฒิบัตรวัดระดับความรู้ความสามารถด้านทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล  โดยได้รับการลงนามรับรองจากหน่วยงาน และสมาคมด้านคอมพิวเตอร์ต่างๆ จากทั่วโลก รวมทั้งสหประชาชาติ ยูเนสโก หน่วยงานด้านการศึกษาและบริษัทชั้นนำทั่วโลก

โปรแกรม ICDL ได้นำมาใช้อย่างกว้างขวาง กว่า 150 ประเทศทั่วโลก ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ กว่า 42 ภาษา มีจำนวนศูนย์สอบทั่วโลกกว่า 25,000 ศูนย์ รวมถึงศูนย์สอบในประเทศไทยกว่า 30 แห่ง และมีผู้ที่ลงทะเบียนสอบแล้วถึง 15 ล้านคน