กนง.จับตา ครัวเรือน-ธุรกิจ ผิดนัดชำระหนี้พุ่ง หวั่น กระเทือนทั้งระบบศก.
กนง.เปิดรายงานผลประชุมกนง.รอบ 20พ.ค. แนะจับตา ความเสี่นงด้านสภาพคล่อง ความมั่นคงทางการเงิน ของครัวเรือนใกล้ชิด หวั่นหากเกิดผิดนัดชำระหนี้เป็นวงกว้าง อาจกระทบแบงก์-นอนแบงก์ กองทุนรวม สหกรณ์ ย้อนกลับมากระทบระบบเศรษฐกิจได้
ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)มีการออก รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2563 โดยระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มหดตัวในปีนี้ส่งผลให้เสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางมากขึ้น จำนวนครัวเรือนและธุรกิจที่มีความเสี่ยงด้านความสามารถในการชำระหนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
โดยเฉพาะหลังมาตรการช่วยเหลือสภาพคล่องของภาครัฐจะทยอยสิ้นสุดลง ทั้งนี้ ธุรกิจโรงแรม ภัตตาคาร และสายการบิน ได้รับผลกระทบมากจาก COVID-19
ขณะที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ที่ลดลงจากทั้งในและต่างประเทศ ดัชนีราคาอาคารชุดเริ่มทรงตัวหลังจากที่ปรับสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ผู้ประกอบการลดการเปิดโครงการใหม่ และเร่งส่งเสริมการขายเพื่อระบายอุปทานคงค้าง
คณะกรรมการฯ เห็นว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่ระดมทุนผ่านทั้งสินเชื่อ ธพ. และตราสารหนี้ภาคเอกชน อีกทั้งมีความเชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจอื่นสูง เช่น ธุรกิจก่อสร้าง จึงควรติดตามภาวะอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (liquidity risk) และด้านความมั่นคงทางการเงิน (solvency risk) ของครัวเรือนและธุรกิจอย่างใกล้ชิดเพราะหากเกิดการผิดนัดชำระหนี้เป็นวงกว้าง อาจส่งผลกระทบต่อผู้ให้กู้ ทั้ง ธพ. สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (non-banks) กองทุนรวม สหกรณ์ออมทรัพย์ และย้อนกลับมากระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้
อย่างไรก็ดี ระบบสถาบันการเงินโดยรวมยังมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง สามารถรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ได้
นอกจากนี้ คณะกรรมการ เห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่อาจได้รับผลกระทบจากการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนตลอดจนดูแลสภาพคล่องและกลไกการทำงานของระบบสถาบันการเงินให้มีเสถียรภาพและกระจายตัวไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ
ภาวะตลาดการเงิน ตลาดการเงินมีเสถียรภาพมากขึ้นหลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพตลาดการเงิน หลัง จัดตั้งกลไกช่วยเหลือกองทุนรวมที่ได้รับผลกระทบจากการขาดสภาพคล่องในตลาดการเงิน (Mutual Fund Liquidity Facility: MFLF) รวมทั้งจัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (Corporate Bond Stabilization Fund: BSF)
ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทแข็งค่าขึ้นเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ.และสกุลเงินภูมิภาค สะท้อนจากดัชนีค่าเงินบาท (nominal effective exchange rate: NEER) ที่ปรับเพิ่มขึ้น
โดยนักลงทุนเริ่มลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้น (risk-on sentiment) หลังสถานการณ์การระบาดCOVID-19 ปรับดีขึ้นและหลายประเทศรวมถึงไทยเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด
ประกอบกับการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นของธนาคารกลางกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักในช่วงที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติจึงเริ่มกลับเข้ามาลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของไทย แต่ยังคงขายสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ไทย
นอกจากนี้ เงินบาทยังได้รับแรงกดดันจากการส่งออกทองคำที่สูงขึ้นตามทิศทางราคาทองคำอีกด้วย ในระยะข้างหน้า ตลาดการเงินโลกยังมีแนวโน้มผันผวน เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังมีปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอนอยู่มาก
คณะกรรมการฯ กังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่อาจกลับมาแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ตลาดการเงินและตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด รวมถึงติดตามผลของมาตรการผ่อนคลายเงินทุนเคลื่อนย้ายขาออกที่ได้ดำเนินการไป และศึกษาถึงมาตรการที่จะลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทจากการส่งออกทองคำด้วย
ภาวะเศรษฐกิจในประเทศและเสถียรภาพระบบการเงิน เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้ ส่งออกมีแนวโน้มหดตัวมากกว่าที่คาดการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน มีแนวโน้มหดตัว
ขณะที่ การใช้จ่ายภาครัฐ มีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าที่ประเมินไว้ จากการขยายกรอบวงเงินมาตรการดูแลและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบระยะที่ 1และ 2 และออกมาตรการใหม่ระยะที่ 3รวมถึงเม็ดเงินจากการออกพระราชกำหนด 1 ล้านล้านบาท
คณะกรรมการฯ อภิปรายอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าท่ามกลางความไม่แน่นอนสูง และวิเคราะห์หารือเกี่ยวกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น (scenario analysis) จากปัจจัยสำคัญต่าง ๆ
ได้แก่ (1) แนวโน้มเศรษฐกิจคู่ค้าและการระบาดในต่างประเทศ รวมถึงผลสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนและยารักษา (2) การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดและโอกาสที่จะเกิดการระบาดรอบสองในประเทศ และ (3) ประสิทธิผลของมาตรการด้านการคลัง การเงิน และสินเชื่อ โดยต้องออกใช้ให้ตรงกลุ่มเป้าหมายและทันการณ์เพื่อสนับสนุนการจ้างงานและธุรกิจSMEsให้ดำเนินไปได้ต่อเนื่อง
คณะกรรมการฯ กังวลต่อแนวโน้มการจ้างงานที่จะลดลงมากและอาจใช้เวลานานกว่าจะกลับมาเป็นปกติ ทั้งในกลุ่มลูกจ้างและผู้จ้างงานตนเอง (self-employed) โดยแรงงานบางส่วนอาจว่างงานชั่วคราวในช่วงที่มีมาตรการควบคุมการระบาด
แต่แรงงานบางส่วนอาจว่างงานถาวรเนื่องจากธุรกิจประสบปัญหาด้านฐานะทางการเงินจนปิดกิจการ ลดการจ้างงานตามอุปสงค์ที่ลดลง หรือปรับตัวโดยใช้เทคโนโลยีทดแทนแรงงาน (automation) มากขึ้น กลุ่มนักศึกษาจบใหม่จะหางานยากขึ้น
ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและศักยภาพการเติบโตในระยะยาวลดต่ำลง (economic scars) จึงเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดแรงงานอย่างใกล้ชิด
ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง จากอุปสงค์ในประเทศที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจและผลของมาตรการบรรเทาค่าครองชีพของภาครัฐ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังมีความเสี่ยงด้านต่ำสอดคล้องกับความเสี่ยงของเศรษฐกิจและราคาน้ำมันดิบ
คณะกรรมการฯ เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบเป็นผลชั่วคราวจากราคาพลังงานเป็นสำคัญ และการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย จึงไม่มีความเสี่ยงต่อภาวะเงินฝืด (deflation risk)
ภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศ เศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้จากการระบาดของ COVID-19 และมาตรการควบคุมการระบาดทั่วโลก ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างงานได้รับผลกระทบ เศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลักและเศรษฐกิจเอเชีย (ไม่รวมจีน) เข้าสู่ภาวะถดถอย การผลิตและการส่งออกหดตัวตามอุปสงค์โลก
เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มขยายตัวต่ำ แม้ทางการจีนผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดแต่ยังคงใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับดีขึ้นบ้างแต่ยังต่ำกว่าปกติทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ทั่วโลกได้ออกมาตรการการเงินการคลังเพื่อเยียวยาและบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี การดำเนินนโยบายการคลังของประเทศอุตสาหกรรมหลักหลายประเทศจะมีข้อจำกัดมากขึ้น สะท้อนจากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่สูงขึ้น
สำหรับการดำเนินนโยบายการเงิน ธนาคารกลางประเทศอุตสาหกรรมหลักคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำมาก และขยายมาตรการซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน(asset purchases) รวมถึงมาตรการให้กู้ยืมเงิน (lending facilities) เพิ่มเติมตามที่ได้ประกาศไว้
ขณะที่ธนาคารกลางในภูมิภาคหลายแห่งผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม อาทิ ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ธนาคารกลางสิงคโปร์ผ่อนคลายกรอบการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ ธนาคารกลางส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายมากขึ้นในระยะต่อไป
คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีโอกาสหดตัวมากกว่าคาดและฟื้นตัวช้า จากการระบาดของ COVID-19 ที่อาจรุนแรงขึ้นในบางประเทศหรือกลับมารอบสองในประเทศที่เริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดแล้ว รวมถึงยังมีความเสี่ยงอื่น ๆ
ได้แก่ (1) การกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่อาจกลับมาทวีความรุนแรงขึ้น (2) ความเปราะบางของเสถียรภาพระบบการเงินโลกทั้งในและนอกภาคการเงิน
เช่น ครัวเรือนและธุรกิจอาจมีความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางการเงิน (solvency risk) หรือมีการเร่งขายสินทรัพย์เป็นจำนวนมากส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ลดลงเร็ว(distressed assets) และกลับมากระทบภาคเศรษฐกิจจริงได้ (3) ความผันผวนของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ และ (4) ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์
โดย คณะกรรมการฯ จะติดตามการระบาดของ COVID-19 ในต่างประเทศและความเสี่ยงต่าง ๆ ข้างต้นอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและความผันผวนในตลาดการเงินโลก ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องมายังเศรษฐกิจไทย
ด้านการดำเนินนโยบายการเงินคณะกรรมการฯ มีมติ 4 ต่อ 3 เสียงให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 0.75 เป็นร้อยละ 0.50 ต่อปี ขณะที่กรรมการ 3 ท่านเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.75 ต่อปี
โดยคณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวกว่าประมาณการเดิมตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดทั่วโลก ส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและศักยภาพการเติบโตในระยะยาวลดต่ำลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบกว่าที่ประเมินไว้
กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นจะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้นโดยปัจจัยลบดังกล่าวจะฉุดรั้งเศรษฐกิจต่อไปอีกระยะ จึงควรผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อเนื่องเพื่อไม่ให้การดำเนินนโยบายล่าช้าเกินไป และให้มีประสิทธิผลไปยังภาคเศรษฐกิจจริงได้ทันการณ์ รวมทั้งสอดประสานกับมาตรการทางการคลังของรัฐบาลและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ได้ออกไปก่อนหน้านี้
ขณะที่กรรมการ 3 ท่าน เห็นควรให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้และให้เร่งรัดประสิทธิผลของมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ได้ประกาศไปแล้ว