รัฐบาลเดินหน้าเยียวยาช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ด้วยสารพัดมาตรการเร่งด่วน ทั้งการอัดฉีดเงินส่งตรงถึงมือผู้เดือดร้อน ปล่อยกู้ซอฟท์โลนดอกเบี้ยต่ำพิเศษเพื่อเสริมสภาพคล่อง รักษาการจ้างงาน พร้อมพักชำระหนี้ ยืดหนี
รวมไปถึงมาตรการทางด้านภาษี ซึ่งล่าสุดที่ประชุม ครม. ที่ผ่านมา ไฟเขียวปรับลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทุกประเภทลง 90% ทั้งที่ดินเพื่อการเกษตร, กลุ่มที่อยู่อาศัย, ที่ดินพาณิชยกรรม และที่รกร้างว่างเปล่า ดีเดย์วันที่ 1 ส.ค. 2563 โดยจะเริ่มทยอยส่งใบประเมินภาษีที่คำนวณใหม่ให้กับผู้เสียภาษีในเดือน มิ.ย. นี้
แม้ว่าการปรับลดภาษีครั้งนี้จะทำให้การจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศลดลงราว 36,000 ล้านบาท จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ 39,420 ล้านบาท หรือ เท่ากับว่าปีนี้จะจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าวได้เพียง 3,000 ล้านบาท แต่ก็แลกกับการช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจที่บาดเจ็บสาหัสจากพิษโควิด-19
แน่นอนว่านี่คือ “ข่าวดี” สำหรับประชาชนที่มีบ้านมีที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์เป็นของตนเอง รวมถึงภาคธุรกิจในหลายๆ กลุ่ม โดยเฉพาะผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งที่ดินถือเป็นต้นทุนหลักในการดำเนินธุรกิจ ดังนั้น เมื่อรัฐบาลลดภาษีให้ เท่ากับว่าเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายไปด้วย
แต่คำถามที่ตามมา คือ จะเอื้อประโยชน์ให้มากน้อยแค่ไหน? ข้อนี้ต้องยอมรับตามตรงว่า “คงไม่มาก” ดูแล้วเป็นปัจจัยบวกแค่ช่วงสั้นๆ 1 ปีเท่านั้น ขณะเดียวกันผู้ประกอบการในหลายๆ กลุ่มได้รับการช่วยเหลือด้านภาษีอยู่แล้ว หลังมีการประกาศใช้กฎหมายภาษีที่ดินใหม่มาตั้งแต่ช่วงต้นปี
ไล่ดูไปที่ละกลุ่ม เริ่มต้นจากกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ในฝั่งของผู้ประกอบการผลบวกค่อนข้างจำกัด เนื่องจากที่ดินที่อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการต้องเสียภาษีในอัตรา 0.3% แต่ปัจจุบันได้รับส่วนลด 90% ในช่วง 3 ปีแรกอยู่แล้ว แต่จะได้ประโยชน์ในส่วนของที่ดินเปล่าที่เป็น “แลนด์แบงก์” ซึ่งถูกเก็บภาษี 0.3% และเพิ่มขึ้น 0.3% ทุก 3 ปี จะได้รับการลดหย่อน 90% เช่น ที่ดินราคาประเมินอยู่ที่ 5 ล้านบาท เสียภาษี 0.3% หรือ 15,000 บาท แต่ได้ลด 90% เท่ากับว่าจะต้องชำระภาษีเพียง 1,500 บาท
ในฝั่งของผู้ซื้อผลประโยชน์ไม่ได้มากเช่นกัน เพราะปัจจุบันสำหรับบ้านหลักแรกที่ราคาประเมินไม่เกิน 50 ล้านบาท ได้รับการยกเว้นภาษีอยู่แล้ว ส่วนบ้านหลังที่ 2 ขึ้นไป จะถูกจัดเก็บตามขั้นบันได เช่น มูลค่าบ้าน/คอนโดฯ 1 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตรา 0.02% หรือ คิดเป็นภาษีที่ต้องจ่ายจริง 200 บาท แต่ได้ลด 90% เท่ากับว่าจะเสียภาษีเพียงแค่ 20 บาท ซึ่งดูแล้วยังไม่ได้จูงใจมากเพียงพอที่จะกระตุ้นกำลังซื้อใหม่ เพราะอัตราภาษีเดิมที่ต้องจ่ายค่อนข้างต่ำ
สำหรับกลุ่มอสังหาริมทรัพย์บริษัทที่จะได้รับอานิสงส์จากมาตรการนี้มากที่สุด คือ ผู้ประกอบการที่มีที่ดินเปล่าในมือจำนวนมาก เปิดหลายโครงการต่อปี ชื่อที่นึกถึงเป็นอันดับแรกหนี้ไม่พ้น บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PSH ด้วยยอดขายและโครงการที่มากที่สุดในอุตสาหกรรม ทั้งแนวราบ แนวสูง เจาะตลาดแทบทุกเซกเมนต์
รวมถึงกลุ่ม “อัศวโภคิน” ทั้งบริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH และ บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ QH เป็นรายใหญ่ที่ฐานะการเงินเข้มแข็ง มีที่ดินทำเลทองในมือจำนวนมาก แต่อีกมุมหนึ่งต้องยอมรับว่า ปัจจุบันดีเวลลอปเปอร์แทบทุกบริษัท ปรับกลยุทธ์ไม่เน้นถือครองที่ดินจำนวนมากเหมือนในอดีต เพราะมักจะมาพร้อมกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น
ส่วนกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมคงไม่ต่างกัน โดยบล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุว่า ประเมินผลบวกที่กลุ่มนิคมฯ จะได้รับค่อนข้างจำกัด โดยจะได้รับผลบวกจากที่ดินรอการขายที่เสียภาษีปีนี้ลดลง 90% จากเดิมที่ได้รับการผ่อนปรนปีแรกที่ 75% แต่ที่ดินรอการพัฒนาได้รับการลดหย่อนภาษี 90% อยู่แล้วตาม พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ออกมาเดือน ม.ค.
ประเมินว่าจะหนุนกำไรสุทธิปี 2563 ของบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA และ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA ได้ราว 0.1-0.3% อิงจากจำนวนที่ดินรอการขายและพัฒนาในประเทศที่ 1.16 หมื่นไร่ และ 8.5 พันไร่ ตามลำดับ และราคาขายเฉลี่ย 3 ล้านบาทต่อไร่