มฟล. ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติตกค้าง ในสถานการณ์โควิด-19
มฟล.โดยศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ รุกช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติตกค้างในพื้นที่ 3 ด้าน ได้แก่ การยังชีพ สุขภาพ และสิทธิแรงงาน ใน 3 หอพัก 180 คน เด็กอีก 36 คน ขยายผลสู่ 20 ชุมชน 1,000 คน ตั้งเป้า 5,000 คน จากจำนวนแรงงานข้ามชาติ 29,000 คน
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) โดยศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ ในฐานะสถาบันการศึกษาในพื้นที่ชายแดน ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติตกค้างในพื้นที่ เริ่มดำเนินการตั้งแต่กลางมีนาคม 2563 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ใน 3 รายการเบื้องต้น รายงานสถานการณ์โควิด-19 รายวัน เปิดเพจทางเฟสบุคเพื่อเพิ่มช่องทางการสื่อสารให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารโดยง่าย และตั้งศูนย์ประสานงานช่วยเหลือแรงานข้ามชาติร่วม 10 องค์กร ส่วนใหญ่เป็นภาคประชาสังคม-ประชาชน
พร้อม รุกให้ความช่วยเหลือ 3 ด้าน การยังชีพ สุขภาพ และสิทธิแรงงาน จากระยะเริ่มต้นดำเนินการใน 3 หอพัก 180 คน เด็กอีก 36 คน เมื่อเมษายนที่ผ่านมา ปัจจุบันขยายผลแล้ว 20 ชุมชน จำนวน 1,000 คน ตั้งเป้าไว้อย่างน้อยที่ 5,000 คน จากจำนวนแรงงานข้ามชาติทั้งหมด 29,000 คน
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาหรือโควิด-19 ศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติในพื้นที่จังหวัดเชียงราย โดย นายสืบสกุล กิจนุกร หัวหน้าศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยฯ ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม เข้าช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติที่ตกค้างและตกงานอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายท่ามกลางสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่มีการยุติกิจการชั่วคราวของผู้ประกอบการที่เป็นนายจ้าง ส่วนใหญ่พวกเขาขาดแคลนปัจจัยในการดำรงชีพ ขาดโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสำคัญขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพหรือการได้รับสิทธิแรงงามตามที่ควรได้รับ จากช่องว่างบางประการทำให้พวกเขากลายเป็นกลุ่มที่ถูกหลงลืม เริ่มดำเนินการให้ความช่วยเหลือตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2563 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งมีหน้าที่สร้างความรู้ผ่านงานวิจัย - งานวิชาการที่รับใช้สังคม ประกอบกับที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ชายแดน มีหลายเรื่องน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสินค้า บริการ การลงทุน การค้าขาย ที่สำคัญคือเรื่องผู้คนและวัฒนธรรม ศูนย์วิจัยฯ ซึ่งเห็นความสำคัญในการดูแลแรงงานข้ามชาติ ที่ได้เข้ามาช่วยสร้างเศรษฐกิจให้กับเชียงราย ทั้งจากการเข้ามาทำงานสร้างรายได้ ทั้งเป็นผู้จับจ่ายซื้อสินค้ามาเป็นระยะเวลาอย่างยาวนาน โดยในช่วงนี้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 แต่ยังพักอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายเพื่อรอสถานการณ์ฟื้นตัวพร้อมเข้าทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชียงรายต่อไป
ศูนย์วิจัยฯ และเครือข่าย จึงได้ดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ เริ่มจากการรายงานสถานการณ์โควิด-19 ในภาษาชาติพันธ์ต่างๆ กว่า 10 ภาษาพร้อมเผยแพร่ไปตามช่องทางการสื่อสารต่างๆ จัดทำเพจขึ้นมาเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารต่างๆ ได้แก่ เพจมิตรภาพข้ามแดน แม่สาย – ท่าขี้เหล็ก และโควิด19 กับแรงงานข้ามชาติเชียงราย ได้ร่วมกับเครือข่ายจัดตั้งโครงการ ‘ศูนย์ประสานงานให้ความช่วยเหลือแรงานข้ามชาติในจังหวัดเชียงราย ในสถานการณ์โควิด-19’ (ศบค)
จากนั้นลงพื้นที่ชุมชนแรงงานข้ามชาติทั่วจังหวัดเชียงราย ระยะแรก จำนวน 3 แห่ง มีแรงงานข้ามชาติ 180 คน และเด็ก จำนวน 36 คน เพื่อสำรวจข้อมูลและให้ความช่วยเหลือ 3 ด้านด้วยกัน คือ การยังชีพ สุขภาพ และสิทธิแรงงาน เริ่มด้วยการคัดกรองโควิด-19 เบื้องต้น เยียวยาด้วยการจัดหาข้าวสารอาหารแห้ง นมสำหรับเด็กทารก ช่วยประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องกรณีแรงงานมีประกันสังคมเพื่อขอรับเงินชดเชยตามกฏหมาย
จัดตั้งคณะทำงานของชุมชนดูแลกันเอง โดยร่วมกับ ดร.พิษณุรักษ์ กันทวี หัวหน้าสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มฟล. ฝึกอบรมให้ความรู้โควิด – 19 ให้ชุมชนแรงานที่มีคณะทำงาน เก็บข้อมูลคัดกรองโควิด-19ทุกวัน พร้อมทำงานร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง ปัจจุบันขยายผลเพิ่มเติม สำรวจเพิ่มเติมพร้อมให้ความช่วยเหลือไปแล้ว 20 ชุมชน จำนวน 1,000 คน โดยตั้งเป้าไว้ที่อย่างน้อย 5,000 คน จากจำนวนแรงงานข้ามชาติทั้งหมด 29,000 คน
นอกจากนี้ ยังได้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาตินี้ไปยังสื่อแขนงต่างๆ เพื่อรายงานการทำงานแก่ประชาชนและหน่วยงานเกี่ยวข้อง ทั้งในสื่อท้องถิ่นและส่วนกลาง เช่น เพจท้องถิ่นนิวส์ ชุมชนคนรักแม่สาย ที่นี่เชียงของ รักเชียงแสน เวียงเก่าเชียงแสน ที่เวียงแก่นนิวซีแลนด์ประเทศไทย กลุ่มข่าวเชียงรายนิวส์ v.2 กลุ่ม HUG เชียงราย มิตรภาพข้ามแดน แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เป็นต้น ทั้งยังได้ร่วมกับ ผศ.ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง หัวหน้าโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง บันทึกการทำงานด้วยภาพวาดเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับมิตรภาพของผู้คนในช่วงเวลาที่ยากลำบากร่วมกันนี้