'ฮ่องกง' ใต้กฎหมายความมั่นคงจีน เสี่ยงเอฟดีไอ 4 ล้านล้านดอลล์หด
หาก "ฮ่องกง" อยู่ภายใต้กฎหมายความมั่นคงจีนแล้ว ที่จะบังคับใช้อย่างเป็นทางการภายในปลายเดือน มิ.ย.2563 นี้ จะทำให้การลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ หรือเอฟดีไอ ของฮ่องกงที่มีมูลค่า 4 ล้านล้านดอลลาร์ หรือกว่าครึ่งของการลงทุนระหว่างจีนและประเทศอื่นๆ อาจจะลดลง
ปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองในฮ่องกง รวมถึงการที่จีนเตรียมใช้กฎหมายความมั่นคงในฮ่องกง โดยกฎหมายความมั่นคงนี้ กำหนดให้ผู้ใดกระทำการบั่นทอนอำนาจรัฐบาลปักกิ่งในดินแดนฮ่องกง ถือเป็นการก่ออาชญากรรม ทั้งยังให้อำนาจรัฐบาลกลางเข้าไปตั้งหน่วยงานความมั่นคงในฮ่องกงได้เป็นครั้งแรก
หลังจากร่างกฎหมายนี้ผ่านสภาแล้ว จะถูกส่งไปยังคณะกรรมการถาวรพรรคคอมมิวนิสต์ และจะบังคับใช้เป็นกฎหมายภายในปลายเดือน มิ.ย.นี้
กฎหมายฉบับใหม่ระบุให้การกระทำต่อไปนี้เป็นความผิดอาญา ได้แก่ แบ่งแยกฮ่องกงออกจากจีน ล้มล้างรัฐบาลปักกิ่ง และก่อการร้าย ใช้ความรุนแรง หรือกองกำลังภายนอกคุกคามกิจกรรมประชาชน อันถือเป็นการแทรกแซงกิจการภายในฮ่องกง
หากถึงเดือน มิ.ย.ที่มีการบังคับใช้กฎหมายนี้อย่างเป็นทางการ การลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (เอฟดีไอ) ของฮ่องกงที่มีมูลค่า 4 ล้านล้านดอลลาร์ หรือกว่าครึ่งของการลงทุนระหว่างจีนและประเทศอื่นๆ อาจจะลดลงเพราะความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองในฮ่องกงและหากเกิดขึ้นจริงฮ่องกงอาจจะกลายเป็นจุดเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก
แม้ธนาคารกลางจีน (พีบีโอซี) สนับสนุนการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงในฮ่องกง พร้อมยืนยันว่าจะให้การสนับสนุนฮ่องกงต่อไป ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางทางการเงินระหว่างประเทศ แถลงการณ์ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของพีบีโอซี ระบุว่า ธนาคารกลางจะดำเนินการเพื่อรักษาเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและการเงินของฮ่องกงต่อไป และจะสนับสนุนอย่างเต็มที่กับการใช้กฎหมายของรัฐบาลจีนเพื่อปกป้องความมั่นคงแห่งชาติในฮ่องกง
ด้านคณะกรรมการกำกับดูแลการธนาคารและประกันภัยของจีน (ซีบีไออาร์ซี) ออกแถลงการณ์ในทำนองเดียวกัน โดยระบุว่า การกระทำใดๆ ที่เป็นอันตรายต่อเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองด้านการเงินของฮ่องกงนั้น ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อผลประโยชน์ของสถาบันการเงินทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่สถาบันการเงินของสหรัฐ
แถลงการณ์ของซีบีไออาร์ซีมีขึ้น ในขณะที่ทั่วโลกกำลังวิตกว่า การที่จีนประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ในฮ่องกงนั้น จะส่งผลกระทบต่อสถานะการปกครองตนเองของฮ่องกง และบทบาทในการเป็นศูนย์กลางการเงินระดับโลก แต่ซีบีไออาร์ซียังคงยืนยันว่า ไม่มีเงินไหลออกจากฮ่องกงอย่างผิดปกติ และสกุลเงินดอลลาร์ฮ่องกงก็ยังคงมีเสถียรภาพ
ขณะนี้กำลังมีกระแสข่าวลือแพร่ไปทั่วสื่อสังคมออนไลน์ในฮ่องกงว่า หลังจากมีการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงของจีนแล้ว ฮ่องกงจะไม่มีเสถียรภาพ ไม่มีความเป็นอิสระทางการเมืองอีกต่อไป ทำให้ประชาชนแห่ไปแลกเงินดอลลาร์ฮ่องกงเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐที่บริษัทให้บริการแลกเปลี่ยนเงินตรา และมีชาวฮ่องกงมากขึ้นที่ยื่นเอกสารขอเป็นพลเมืองประเทศอื่น โดยสำนักงานที่ปรึกษาการอพยพย้ายถิ่นในฮ่องกง ซึ่งมีหน้าที่ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือการอพยพย้ายถิ่นไปยังประเทศอื่นของพลเมืองฮ่องกง ได้รับเอกสารที่ยื่นขอย้ายไปเป็นพลเมืองประเทศอื่นวันละ 100 คน
“เมื่อปีที่แล้ว มีคนจำนวนมากขู่ว่าจะอพยพย้ายถิ่นไปอยู่ประเทศอื่น แต่ก็เป็นแค่คำขู่ มาถึงวันนี้มีผู้คนจำนวนมากตัดสินใจยื่นเอกสารเพื่อขอไปอยู่ประเทศอื่น” เจ้าหน้าที่สำนักงานที่ปรึกษาการอพยพย้ายถิ่นของฮ่องกง กล่าวพร้อมทั้งให้ความเห็นว่า หากกระแสเงินทุนไหลออกจากฮ่องกงอย่างต่อเนื่องและผู้คนพากันอพยพย้ายถิ่นออกไป ย่อมส่งผลกระทบต่อสถานภาพศูนย์กลางทางการเงินและศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของฮ่องกงอย่างแน่นอน
ฮ่องกง ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งใน 4 เสือเศรษฐกิจแห่งเอเชีย หมายถึงชาติที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วอันได้แก่ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และฮ่องกง โดยประเทศเหล่านี้มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วและต่อเนื่องคือมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากกว่า 7% ต่อปี และมีการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วระหว่างในช่วงปี 2503-2533
รัฐบาลปักกิ่งมีกฎระเบียบด้านการลงทุนข้ามพรมแดนที่เข้มงวดมากภายใต้นโยบายควบคุมกระแสเงินทุน แต่ก็มีกระแสเงินทุนเข้า-ออกระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกงคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่ธุรกิจในจีนและในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกต่างขยายตัวผ่านการลงทุนในฮ่องกง ซึ่งหากว่ากระบวนการทำงานในฐานะศูนย์กลางทางการเงินของฮ่องกงสะดุด อาจจะส่งผลกระทบต่อกระแสเงินทุนหมุนเวียนทั่วโลกด้วย
นอกจากนี้ หากมองระยะยาว มีความเป็นไปได้สูงที่จีนแผ่นดินใหญ่จะได้รับผลกระทบหากสถานภาพของฮ่องกงในฐานะศูนย์กลางทางการเงินย่ำแย่ลง เนื่องจากบริษัทจีนจำนวนมากในจีนแผ่นดินใหญ่ใช้ฮ่องกงเป็นฐานขยายการดำเนินงานไปต่างประเทศ
ข้อมูลของทางการฮ่องกง ระบุว่า จำนวนบริษัทจีนที่มีสำนักงานใหญ่ในฮ่องกงเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตลอด 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 216 แห่งในปี 2562 ซึ่งบริษัทสัญชาติจีนที่กล่าวมา ครอบคลุมถึงบริษัทอาลีบาบา กรุ๊ป และบริษัทเทนเซ็นต์ ซึ่งต่างกฎจดทะเบียนที่ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง