ไทย 'ไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศ' ติดต่อกัน 15 วัน นับถอยหลังสู่ระยะเสี่ยงต่ำ 28 วัน
สธ.พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 2 ราย ใน State Quarantine ย้ำแม้ไม่พบผู้ป่วยในประเทศ 15 วัน ยังต้องเฝ้าระวังต่อให้ครบ 28 วัน หรือ 2 เท่าของระยะฟักตัว ตามหลักการระบาดวิทยา ห่วงพนักงานออฟฟิศแออัดช่วงพักกลางวัน แนะเหลื่อมเวลาพัก ซื้อกลับ หรือพกอาหารมาทาน
วันนี้ (9 มิถุนายน 2563) ที่กระทรวงสาธารณสุข แพทย์หญิงพรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงข่าว สถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ประจำวันนี้ ว่า ประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 2 ราย รวมยอดสะสม 3,121 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิตรายใหม่ เสียชีวิตรวม 58 ราย รักษาหายกลับบ้านเพิ่ม 1 ราย รวมรักษาหายกลับบ้าน 2,973 ราย ยังรักษาตัวในโรงพยาบาล 90 ราย ติดเชื้อในประเทศ 2,444 ราย ในสถานที่เฝ้าระวังที่รัฐจัดให้ 184 ราย ผู้ป่วยยืนยันจำแนกตามพื้นที่รักษา แบ่งเป็น กรุงเทพฯ นนทบุรี 1,744 ราย ภาคเหนือ 95 ราย ภาคกลาง 436 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 115 ราย และ ภาคใต้ 744 ราย
สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ วันที่ 9 มิถุนายน จำนวน 2 ราย ได้แก่ รายที่ 1 เดินทางมาจากประเทศซาอุดิอาระเบีย เป็นเพศชาย อายุ 22 ปี อาชีพนักศึกษา วันที่ 25 พ.ค. มีอาการไข้ ตรวจครั้งที่ 1 ผลไม่พบเชื้อ และตรวจครั้งที่ 2 วันที่ 7 มิ.ย. (14 วัน) ผลพบเชื้อ
รายที่ 2 เดินทางมาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ 1 ราย เป็นเพศหญิง อายุ 31 ปี อาชีพพนักงานบริษัท เดินทางถึงไทย วันที่ 3 มิ.ย. เข้าพักโรงแรมใน กทม. ตรวจวันที่ 3 มิ.ย. ผลบวกไม่ชัดเจน เข้ารับการรักษา ที่ รพ.นพรัตน์ กทม. วันที่ 8 มิ.ย. เก็บตัวอย่างส่งตรวจซ้ำ ผลพบเชื้อ
ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 จำแนกตามอาชีพ 2 สัปดาห์ล่าสุด ได้แก่ นักเรียนนักศึกษา 28.36% รับจ้างทั่วไป/ฟรีแลนซ์ 20.9% พนักงานประเภทนวด/สปา 19.4% พนักงานบริษัท/โรงงาน 17.91% นักท่องเที่ยว 2.99% งานช่าง 2.99% พ่อบ้าน/แม่บ้าน/ดูแลบ้าน 2.99% ว่างงาน 2.99% และ ค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว 1.49%
ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวเสริมว่า สถานการณ์ในประเทศตอนนี้ ผู้ติดเชื้อในประเทศ 0 ราย ติดต่อกันเป็นเวลา 15 วัน แต่ในหลักการระบาดวิทยาเราจะใช้ 2 เท่าของระยะการฟักตัวของโรค “ถึงจะเป็นระยะเสี่ยงต่ำ” ดังนั้น โควิด-19 มีระยะฟักตัว 14 วัน เราต้องเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นเป็น 28 วัน หลังจากนั้น ถึงจะเรียกว่าเป็นระยะเวลาเสี่ยงต่ำในการแพร่ระบาดของเชื้อซ้ำใหม่
“หลายประเทศทั่วโลก เช่น เกาหลีใต้ มีการระบาดระลอก 2 ในผับ โบสถ์ ศูนย์กระจายสินค้า ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการ เช่นเดียวกับ ผู้ป่วยที่พบใน State Quarantine ของไทย การตรวจพบเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการ ดังนั้น ในตอนนี้ต้องเฝ้าระวังเพื่อไม่ให้มีการแพร่ระบาดของเชื้อ สวมหน้ากาอนามัย ล้างมือบ่ายๆ และรักษาระยะห่างทางสังคม”
สถานการณ์ทั่วโลก 211 ประเทศ 2 เขตบริหารพิเศษ 2 เรือสำราญ มีผู้ติดเชื้อรวม 7,193,988 ราย อาการหนัก 53,797 ราย รักษาหาย 3,535,491 ราย เสียชีวิต 408,628 ราย โดย 10 อันดับ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา บลาซิล รัสเซีย สเปน อังกฤษ อินเดีย อิตาลี เปรู เยอรมนี และอิหร่าน ขณะที่ประเทศไทยอยู่อันดับที 83
ด้าน สถานการณ์ในฝังเอเชีย อันดับ 1 ยังคงเป็นอินเดีย ถัดมา ได้แก่ ปากีสถาน บังคลาเทศ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย ไทย เวียดนาม เมียนมา บรูไน กัมพูชา และ ลาว
- นิวซีแลนด์ ปลอดผู้ติดเชื้อโควิด-19
ประเด็นที่น่าสนใจในต่างประเทศ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ระบุว่า รัฐบาลนิวซีแลนด์ จะยุติมาตรการเว้นระยะทางสังคม หลังจากไม่มีผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 และผู้ติดเชื้อคนสุดท้าย รักษาหายแล้ว ทำให้นิวซีแลนด์ มีผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ ทั้งนี้ นิวซีแลนด์มีสถิติผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันและอาจติดเชื้อรวมทั้งสิ้น 1,504 ราย เสียชีวิต 22 ราย และไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นเวลา 17 วันแล้ว ทั้งนี้ รัฐบาลนิวซีแลนด์ดำเนินกลยุทธ์ เน้นกำจัดโรค แทนที่จะเน้นการยับยั้งการแพร่กระจายของไวรัส ด้วยการใช้มาตรการล็อคดาวน์ ที่เข้มงวดที่สุดในโลก และรัฐบาลขอให้ทุกคนอยู่บ้าน โดยอนุญาตให้มีการบริการเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
- เสนอแจกเงิน 3 พัน กระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ
ขณะที่ในประเทศไทย นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังและกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะใช้มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศไทย เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศหลังจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องออกมาตรการล็อคดาวน์ ซึ่งกระทบต่อการท่องเที่ยวและบริโภคในประเทศ โดยจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มมาตรการ คือ ช่วงเดือนก.ค. เป็นต้นไป ให้มีวันหยุดชดเชย วันสงกรานต์ ในช่วงเดือนก.ค. นี้
ทั้งนี้ มาตรการที่ออกมานั้น เช่น การแจกบัตรกำนัล การเสนอให้แจกเงินให้คนละ 3,000 บาท เพื่อท่องเที่ยวภายในประเทศ มาตรการที่ออกมาจะต้องให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม และร้านอาหาร เข้าร่วมจัดโปรโมชัน ลดราคาต่างๆ เพื่อสนับสนุนมาตรการภาครัฐ และจูงใจให้ประชาชนตัดสินใจท่องเที่ยวด้วย เช่น การลดราคาเพื่อให้คนเข้าใช้บริการมากขึ้น เป็นต้น
- ห่วงพนักงานออฟฟิศ แออัดช่วงพักเที่ยง
ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวย้ำว่า ขณะนี้เราเข้าสู่การผ่อนปรนระยะที่ 3 พนักงานบริษัท เริ่มกลับมาทำงาน ตอนนี้ปัญหาที่อาจจะพบได้ คือ การรับประทานอาหารกลางวัน การขายอาหารตามศูนย์อาหาร หรือสถานที่ขายอาหาร อาจจะมีความหนาแน่น ของผู้คนเพิ่มมากขึ้น สิ่งที่เราจะต้องร่วมมือกัน คือ ก่อนลงไปทานอาหารขอให้สวมหน้ากากอนามัย หรือ พกแอลกอฮอล์เจล และเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งอาจทำได้ยาก เนื่องจากมีคนไปทำงานมากขึ้น ศูนย์อาหารมีความแออัดมากขึ้น ดังนั้น หากเราเห็นว่ามีคนเยอะแล้ว อาจจะซื้อขึ้นมาทานที่ออฟฟิศ หรือพกอาหารมาจากที่บ้าน ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการบริษัทต่างๆ อาจจะต้องกำหนดเวลาพัก เหลื่อมเวลาการรับประทานอาหาร เพื่อลดความหนาแน่น สุดท้าย อย่าลืมสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่าย รักษาระยะห่างทางสังคม