เผยรพ.สธ.186 แห่งยังรับเงิน5%จากบริษัทยา

เผยรพ.สธ.186 แห่งยังรับเงิน5%จากบริษัทยา

เปิดข้อมูลรพ.สังกัดสธ. 186 แห่งยังรับเงินจากบริษัทยา รพศ./รพท.22 แห่ง รพช.164 แห่ง พบห่างกัน 8 เดือนจำนวนเพิ่มขึ้น 15 เท่า ชงกรมบัญชีกลางโอนเงินค่ายาตรงให้บริษัทยาเลี่ยงเก็บจากรพ. ปลัดสธ.ลุยตรวจสอบ ส่งเรื่องตรวจสอบภายใน -ผู้ตรวจฯ-สสจ. ดำเนินการ

      สืบเนื่องจากกรณีมีคำสั่งโยกย้าย นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล จากผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่นให้มาปฏิบัติราชการกองบริหารการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงเบื้องต้นพบว่ามีมูลตามข้อร้องเรียนกล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่มิชอบ และระเบียบของราชการเรื่องเรียกรับเงินจากบริษัทยา และร้านค้า 5% เข้าบัญชีกองทุนพัฒนา รพ.ศูนย์ขอนแก่น โดยแต่งตั้งนพ.เกรียงศักดิ์ วัชระนุกูลเกียรติ ผอ.รพ.พระปกเกล้า จ.จันทบุรีเป็นรักษาการแทนซึ่งถือเป็นการแต่งตั้งเข้าตำแหน่งนี้เป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 2 ปีและแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง
      ล่าสุด เมื่อเวลา 11.00น. วันที่ 9 มิถุนายน 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงข่าว “แนวทางการรับเงินบริจาคของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)” นายมนู สว่างแจ้ง นักวิชาการอิสระ และอดีตผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากการสำรวจด้วยการสอบถามจากผู้แทนยาเกี่ยวกับการรับเงินสวัสดิการ 5 %จากบริษัทยา โดยเป็นเพียงการสำรวจจำนวนไม่ได้สอบถามถึงชื่อรพ.แต่อย่างใด เพื่อให้เป็นข้อมูลส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ประกอบในการดำเนินการ จากจำนวนรพ.สังกัดสธ.ทั้งหมด 786 แห่ง แยกเป็นโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป(รพศ./รพท.) 116 แห่งและโรงพยาบาลชุมชน(รพช.)หรือรพ.ประจำอำเภอ 670 แห่ง พบว่า เดือนมีนาคม 2562 มีการรับเงินรวม 12 แห่ง คิดเป็น 1.53% แยกเป็นรพศ./รพท.2 แห่ง คิดเป็น 1.72 % รพช. 10 แห่ง คิดเป็น 1.49 % แต่ในเดือนพฤศจิกายน 2562 มีจำนวนรพ.ที่รับเงินเพิ่มขึ้นมาก โดยมีการรับเงินรวม 186 แห่งคิดเป็น 23.70% เป็นรพศ./รพท. 22 แห่ง คิดเป็น 19 % และรพช. 164 แห่ง คิดเป็น 24.50 %

 “เห็นได้ว่าช่วงเดือนพ.ย.2562 ซึ่งห่างจากการสำรวจรอบก่อนหน้า 8 เดือน กลับมีการรับเงินเพิ่มมากขึ้น ซึ่งน่าจะมาจากการเปลี่ยนผู้อำนวยการโรงพยาบาลใหม่ หรือละเลยเรื่องกฎระเบียบหรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวเสนอว่า กระทรวงสาธารณสุขและกรมบัญชีกลางหารือร่วมกันในการให้ กรมบัญชีกลางเป็นผู้จ่ายเงินค่ายาและเวชภัณฑ์ไปยังบริษัทยาโดยตรง เพื่อลดการมาประสานระหว่างผู้แทนจำหน่ายยากับทางโรงพยาบาล ในการตั้งเงื่อนไขจ่ายเงินค่ายาเมื่อมีการบริจาค”นายมนูกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ที่ครม.มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2560 ตามคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)เสนอในเรื่อง “มาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ” ซึ่งมีข้อกำหนดไว้ว่า “ห้ามไม่ให้หน่วยงานที่ทำการจัดซื้อทำการหารายได้ในลักษณะผลประโยชน์ต่างตอบแทนทุกประเภทจากบริษัทยาเข้ากองทุนสวัสดิการสถานพยาบาล”


ต่อมาเวลา 12.00 น. นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าวว่า ข้อมูลที่พบว่ายังมีรพ.สังกัดสธ.รับเงินจากบริษัทยาอยู่นั้น กระทรวงฯ ได้รับเรื่องและพร้อมจะตรวจสอบทั้งหมดว่า มีที่ไหนอย่างไร ซึ่งเดิมตั้งแต่ตนมารับตำแหน่งก็ยึดนโยบายเรื่องความโปร่งใส ต้องปลอดทุจริต การรับเงินบริจาคลักษณะนี้ถือว่าผิดระเบียบ ก็ต้องมีการตรวจสอบ ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีคนร้องเรียน ก็ทำงานเชิงรุกลงไปตรวจสอบอยู่แล้ว และจากเดิมเคยดูงบบำรุง งบประมาณ แต่จะดูงบสวัสดิการ งบมูลนิธิ จะไปดูให้มากขึ้นว่า นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ตามความตั้งใจของผู้บริจาคด้วยหรือไม่ ซึ่งตอนนี้ฝ่ายตรวจสอบภายในก็รับนโยบายไป 


ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าบุคลากรรพ.ทั้ง 186 แห่งมีข้อมูลการรับเงินจากบริษัทยาสามารถส่งบัตรสนเท่ห์ให้มีการตรวจสอบรพ.นั้นได้ใช่หรือไม่ นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดสธ. กล่าวว่า ยื่นมาได้ และจะส่งข้อมูลให้ตรวจสอบภายในดำเนินการ ไม่ต้องกังวล และได้ส่งข้อมูลให้ทางนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สสจ.) และผู้ตรวจราชการกระทรวงแล้ว ให้ไปกำกับดูแล


ส่วนที่มีการระบุว่ามีคำสั่งย้ายผอ.รพ.ขอนแก่นเพียงเพราะบัตรสนเท่ห์ใบเดียวนั้น นพ.สุขุม กล่าวว่า หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนผ่านบัตรสนเท่ห์ เมื่อเดือนต.ค.2562 ก็มีการพิจารณาว่าบัตรสนเท่ห์มีรายละเอียด มีชื่อมีตำแหน่งมีหลักฐาน มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ จึงได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมี นพ.อภิชาติ รอดสม สาธารณสุขนิเทศก์เขต6 เป็นประธาน ใช้เวลาตรวจสอบถึง 8 เดือนก่อนมีคำสังย้ายในเดือนมิ.ย.2563 


ต่อข้อถามนพ.ชาญชัยมีการยื่นอุทธรณ์คำสั่งย้ายเนื่องจากไม่ได้การข่มขู่พยานที่มีการระบุในหนังสือคำสั่ง นพ.สุขุม กล่าวว่า ใครไปบอกว่าข่มขู่ ในคำสั่งไม่ได้เขียนว่าข่มขู่ ส่วนในหนังสือคำสั่งก็มีการระบุชัดเจนว่ามีผู้ร้องเรียนกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมฉ้อราษฎร์บังหลวง ซึ่งผู้ที่ถูกกล่าวหายังไม่ใช่คนผิด 


เมื่อถามว่าต้องมีการสอบนพ.เกรียงศักดิ์ ด้วยหรือไม่เนื่องจากเคยเข้าไปเป็นผอ.รพ.ขอนแก่นระยะหนึ่ง นพ.สุขุม กล่าวว่า หากมีการสอบสวนแล้วเชื่อมโยงเกี่ยวพันธ์กับใคร ก็ต้องเรียกมาสอบขยายผลทั้งหมด


ด้าน นพ.อภิชาติ กล่าวว่า การเข้าไปตรวจสอบนั้นมีการเรียกทั้งพยานบุคคล พยานเอกสาร มีการเรียกหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล รวมถึงลงไปสอบข้อมูลที่โรงพยาบาลขอนแก่นตามเส้นทางของหลักฐานและบุคคลที่ถูกกล่าวถึงทั้งหมด ซึ่งเบื้องต้นก็มีหลักฐานเชื่อมโยงถึงว่าเป็นการรับเงินจากบริษัทยาจึงมีมูลควรกล่าวหา แต่ไม่สามารถเปิดเผยหลักฐานได้ กรรมการจึงได้เสนอมาที่ผู้บังคับบัญชาทราบ