เคลียร์ประเด็น! รพ.ห้ามรับเงินบริจาคจากบริษัทยา?
จากการปลัดกระทรวงสาธารณสุขมีคำสั่งย้ายผอ.รพ.ขอนแก่นเข้ากรุมาทำงานที่ส่วนกลาง ด้วยข้อกล่าวหาร้ายแรง “มีพฤติกรรมฉ้อราษฎร์บังหลวง” โดยยึดข้อกฎหนดมติครม. 12 กันยายน 2560ที่เห็นชอบตามคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
ที่ เสนอในเรื่อง “มาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ”มาเป็นกฎระเบียบหลักในการพิจารณา “เงินบริจาคจากบริษัทยาเข้าสู่รพ.”และตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง
ทำให้เกิดคำถามอย่างมากว่า ตามข้อกำหนดดังกล่าวมีการระบุไว้อย่างไร และรพ.ห้ามรับเงินบริจาคจากบริษัททั้งหมดหรือไม่
สาระสำคัญหลักของมาตรการดังกล่าว กำหนดไว้ว่า “ห้ามไม่ให้หน่วยงานที่ทำการจัดซื้อทำการหารายได้ในลักษณะผลประโยชน์ต่างตอบแทนทุกประเภทจากบริษัทยาเข้ากองทุนสวัสดิการสถานพยาบาล” ดังนั้น การนำส่วนลดส่วนแถมที่เกิดการจัดซื้อจัดจ้างไปเป็นประโยชน์แก่ภาคส่วนอื่น ที่ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐในลักษณะที่เป็น Private Sector เช่น ใช้การจัดซื้อจัดจ้างเป็นเงื่อนไขในการบริจาคให้แก่กองทุนสวัสดิการ มูลนิธิหรือกองทุนอื่นในลักษณะเดียวกัน หรือให้ประโยชน์แก่บุคลากรของรัฐโดยตรงที่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดซื้อจัดจ้างถือเป็นการกระทำที่ผิดหลักธรรมาภิบาลในการจัดซื้อจัดจ้างและเป็นการกระทำผิดกฎหมาย
ทั้งนี้ การให้เงินแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือกองทุนอื่นใดเพื่อมีเงื่อนไขแลกกับการจัดซื้อจัดจ้างผู้ให้มีความผิดฐานให้สินบน และผู้รับมีความผิดฐานรับสินบน หรือฐานรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด และการที่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเรียกรับผลประโยชน์จากคู่สัญญาที่ทำการจัดซื้อจัดจ้าง เป็นความผิดฐานเรียกรับสินบน
ต่อมามีระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเงินบริจาคและทรัพย์สินของหน่วยบริการ พ.ศ.2561 ลงนามเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2561 โดยนพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุขในขณะนั้น ระบุกึงการรับเงินบริจาคว่า “ต้องเป็นการบริจาคด้วยความสมัครใจและไม่เป็นไปเพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์หรือมีเงื่อนไขผูกพันที่จะให้ประโยชน์แก่ผู้ใดโดยเฉพาะ”และ “ห้ามมิให้หน่วยบริการรับเงินที่ผู้บริจาคระบุเงื่อนไขของการบริจาคอันเป็นภาระหรือข้อเรียกร้องแก่หน่วยบริการเกินความจำเป็น”
ในการแถลงข่าวเรื่อง “แนวทางการรับเงินบริจาคของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข” นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ย้ำว่า จากระเบียบดังกล่าว รพ.ไม่สามารถมีข้ออ้างใดๆในการรับเงินใดๆจากบริษัทยา ไม่ว่าจะรับมาแล้วนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อรพ.หรือเอาไปใช้อย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ก็ตาม เพราะกฎหมายไม่อนุญาตให้นำเข้าเงินจากบริษัทยาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เป็นการปิดล็อคประตูห้ามนำเข้าแล้วตั้งแต่กันยายน 2560 ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงได้มีการส่งหนังสือเวียนเกี่ยวกับมาตรการนี้ไปยังผู้บริหารสธ.ทุกระดับรับทราบ 3 ครั้งแล้ว คือ วันที่ 2 มีนาคม 2561 , ธันวาคม 2562 และกุมภาพันธ์ 2563
“ผมเองเคยถามป.ป.ช.เล่นๆว่าหลังสธ.มีหนังสือเวียนวันที่ 2 มี.ค.2561ออกไปแล้ว 1-2เดือน ทำไมป.ป.ช.ไม่ไปตามตรวจสอบทุกรพ. ก็ได้คำตอบจากป.ป.ช.ทำให้ผมสะอึกว่า หมอจะเอาคุกที่ไหนขังคนของหมอ และบอกให้รู้ไว้ว่าบริษัทยามีการส่งข้อมูลให้ป.ป.ช.ทุกเดือนว่ายังจ่ายเงินให้รพ.ที่ไหนอยู่บ้าง เพราะฉะนั้นเรื่องราวเหล่านี้ปิดไม่มิด”นพ.ยงยศกล่าว
ขณะที่ อุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการป.ป.ช. บอกว่า หน่วยราชการนั้นการบริจาคจะต้องไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ ห้ามไปชิดกันกับการปฏิบัติหน้าที่จะต้องแยกกันอย่างเด็ดขาด นี่คือหลักสำคัญ การบริจาคจะต้องไม่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง เพราะถ้าเชื่อมต่อกันก็จะนำไปสู่ปัญหาต่างๆ ส่วนที่บอกว่าถ้าไม่ทำแบบนั้นแบบนี้แล้วบอกว่าจะไม่มีเงิน ก็เป็นปัญหาอย่างอื่น ไม่ใช้เอาปัญหานี้มาพันกัน ที่คิดแบบนี้ก็จะปลอดภัย
ส่วนแปลว่าบริษัทยาที่มีการจัดซื้อจัดจ้างกับรพ.แห่งนั้นๆไม่สามารถบริจาคใดๆให้รพ.แห่งนั้นเลยใช่หรือไม่ อุทิศ บอกว่า มีสิทธิ์ในเรื่องของการบริจาคได้ แต่จะต้องไม่เกี่ยวข้องกับการซื้อยา ต้องไม่มีผลต่อดุลพินิจว่าบริจาคแล้วต้องซื้อยาจากบริษัทนั้น ห้ามเชื่อมต่อกัน เพราะฉะนั้นการทำบุญบริจาคทำได้ทุกคน เหมือนการฝากเด็กเข้าโรงเรียนแนวคิดเดียวกัน เงินบริจาคจะต้องไม่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจ ต้องแยกออกจากกัน โดยถ้าบริษัทแห่งนั้นบริจาคแบบไม่มีผลต่อดุลพินิจในการจัดซื้อยา เช่น อาจจะมีการจัดซื้อไปแล้ว ซึ่งการจะดูว่าการบริจาคเชื่อมโยงกับดุลพินิจหรือไม่ต้องพิจารณาแต่ละกรณีๆไป
ขณะที่ มนู สว่างแจ้ง นักวิชาการอิสระและอดีตผู้จัดการใหญ่บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ขยายความเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่เมื่อ 47 ปีก่อนบริษัทมีการให้ส่วนลดในการจัดซื้อยาแก่รพ. 5 %มาตลอด เรียกว่าเงินสวัสดิการ ซึ่งเงินบริจาคของบริษัทยาในปัจจุบันก็คือเงินสวัสดิการนี้ เพราะเงินออกจากบริษัททุกๆเดือน เดือนละ 5 %ของยอดขาย มีทั้งการให้โอนเข้าบัญชีรพ.แบบมีใบเสร็จและไม่มีใบเสร็จ
ในมุมการบริจาคโดยสมัครใจของบริษัทยาให้รพ.แบบไหนถูกแบบไหนผิด มนู อธิบายว่า ยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม อาทิ เมื่อเกิดน้ำท่วมแล้วบริษัทยามีงบประมาณก้อนหนึ่งก็สามารถบริจาคให้รพ.ได้ ส่วนกรณีที่ยังเป็นคำถาม เช่น บริษัทยามีการขายยาอยู่ประมาณหนึ่ง และมีการตกลงกัน
สมมติซื้อปีละจำนวนเท่านี้แล้วมีการตกลงกันว่าเงินสวัสดิการจ่ายไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้นไปบริจาค 5 % แล้วบริษัทก็ไปบริจาคที่ฝ่ายการเงิน โดยบอกว่าบริจาคให้เท่านี้ ซึ่งเมื่อมาดูจำนวนเงินที่บริจาคแล้วก็คือ 5 % และเป็นการบริจาคเท่าๆกันทุกเดือนโดยสัมพันธ์กับยอดขาย
การพิสูจน์ว่าเป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทน มนู บอกว่า ดูจากยอดเงินบริจาคที่บริษัทยาโอนให้รพ.ทุกๆเดือนโดยจำนวนเงินที่อาจจะเท่าๆกันทุกเดือน
และกระบวนการที่ถือว่าเป็นการเรียกรับ คือ จะมีบุคคลของรพ.พูดคุยกับบริษัทยาว่าถ้าประมูลการจัดซื้อได้จะจ่ายเงิน 5%ของยอดจัดซื้อให้รพ.ได้หรือไม่ก็จะมีการคุยกับทุกบริษัท เมื่อบริษัทไหนประมูลได้ก็ต้องไปทำตามสัญญา แต่จะให้หาเป็นลายลักษณ์อักษานั้นไม่มี นอกจากนี้ ส่วนใหญ่จะนำเรื่องการเก็บเงินค่ายามาเป็นข้อบีบให้บริจาค โดยหลังจากประมูลได้ถูกต้องตามขั้นตอนแล้ว จะนำเรื่องของการจ่ายเช็คค่ายาให้บริษัทยามาเป็นการต่อรองในการบริจาค
อาทิ บอกว่า “ถ้ายังไม่จ่าย5%ให้รพ. ก็จะยังไม่จ่ายเงินค่ายา” และหากบริษัทไหนมีมูลค่าซื้อขายจำนวนมาก ถ้าจะไม่จ่ายก็ต้องไปเจอกับผู้บริหารแสดงว่าจะไม่จ่าย ก็จะมีการคุยกันว่า “ถ้าไม่จ่ายก็ซื้อขายกับคุณไม่ได้” เหล่านี้เป็นสิ่งที่บริษัทยาไม่อยากทำ เพราะกฎหมายป.ป.ช.ใหม่กำหนดไว้ว่า“ถ้าพนักงานขาย(ผู้แทนยา)ไปติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ มีโทษจำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท
อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยมีบริษัทยามี 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.บริษัทต่างประเทศที่ตั้งโรงงานในไทย 2.บริษัทยาในประเทศ และ3.บริษัทที่มีการนำยา ซึ่งใน 2 กลุ่มแรกพยายามที่จะไม่ทำแต่กลุ่มที่ 3 เป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้เพราะเป็นกลุ่มที่นำเข้ายามาเล็กแล้วก็เข้ามาประมูลแข่งกัน
การแก้ปัญหาเชิงระบบนั้นเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขผลักดันเรื่องนี้ด้วยการหารือร่วมกับกรมบัญชีกลาง เพื่อให้โอนเงินค่ายาให้บริษัทยาคู่สัญญาของรพ.แต่ละแห่งโดยตรง เพื่อที่จะได้ไม่ต้องไปเรียกเก็บจากรพ. ที่อาจจะมีการสร้างเงื่อนไขในการจ่ายเช็คค่ายา