เก็บภาษี 'อีเซอร์วิส' มาตรฐานไทย-โลก
นับเป็นการเริ่มนับหนึ่งในการจัดเก็บภาษี ที่จะทำให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการในประเทศกับยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่เข้ามาทำทำการตลาด หลังจากล่าสุด ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.อีเซอร์วิส ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2563 เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. .... (การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ หรืออี-เซอร์วิส) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-เซอร์วิส จากต่างประเทศมากขึ้น ผ่านอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง ซึ่งในไทยเองปัจจุบันก็มีผู้ประกอบการในประเทศที่ต้องมีภาระต้นทุนในการจ่ายภาษีให้รัฐ
การดำเนินการครั้งนี้จะส่งผลโดยตรงต่อเว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น การให้บริการรูปแบบต่างๆ เช่น ดาวน์โหลดหนัง เพลง เกม การจองโรงแรม ซึ่งช่วยให้ซื้อสินค้าหรือบริการทางออนไลน์ได้สะดวกรวดเร็ว ทำให้ผู้ประกอบการในต่างประเทศมีรายได้ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่ปัจจุบันกรมสรรพากรไม่สามารถจัดเก็บภาษีผู้ประกอบการเหล่านี้ได้ ต่อไปนี้เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ ยักษ์ดิจิทัลข้ามชาติอย่างเฟซบุ๊ค กูเกิล เน็ตฟลิกซ์ อะเมซอน บุ๊คกิ้ง อูเบอร์ ฯลฯ หรือผู้ประกอบการที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%
มองผิวเผินการที่รัฐบาลไทยเห็นชอบตามกระทรวงการคลังเสนอให้ใช้กฎหมายดังกล่าว อาจจะขัดใจยักษ์ดิจิทัลระดับโลก ทว่าในข้อเท็จจริงอาจไม่ใช่ ผู้เชี่ยวชาญในวงการเชื่อว่าผู้ประกอบการแพลตฟอร์มต่างประเทศ จะยอมทำตามกฎหมายอี-เซอร์วิสในไทย เพราะทั่วโลกก็ใช้กฎหมายลักษณะดังกล่าว ขณะที่กฎหมายนี้ถือว่าแฟร์ ที่สำคัญไทยถือเป็นตลาดใหญ่ในอาเซียน คนไทยมีพฤติกรรมใช้โซเชียลออนไลน์ ทั้งในการสื่อสารและช้อปปิ้งมากเป็นอันดับต้นๆ ในภูมิภาค
การเตรียมจัดเก็บภาษีในความเห็นของกูเกิล (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าว “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า กูเกิลพร้อมทำตามกำหมายด้านภาษีในทุกประเทศ ที่กูเกิลเข้าไปทำธุรกิจ รวมถึงกฎหมายภาษีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกฎหมายอี-เซอร์วิส เมื่อประเทศไทยมีการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ กูเกิลก็พร้อมที่จะทำตาม แม้รายอื่นๆ ยังของดที่จะแสดงความคิดเห็นเรื่องดังกล่าว แต่ก็ไม่มีผู้ประกอบการรายใดแสดงความเห็นในทิศทางตรงกันข้าม
เราเห็นด้วยกับรัฐบาลที่เริ่มนับหนึ่งในการจัดเก็บภาษี ที่ทำให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการในประเทศกับยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่เข้ามา เราเห็นว่าช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มให้เหมาะสม เป็นการปรับปรุงกฎหมายภาษีไทยให้ทันสมัย สอดคล้องกับแนวทางการจัดเก็บภาษีของนานาประเทศ แม้การบังคับใช้ยังต้องใช้เวลาอีก 6-12 เดือน เนื่องจากขั้นตอนหลังจากนี้ จะส่งร่าง พ.ร.บ.นี้ ให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎร ยังไงก็ตาม มาช้า ยังดีกว่าไม่มา