ชะตากรรม ‘จอร์จ ฟลอยด์’ สะเทือนบุคคลประวัติศาสตร์
การเดินขบวนประท้วงต่อต้านการเหยียดผิวทั่วสหรัฐขณะนี้ เพิ่มดีกรีเป็นการเรียกร้องให้ย้ายอนุสาวรีย์รำลึกนักล่าอาณานิคมและพ่อค้าทาสไปเสียแล้ว รูปปั้นของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสที่ผงาดอยู่ในหลายเมืองก็หนีไม่พ้นชะตากรรมนี้
ตำรวจสหรัฐรายงานว่า เมื่อวันพุธ (10 มิ.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น อนุสาวรีย์คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ในเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ถูกตัดหัว รูปปั้นกลางเมืองไมอามีถูกทุบทำลาย ตามรอยรูปปั้นที่เมืองริชมอนด์ รัฐเวอร์จิเนีย ที่ถูกลากไปทิ้งทะเลสาบเมื่อวันอังคาร (9 มิ.ย.)
เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงที่เกิดแรงกดดันอย่างหนักทั่วสหรัฐให้กำจัดอนุสาวรีย์ที่เกี่ยวข้องกับการเหยียดผิวออกไป ขยายวงจากการประท้วงใหญ่กรณีจอร์จ ฟลอยด์ ถูกตำรวจผิวขาวสังหารในเมืองมินนิแอโพลิส รัฐมินนิโซตาเมื่อเดือนก่อน
โคลัมบัส นักสำรวจชาวอิตาเลียน ได้รับการยกย่องมานานในตำราเรียน ว่าเป็นผู้ค้นพบโลกใหม่ แต่หลายคนมองว่า วีรกรรมของเขานำมาสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนพื้นเมืองในทวีปอเมริกายาวนานหลายปี พวกนายพลช่วงสงครามกลางเมืองสหรัฐที่สนับสนุนให้มีทาสในภาคใต้ก็ถูกประณามแบบเดียวกันนี้
จริงๆ แล้วอนุสาวรีย์โคลัมบัสในเมืองบอสตัน ที่วางอยู่บนแท่นเด่นสง่าใจกลางเมือง กลายเป็นข้อถกเถียงกันมานานหลายปีแล้ว เช่นเดียวกับอนุสาวรีย์ของเขาในที่อื่นๆ ทั่วประเทศ และเคยถูกทำลายมาแล้วเช่นกัน
สำหรับเหตุที่เกิดขึ้นล่าสุดโฆษกตำรวจเผยว่า ตำรวจบอสตันได้รับแจ้งเหตุทำลายอนุสาวรีย์หลังเที่ยงคืนวันอังคาร (9 มิ.ย.) ได้ไม่นาน ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนและยังไม่ได้จับกุมผู้ใด
นักวิ่งรายหนึ่งวิ่งผ่านอนุสาวรีย์เมื่อวันพุธ กล่าวว่า เธอเห็นด้วยกับการตัดหัวโคลัมบัส
“ท่ามกลางการประท้วงแบล็ก ไลฟ์ส แมตเตอร์ (ฺฺBlack Lives Matter) ฉันคิดว่าการใช้ประโยชน์จากกระแสนี้เป็นเรื่องดี คนพื้นเมืองในประเทศนี้ก็เหมือนกับคนดำที่เจอความอยุติธรรมมาโดยตลอด ฉันคิดว่าความเคลื่อนไหวนี้ทรงพลังและเป็นการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ที่ดีมาก”
สหรัฐมีวันโคลัมบัส เป็นวันหยุดทั่วประเทศมาตั้งแต่ปี 2480 แต่หลายปีหลังหลายสิบเมืองทั่วประเทศเปลี่ยนวันนี้เป็นวันรำลึกคนพื้นเมืองแทน ยกเว้นในบอสตันและนิวยอร์ก ที่มีชุมชนชาวอเมริกันเชื้อสายอิตาลีอยู่มากจึงยังมีวันโคลัมบัส
มาร์ตี วอลช์ นายกเทศมนตรีเมืองบอสตัน ประณามเหตุตัดหัวรูปปั้น และว่าทางการได้ย้ายรูปปั้นโคลัมบัสในวันพุธ รอการตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อไป
ส่วนรูปปั้นที่สวนริมน้ำในเมืองไมอามี หนังสือพิมพ์ไมอามีเฮอรัลด์รายงานว่า ผู้ประท้วงเอาสีแดงไปละเลงที่ใบหน้า พร้อมเขียนข้อความ “ถนนของเรา” “ชีวิตคนดำมีความหมาย” และ “จอร์จ ฟลอยด์” จนตำรวจต้องจับกุมผู้ประท้วงไปหลายคน
ในเวอร์จิเนีย หนังสือพิมพ์ริชมอนด์ไทม์ส-ดิสแพ็ทช์ รายงานว่า เมื่อวันอังคาร ผู้ประท้วงใช้เชือกดึงรูปปั้นโคลัมบัสขนาด 2.44 เมตร เอาไปทิ้งทะเลสาบบริเวณใกล้เคียง ในลักษณะเดียวกับที่เมืองบริสตอล ประเทศอังกฤษ เมื่อวันอาทิตย์ (7 มิ.ย.) ที่ผู้ชุมนุมต่อต้านการเหยียดผิวโค่นอนุสาวรีย์ “เอ็ดเวิร์ด โคลส์ตัน” นักค้าทาสชื่อดังในยุคศตวรรษที่ 17 ทิ้งลงแม่น้ำ เขาผู้นี้ป็นสมาชิกของบริษัท รอยัล แอฟริกัน ซึ่งขนส่งชาวแอฟริกันทั้งชายหญิง และเด็ก จำนวนกว่า 80,000 คนมายังอเมริกา
ส่วนอนุสาวรีย์โคลส์ตันที่ถูกโค่นลงเป็นรายแรก เว็บไซต์เดอะการ์เดียนรายงานว่า สภาเมืองบริสตอลทวีตข้อความเมื่อเช้าวันพฤหัสบดี (11 มิ.ย.) กู้อนุสาวรีย์โคลส์ตันไปไว้ในที่ปลอดภัยแล้ว และจะนำไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์
มาร์วิน รีส นายกเทศมนตรีเมืองบริสตอลเผยว่า เขาอยากเริ่มหารืออย่างสงบว่าจะทำอย่างไรต่อไปกับอนุสาวรีย์และอนุสรณ์สถานทั้งหลายในเมืองที่เกี่ยวข้องกับการค้าทาส
“ผมคิดว่าเราจำเป็นต้องจัดให้มีการพูดคุยกันทั้งเมืองในเรื่องนี้ เป็นการพูดคุยกันโดยไม่ควรใช้อารมณ์”
ในวันเดียวกันนั้นสภาเมืองพูลทางตอนใต้ของอังกฤษเผยว่า จะย้ายอนุสาวรีย์โรเบิร์ต เบเดน เพาเวลล์ ผู้ก่อตั้งลูกเสือโลก ออกจากที่ตั้งริมฝั่งทะเลไปไว้ในที่ปลอดภัย ระหว่างหารือกับชุมชนว่าจะทำอย่างไรต่อไป หลังจากเพิ่งตั้งอนุสาวรีย์นี้ได้เพียง 10 ปี
เบเดน-เพาเวลล์ ได้รับการโหวตเมื่อปี 2550 ให้เป็นบุคคลผู้ทรงอิทธิพลในศตวรรษที่ 20 อันดับที่ 13 ของสหราชอาณาจักร จากวิสัยทัศน์ก้าวไกลในการก่อตั้งลูกเสือ แต่นักวิจารณ์กล่าวว่าเขามีแนวคิดเหยียดผิวเป็นผู้สนับสนุนอดอล์ฟ ฮิตเลอร์และแนวคิดฟาสซิสม์
“แม้โรเบิร์ต เบเดน มีชื่อเสียงเรื่องการก่อตั้งลูกเสือ แต่เราก็ยอมรับว่าชีวิตในบางมุมของเขาถูกมองว่า ไม่ควรค่าแก่การรำลึก” วิกกี สเลด ประธานสภาเมืองพูล กล่าวถึงฮีโร่ชาวอังกฤษรายนี้