สศช.เลือก 2 จังหวัดลำปาง-กาญจนบุรี นำร่องพัฒนาเมืองยั่งยืนแห่งอนาคต
สศช.ว่างจ้างจุฬาฯศึกษาเมืองยั่งยืนอนาคต นำร่องสองเมืองในระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือและภาคตะวันตก ต่อยอดโครงการความร่วมมือกับไจก้าเตรียมนำผลศึกษาใส่ในแผนฯ13
นายเอนก มีมงคล รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สศช.จะทำการศึกษาและวางแผนในโครงการเสริมสร้างความยั่งยืนของการพัฒนาเมืองในอนาคต (Sustainable Future City) หรือ SFC โดยใช้งบประมาณจำนวน 9.5ล้านบาท จากงบประมาณของสศช.ในปี2563เพื่อนำร่องพัฒนาเมืองน่าอยู่จำนวนสองเมืองใน 2 จังหวัดได้แก่ 1.จ.ลำปาง ซึ่งอยู่ใน ที่พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ (Northern Economic Cluster)และ 2.จ.กาญจนบุรี ซึ่งอยู่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคกลางตะวันตก(Central-Western Economic Corridor)
โดยเหตุผลที่เลือกสองเมืองดังกล่าว เนื่องจากมีความพร้อมของ เทศบาล และ เป็นเมืองที่อยู่ในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องมีการพัฒนา ตามแผนพัฒนาฯฉบับที่12 และแผนพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยการพัฒนาจะ สร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมของจังหวัด ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ซึ่งในแต่ละจังหวัดมีแผนพัฒนาของแต่ละเทศบาลอยู่แล้วและใช้แนวทางที่ได้เรียนรู้จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA)ในการทำงานร่วมกันในช่วง10 ปีที่ผ่านมา โดย JICA ได้ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการและด้านเทคนิดในการพัฒนาเมืองSFCในสองพื้นที่ คือชุมพร และระนอง ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน(Southern Economic Corridor)
ในช่วง10ปี ที่ผ่านมา ไจก้า ได้ให้ความช่วยเหลือด้านงบประมาณ ประมาณ พื้นที่ละ5-6ล้านบาทในการพัฒนาเมือง SFC ซึ่งแล้วเสร็จใน 6 เมือง
สำหรับโครงการ SFC ที่ สศช.ทำงานร่วมกับจุฬาฯมีกำหนดระยะเวลาดำเนินการ12เดือน ในพื้นที่เป้าหมายจำนวน2แห่ง โดยการประชุมวันนี้เป็นการหารือแผนการดำเนินงานโครงการฯ ในภาพรวม และข้อเสนอแนวทางการคัดเลือกเมืองเป้าหมาย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างต้นแบบกลไกและกระบวนการวางแผนพัฒนาเมืองในอนาคตให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน พัฒนาระบบติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาเมืองในอนาคตให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน และติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผนพัฒนาเมืองในอนาคตให้น่าอยู่อย่างยั่งยืนของ 6 เมืองที่ดำเนินการแล้วเสร็จ
โดยผลการศึกษาโครงการฯ สามารถนำมาปรับปรุงแนวทางการพัฒนาเมืองในอนาคตให้น่าอยู่อย่างยั่งยืนให้เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อย่างแท้จริง และแนวคิดเรื่องเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืนมีความสำคัญต่อการออกแบบระบบติดตามและประเมินผลการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย ประเด็นพื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งจะเป็นประโยชน์ในด้านประเด็นการพัฒนาเมืองในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่13ต่อไป