'โควิดระบาด' ป่วน ธุรกิจ-โรงเรียนนานาชาติ 'จีน'
คำสั่งห้ามเดินทางของจีนผลพวงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนากำลังสร้างความปั่นป่วนให้กับบริษัทต่างชาติและโรงเรียนนานาชาติ หลายที่ไม่มั่นใจในอนาคตเมื่อผู้บริหาร ครู และนักเรียนต่างติดอยู่ในประเทศบ้านเกิด
จีนห้ามชาวต่างชาติเกือบทั้งหมดเข้าประเทศมาตั้งแต่เดือน มี.ค. ตอนที่การระบาดในต่างประเทศทวีความรุนแรง ทำให้ครอบครัวต้องพลัดพราก บริษัททำงานกันไปโดยไร้พนักงานคนสำคัญ แม้แต่คนที่มีถิ่นพำนัก มีใบอนุญาตทำงาน หรือเป็นผู้บริหารธุรกิจก็ห้ามเข้า ถึงตอนนี้มีเรื่องชวนตั้งคำถามต่อไปอีกว่า เมื่อใดจีนจะยกเลิกข้อห้ามหลังจากพบการติดเชื้อคลัสเตอร์ใหม่ในกรุงปักกิ่งช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
เจสซี ลิม ผู้ก่อตั้งบริษัทฟรีเควนซีแอดเวอร์ไทซิงแอนด์อีเวนต์ เดินทางไปสิงคโปร์ตั้งแต่เดือน ม.ค.แล้วก็ติดอยู่ที่นั่นการห้ามเดินทางทำให้เธอตกตะลึง บริษัทของเธอในเฉิงตูไม่มีรายได้เลยช่วง 3 เดือนแรกของปี ไวรัสทำให้ทางการสั่งห้ามประชาชนรวมตัวกันและห้ามจัดอีเวนต์
ลิมมีกำหนดกลับจีนในเดือน ก.พ. ที่ทางการออกกฎว่ามาถึงแล้วต้องกักตัว 14 วัน เธอจึงยังไม่กลับรอให้ยกเลิกมาตรการเสียก่อน แต่กลายเป็นว่าเธอถึงกับพูดไม่ออกเมื่อทางการออกคำสั่งห้ามเดินทาง ลิมไม่สามารถกลับไปจีนได้อีกเลย
คาดว่าธุรกิจฟื้นตัวขึ้นในไม่กี่เดือนนี้ แต่ลิมไม่สามารถพบลูกค้าได้จึงกังวลว่าเธออาจขาดทุนมากไปอีกถ้ายังต้องอยู่ต่างประเทศต่อไปอีกนาน
แม้จีนทำช่องทางฟาสต์แทร็กกับบางประเทศ เปิดให้นักธุรกิจหลักๆ เดินทางกลับ แต่กระบวนการยังซับซ้อน จำเป็นต้องมีจดหมายเชิญและผ่านการอนุมัติจากกระทรวงการต่างประเทศ
ร้านอาหารตะวันออกกลางแห่งหนึ่งกลางกรุงปักกิ่งเผยกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า ผู้ร่วมก่อตั้งร้านที่ติดอยู่ในอิสราเอล กำลังหาเจ้าของรายใหม่มารับช่วงกิจการ เพราะเจ้าของเดิมเล็งกลับประเทศอย่างถาวร
สัปดาห์นี้ เซนต์ จอห์น มัวร์ ประธานหอการค้าอังกฤษในจีนเรียกร้องให้มีระบบอนุญาตให้ชาวอังกฤษที่อาศัยอยู่ในจีนกลับจีนได้พร้อมครอบครัว
“ธุรกิจอังกฤษที่่ใช้จีนเป็นศูนย์กลางประจำภูมิภาคเอเชียกำลังเพิ่มจำนวนขึ้น ผู้บริหารในจีนมีบทบาทสำคัญไปทั่วภูมิภาค ถ้าว่ากันตามสถานการณ์ปัจจุบันก็ไม่มีทางเป็นเช่นนั้นได้อีกต่อไป” มัวร์กล่าว
ด้านหอการค้าอเมริกันเคยสำรวจในเดือน พ.ค. พบว่า 90% ของบริษัทสมาชิก 109 แห่งมีปัญหาในการดำเนินธุรกิจเพราะการเดินทางชะงักงันทั่วโลก ซึ่งนี่คือความกังวลสูงสุดของสมาชิก อีกเรื่องที่สมาชิกกว่าครึี่งกังวลคือการที่ไม่สามารถส่งพนักงานต่างชาติกลับไปจีนได้
จอร์จ วัตเก ประธานหอการค้าอียูในจีนกล่าวเสริมว่า ตอนนี้เป็นฤดูรับคน เป็นช่วงเวลาที่บริษัทย้ายพนักงานมากถึง 100 คนไปทำหน้าที่ใหม่หรือแต่งตั้งคนใหม่
“แต่ตอนนี้การคงพนักงานไว้ในจีนเป็นเรื่องยากมากๆเพราะสมาชิกในครอบครัวหลายคนต้องแยกกัน บางคนอาจแค่ตัดเวลาทำงานในจีน กลับบ้านแล้วอยู่บ้านเลย แล้วเราจะทำให้จีนเป็นประเทศน่าอยู่ได้อย่างไร ในเมื่อไม่มีเครื่องบินบริการ เงื่อนไขกักตัวก็ไม่เอื้อ แถมขอวีซาก็ยาก” ประธานหอการค้าอียูโอดครวญ
โรงเรียนนานาชาติก็มีปัญหาครูและนักเรียนติดอยู่ในต่างแดนเช่นกัน มัวร์จากหอการค้าอังกฤษกล่าวว่า ครูชาวอังกฤษยังอยู่นอกประเทศจีนอีกเป็นจำนวนมาก ถือเป็นความท้าทายของโรงเรียนหากจะเปิดสอนตามปกติ
“หากยังไม่แก้ปัญหานี้ หันมาทำให้จีนเป็นประเทศที่ครอบครัวชาวต่างชาติที่มีลูกสามารถทำงานต่อไปได้ เสน่ห์ของจีนในฐานะประเทศน่าอยู่ด้วยนานๆ ก็จะลดน้อยถอยลง”
นอกจากนี้ในเมื่อกลับมาเปิดเรียนไม่ได้ ผู้ปกครองบางคนยังขอค่าเทอมแสนแพงคืนด้วย ยิ่งซ้ำเติมวิกฤติการเงินของโรงเรียนนานาชาติให้หนักขึ้นไปอีก
ช่วงไม่กี่ปีหลังโรงเรียนนานาชาติลงทุนมหาศาลในจีน หวังเจาะความต้องการจากชาวต่างชาติและครอบครัวเศรษฐีจีน ที่ต้องการการศึกษามาตรฐานนานาชาติให้กับบุตรหลาน
ไอเอสซีรีเสิร์ชพบว่าจำนวนโรงเรียนนานาชาติในจีนผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด จาก 7 โรงเมื่อปี 2555 เป็น 74 โรงในปีนี้ แต่ไม่กี่ปีหลังโรงเรียนเหล่านี้ก็ต้องเผชิญกับความท้าทาย เมื่อจำนวนชาวต่างชาติในจีนลดลง
แซม เฟรเซอร์ หัวหน้าการวิจัยภาคสนามของไอเอสซี รีเสิร์ช เตือนว่า บางโรงเรียน “อาจไม่อยู่ในฐานะที่คืนค่าเทอม หักส่วนลด หรือรับความเสียหายทางการเงินใดๆ ได้” เงินทุนสำหรับทำโครงการอื่นๆ อาจถูกชะลอเอาไว้ก่อนถ้าเงินสดถูกโยกไปใช้เพื่อทำให้โรงเรียนอยู่ต่อได้
“เราคิดว่าคงหลีกเลี่ยงไม่ได้หากบางโรงเรียนจำเป็นต้องปิดตัวลง” หัวหน้านักวิจัยสรุป