'สุวิทย์' ลงพื้นที่กาฬสินธุ์ ปลื้มยุวชนอาสา ทำงานร่วมกับชุมชน 83 โครงการ
“สุวิทย์” ลงพื้นที่จ.กาฬสินธุ์ ปลื้มยุวชนอาสา กว่า 800 คน ทำงานร่วมกับชุมชน 83 โครงการ เตรียมขยายผลทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคอื่นๆ ทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.63 ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เดินทางลงพื้นที่มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์ เพื่อติดตามความก้าวหน้าโครงการยุวชนอาสา เฟส 1 ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่อง 82 ชุมชน จากความร่วมมือของ 9 มหาวิทยาลัย และ นักศึกษาเข้าร่วมโครงการกว่า 800 คน โดยโครงการยุวชนอาสา เฟส 1 มี นักศึกษา นำเสนอโครงการในการลงพื้นที่ทำงานร่วมกับชุมชน จำนวน 83 โครงการ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม 18 โครงการ ทำใน 15 ตำบล 8 อำเภอ นักศึกษาเข้าร่วม 162 คน งบประมาณที่กระทรวงฯ สนับสนุน จำนวน 8,207,500 บาท มหาวิทยาลัยศรีปทุม 2 โครงการ 1 ตำบล 1 อำเภอ นักศึกษา 22 คน งบฯ 1 ล้านบาท มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ 2 โครงการ 2 ตำบล 2 อำเภอ นักศึกษา 20 คน งบฯ 980,000 บาท
มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ 34 โครงการ 34 ตำบล 11 อำเภอ นักศึกษา 214 คน งบฯ 16,230,919 บาทมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขต เฉลิมพระเกียรติ จ.สกลนคร 4 โครงการ 4 ตำบล 4 อำเภอ นักศึกษา 35 คน งบ 1,951,740 บาท มหาวิทยาลัยขอนแก่น 14 โครงการ 14 ตำบล 8 อำเภอ นักศึกษา 172 คน งบฯ 6,799,500 บาท มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตนครราชสีมา 1 โครงการ 1 ตำบล 1 อำเภอ นักศึกษา 8 คน งบฯ 490,000 บาท
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น 6 โครงการ 6 ตำบล 3 อำเภอ นักศึกษา 59 คน งบ 2,934,000 และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ 2 โครงการ 2 ตำบล 2 อำเภอ นักศึกษา 14 คน งบฯ 980,000 บาท รวม 83 โครงการ 63 ตำบล 15 อำเภอ นักศึกษา 806 คน งบฯ 39,573,659 บาท
ทั้งนี้ ดร.สุวิทย์ ได้ร่วมรับฟังความก้าวหน้าการดำเนินงานและร่วมเสวนาร่วมกับนักศึกษาที่มีผลงานเด่นภายใต้โครงการยุวชนอาสา โดย ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า โครงการยุวชนอาสา เป็น 1 ใน 3 โปรเจคของโครงการยุวชนสร้างชาติ ซึ่งประกอบด้วย อาสาประชารัฐ กองทุนยุววิสาหกิจเริ่มต้นและยุวชนอาสา โดยเป้าหมายของโครงการยุวชนอาสา คือการนำนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรี 800 – 1,000 คน ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศึกษาวิเคราะห์ และประมวลผลของปัญหาชุมชนในชุมชนพื้นที่เป้าหมาย 80 – 100 ตำบล ที่มีปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ปัญหาคุณภาพชีวิตในมิติต่างๆ เพื่อไปสร้างหรือนำองค์ความรู้หรือนวัตกรรมในสถาบันอุดมศึกษาหรือหน่วยงานภายในกระทรวงการอุดมศึกษาฯ มาบูรณาการในการแก้ปัญหา คลอบคลุม 4 ด้านได้แก่
1.พัฒนาศักยภาพที่มุ่งเน้นการพัฒนาสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัย 2. ยกระดับคุณภาพและรายได้ด้านการท่องเที่ยว และส่งเสริมการค้า การลงทุน 3. เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 4.การพัฒนาทุนมนุษย์ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสังคมที่มีความมั่นคงและสงบสุข โดยเลือก จ.กาฬสินธุ์ เป็นจังหวัดนำร่องในการดำเนินโครงการนี้ เนื่องจากเป็นจังหวัดที่ติด 1 ใน 10 จังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศ
จากนั้น ดร.สุวิทย์ ได้มอบสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ “การพัฒนาแนวคิดเพื่อสร้างรูปแบบธุรกิจนวัตกรรม” มูลค่า 100,000 บาท จากกองทุนยุวสตาร์ทอัพ ภายใต้แผนงานยุวชนสร้างชาติของ อว.ให้แก่กลุ่มนักศึกษาที่มีศักยภาพในการต่อยอดธุรกิจ สำหรับการพัฒนาแบบจำลองหรือการพิสูจน์ความเป็นไปได้ด้านการตลาดเบื้องต้น การจัดทำแผนธุรกิจที่มีศักยภาพ และเดินทางไปเยี่ยมชมความสำเร็จโครงการยุวชนอาสา โครงการ “การยกระดับบริการบ้านพักชุมชนสู่การเป็นโฮมสเตย์มาตรฐานประเทศไทย” ที่หมู่บ้านท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านหนองแวงภูปอ เทศบาลตำบลภูปอ จ.กาฬสินธุ์ และประชุมกับหน่วยปฏิบัติการ 38 หน่วยงาน เพื่อเตรียมขยายผลเพื่อดำ เนินโครงการในเฟสที่ 2 โดยมี จ.กาฬสินธุ์ เป็นต้นแบบและขยายไปสู่การดำเนินงานในพื้นที่อื่นๆเพิ่มเติมทั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและพื้นที่ภาคอื่นทั่วประเทศ