'ก้าวไกล' ดัน พ.ร.บ.ฉุกเฉิน แทน พ.ร.ก.
"พรรคก้าวไกล" ดัน ร่าง พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ต่อรัฐสภา แซะ รัฐบาลมีไว้ใช้เพื่อป้องกันตัวมากกว่าป้องกันโรค พร้อมเปรียบสภาฯ เหมือน "เสือกระดาษ"
เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 63 นายรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล แถลงข่าวกรณีที่คณะทำงานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกล ประกอบด้วย นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ และนายธีรัจชัย พันธุมาศ เตรียมเสนอร่างพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. …. ต่อรัฐสภา
โดยเหตุผลของการเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเนื่องมาจากพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันนั้นได้ให้อำนาจแก่นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากองค์กรอื่นอีก เมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว นายกรัฐมนตรีจะมีอำนาจในการออกข้อกำหนดที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพได้อย่างกว้างขวาง เช่น การห้ามออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด (เคอร์ฟิว), การห้ามการชุมนุม, การห้ามนำเสนอข่าวสารบางประการ, การห้ามใช้เส้นทางคมนาคมหรือยานพาหนะ ซึ่งข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ได้รับการยกเว้นให้ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง นอกจากนี้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ยังไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัยอีกด้วย
บทบัญญัติในพระราชกำหนดดังกล่าวส่งผลให้ในทางปฏิบัติรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 และประกาศขยายระยะเวลาออกไปอีก 2 ครั้ง ด้วยข้ออ้างว่าเพื่อแก้ไขสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 จนถึงปัจจุบันได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมาแล้วเป็นเวลาถึง 85 วัน โดยที่ไม่มีองค์กรอื่นใดสามารถโต้แย้งได้ และยังไม่มีท่าทีที่แน่ชัดว่าจะยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แม้ว่าจะไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ภายในประเทศเป็นเวลาถึง 23 วันติดต่อกัน บ่งชี้ว่าสถานการณ์ขณะนี้ควบคุมได้ ไม่มีความฉุกเฉินอีกแล้วก็ตาม โดยในขณะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นมีการออกประกาศและคำสั่งของราชการที่ส่งผลกระทบกับประชาชนเป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งอาจเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพอย่างเกินสมควรแก่เหตุ ทว่าประชาชนไม่อาจร้องต่อศาลปกครองได้ นอกจากนี้ยังมีกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐอ้างข้อกำหนดออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในการห้ามกระทำการและดำเนินคดีต่อประชาชนที่ใช้เสรีภาพเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนด้วยกัน เช่น ผู้ที่แจกอาหารและสิ่งจำเป็น, ผู้ที่แสดงการคัดค้านโครงการของรัฐ, ผู้ที่เรียกร้องสิทธิให้กับคนไทยที่ถูกอุ้มหาย
ด้วยเหตุทั้งหมดที่กล่าวมา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกลจึงขอเสนอร่างพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. …. ที่จะมีผลเป็นการยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และมีสาระสำคัญที่เปลี่ยนแปลงจากพระราชกำหนดดังกล่าว ได้แก่
1.ให้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยฝ่ายบริหารสามารถใช้บังคับได้ไม่เกิน 30 วัน โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรภายใน 7 วันนับแต่วันประกาศ รวมถึงในการขยายระยะเวลาแต่ละครั้งต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรเช่นกัน และหลังสิ้นสุดการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้วนายกรัฐมนตรีจะต้องทำรายงานผลการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินต่อสภาผู้แทนราษฎรด้วย
2.ยกเลิกอำนาจในการออกข้อกำหนดห้ามนำเสนอข่าวสาร เพื่อให้สื่อมีอิสระในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร
3.ยกเลิกข้อยกเว้นที่ให้ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ให้อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง และยกเลิกข้อยกเว้นให้พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย เพื่อให้การใช้อำนาจภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินถูกตรวจสอบได่โดยองค์กรตุลาการ
4.ในการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่ต้องสงสัยภายใต้การประกาศสถานการณ์ที่มีความร้ายแรง จะต้องดำเนินการด้วยกระบวนการปกติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เช่น ควบคุมตัวได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง ,ต้องควบคุมตัวภายในสถานีตำรวจที่ญาติและทนายความเข้าถึงได้
พรรคก้าวไกลจะเดินหน้าผลักดันร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ของการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ผู้ใช้อำนาจมีความรับผิดชอบต่อประชาชน และใช้อำนาจที่ประชาชนมอบหมายให้แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้โดยเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ นายธีรัจชัย และ นายณัฐชา ยังได้แถลงกล่าวขอบคุณ กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องวินิจฉัยคุณสมบัติของ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า โดยจะติดตามการวินิจฉัยอย่างใกล้ชิด
นายธีรัจชัย ยังได้กล่าวถึงเรื่อง ศาลฯไม่สั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ โดยเรียกร้องว่าต้องการคำชี้แจงและเหตุผลในข้อกฎหมายเหตุการไม่สั่งยุติปฏิบัติ เพื่อนำไปศึกษาเปรียบเทียบกับกรณีอื่นๆในลักษณะเดียวกัน ให้เกิดความเข้าใจในข้อกฎหมาย แต่ทั้งนี้ยืนยันไม่ได้โต้แย้งคำตัดสินของศาล
ส่วน นายณัฐชา กล่าวว่า ตนเคารพคำตัดสินของศาล และตั้งข้อสังเกตถึงการประชุมของสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ที่มีการกล่าวในที่ประชุมของสมาชิกว่า ผู้ที่จะเป็นกรรมการบริหารพรรค ต้องไม่มีประวัติเกี่ยวข้อกับยาเสพติดนั้น มีนัยยะใดแอบแฝงหรือไม่