อย่าเพิ่งลงทุน 'หุ้นกู้ตลอดชีพ' ถ้ายังไม่รู้ 4 เรื่องนี้!
ทำความรู้จัก "หุ้นกู้" ประเภท "หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน" พร้อมเงื่อนไขในการลงทุน ที่นักลงทุนควรรู้ก่อนตัดสินใจลงทุน
ในภาวะดอกเบี้ยต่ำ ทำให้บรรดานักลงทุนทั้งรายใหญ่รายย่อยต่างมองหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น หนึ่งในสินทรัพย์ที่กำลังถูกพูดถึง คือ "หุ้นกู้" ซึ่งเป็นลงทุนที่ไม่เน้นความหวือหวา มีโอกาสให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ และมีความเสี่ยงที่แตกต่างและหลากหลาย ในระยะที่ผ่านมา มีบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งทยอยออกหุ้นกู้ ที่ให้ดอกเบี้ยค่อนข้างสูง ดึงดูดใจนักลงทุนไม่น้อย
ทว่าการลงทุนใน "หุ้นกู้" มีอีกหลายมิติที่ต้องนำมาพิจารณา ไม่ใช่ดูแค่ผลตอบแทนเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงด้านดอกเบี้ย ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง และความเสี่ยงด้านเครดิตที่สะท้อนในเครดิตเรทติ้ง เช่น หากเป็นหุ้นกู้ไม่มีเรทติ้ง (unrated) หรือ เรทติ้งต่ำกว่าระดับที่ลงทุนได้ (non-investment grade) จะยิ่งทำให้มีความเสี่ยงยิ่งสูง แต่หุ้นกู้เหล่านี้มักจะให้ดอกเบี้ยสูงเพื่อจูงใจ
หุ้นกู้อีกหนึ่งประเภทที่หลายคนกำลังให้ความสนใจอย่างมากในตอนนี้คือ "หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน" (perpetual subordinated bond) ซึ่งมีหลายบริษัทเสนอขายแก่ผู้ลงทุนและเป็นที่สนใจมาก เพราะให้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นกู้ปกติ ทว่า หุ้นกู้ประเภทนี้มักลักษณะพิเศษที่ต้องรู้ และทำความเข้าใจก่อนตัดสินใจลงทุน
ลักษณะสำคัญของ “หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน” (perpetual subordinated bond) ที่ควรรู้ ก่อนตัดสินใจลงทุน
- ผู้ออกหุ้นกู้ คือ ผู้ที่ออกหรือขายหุ้นกู้ มีฐานะเป็นลูกหนี้ และเป็นผู้ที่มีสิทธิ์ออกเกณฑ์การชำระคืนหนี้
- ผู้ถือหุ้นกู้หรือผู้ลงทุน คือ ผู้ลงทุนในหุ้นกู้ ที่มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของผู้ออกหุ้นกู้
1. ความหมายของคำว่า “หุ้นกู้ด้อยสิทธิ”
“หุ้นกู้ด้อยสิทธิ” คือ หุ้นกู้ที่ผู้ลงทุนจะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของผู้ขาย เหมือนกับหุ้นกู้ธรรมดา แต่ผู้ลงทุนจะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ ‘หลัง’ จากเจ้าหนี้รายอื่น ๆ ที่เป็นผู้ถือหุ้นกู้มีประกันและไม่ด้อยสิทธิ แต่ยังมีสิทธิจะได้รับเงิน ‘ก่อน’ ผู้ถือหุ้นสามัญ ซึ่งผู้ลงทุนมีสิทธิ์ที่จะได้รับชำระหนี้คืนทั้งหมด หรือได้รับคืนบางส่วน หรือไม่ได้เงินคืนเลยก็เกิดขึ้นได้ พูดง่ายๆ ก็เป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิจะมีสิทธิน้อยกว่าหุ้นกู้มีประกันและไม่ด้อยสิทธิ และมีความเสี่ยงมากกว่า
2. ความหมายของคำว่า “ที่มีลักษณะคล้ายทุน”
ส่วนคำว่า “ที่มีลักษณะคล้ายทุน” คือที่มาของคำว่า “หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์” หรือ “หุ้นกู้ตลอดชีพ” เนื่องจากลักษณะคล้ายทุน หมายถึง สิทธิของผู้ลงทุนในการไถ่ถอนของหุ้นกู้ตัวนี้จะทำได้ก็ต่อเมื่อบริษัทยกเลิกกิจการไป หรือเป็นการถือแบบไม่มีกำหนด
นั่นคือ ผู้ลงทุนต้องถือหุ้นกู้ตัวนี้ไปเรื่อยๆ แบบไม่มีกำหนด และอาจไม่ได้รับคืนเงินต้นตลอดช่วงเวลาที่ถือหุ้นกู้อยู่นั้น เรียกได้ว่าชะตาชีวิตถูกกำหนดโดยผู้ออกหุ้นกู้ โดยที่ผู้ถือหุ้นกู้หรือผู้ลงทุนไม่มีสิทธิบังคับให้ผู้ออกต้องไถ่ถอนหุ้นกู้ในช่วงใดๆ ก็ตาม
ดังนั้น หากไม่ต้องการถือหุ้นกู้นี้อีกต่อไป ผู้ถือหุ้นกู้นี้จะทำได้เพียงขายออกไปเท่านั้น ซึ่งอาจขายได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่ได้มา หรือไม่ได้ตามเวลาที่ต้องการ หรืออาจขายไม่ได้เลย ขึ้นอยู่กับว่าช่วงเวลานั้นๆ ว่ามีคนสนใจหุ้นกู้นี้อยู่หรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้น หุ้นกู้บางตัว ยังถูกกำหนดเงื่อนไขว่าต้องเป็นผู้ลงทุนบางกลุ่ม เช่น ผู้ลงทุนสถาบัน หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ที่จะซื้อได้ นั่นแปลว่า เราต้องขายให้เฉพาะกับคนกลุ่มนี้เท่านั้น ซึ่งทำให้การขายยากไปขึ้นไปอีก ซึ่งเป็นความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่ต้องยอมรับให้ได้หากตัดสินลงทุนหุ้นกู้ประเภทนี้
3. ผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิเลื่อนการชำระดอกเบี้ย
อีกหนึ่งเงื่อนไข ที่ไม่รู้ไม่ได้คือ ผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิเลื่อนการชำระดอกเบี้ยพร้อมกับสะสมดอกเบี้ยจ่ายไปชำระในวันใดก็ได้ ไม่จำกัดระยะเวลา และไม่จำกัดจำนวนครั้ง และผู้ออกอาจไม่จ่ายดอกเบี้ยสำหรับส่วนที่ค้างชำระก็ได้ ผู้ถือหุ้นกู้หรือผู้ลงทุนจะได้รับดอกเบี้ยเมื่อใดก็ขึ้นอยู่กับผู้ออกเช่นกัน
จึงกล่าวได้ว่า ผู้ถือหุ้นกู้ตัวนี้มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับดอกเบี้ยหรือได้รับดอกเบี้ยล่าช้า นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยเป็นแบบลอยตัว ซึ่งจะระบุดอกเบี้ยชัดเจนในช่วง 5 ปีแรก ส่วนในปีต่อๆ ไปจะเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งอาจทำให้ยากต่อการวางแผนการลงทุนและเป็นความเสี่ยงที่นักลงทุนต้องแบกรับ
4. ไม่มีเงื่อนไขการผิดนัดไขว้
“หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน” ไม่มีเงื่อนไขการผิดนัดไขว้ (cross-default)
ซึ่ง คำว่า "การผิดนัดไขว้ (cross-default)" เป็นชื่อเรียกข้อสัญญาประเภทหนึ่ง หมายถึงการผิดสัญญาข้ามกันหรือไขว้กันดังนั้นถ้าบอกว่าสัญญาไหนมีข้อสัญญาการผิดนัดไขว้ แสดงว่าสัญญานั้นมีข้อสัญญาที่กำหนดว่าถ้าลูกหนี้ไปทำผิดสัญญาอื่นก็จะถือว่าลูกหนี้ผิดสัญญานั้นด้วย
ดังนั้นเมื่อ “หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน” ไม่มีเงื่อนไขการผิดนัดไขว้ (cross-default) จึงหมายความว่า หากผู้ออกหุ้นกู้มีการผิดนัดชำระหนี้ ในหุ้นกู้อื่น หรือสัญญาทางการเงินอื่น หรือเจ้าหนี้อื่น จะไม่ทำให้ผู้ออกหุ้นกู้เป็นผู้ผิดนัดชำระภายใต้หุ้นกู้นี้ด้วย
ซึ่งเมื่อไม่มีการผิดนัดชำระ ผู้ถือหุ้นกู้หรือผู้ลงทุนจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ออกหุ้นกู้ต้องชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย นอกจากนี้หากผู้ออกหุ้นกู้ชำระหนี้คืนให้เจ้าหนี้อื่นจนทำให้ขาดสภาพคล่อง ผู้ถือหุ้นกู้นี้จะมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับดอกเบี้ยตามกำหนดตามไปด้วย
จะเห็นได้ว่าหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน มีลักษณะที่ซับซ้อนและความเสี่ยงที่มากกว่าหุ้นกู้ทั่วไป ฝ่ายส่งเสริมความรู้ตลาดทุนและศูนย์ประสานงานต่างจังหวัด สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จึงได้ให้ข้อแนะนำก่อนลงทุน ประกอบด้วยเช็คลิสต์ 5 ข้อ สำหรับผู้ลงทุนสำรวจตัวเอง ดังนี้
- ทำแบบประเมินความเสี่ยงก่อนลงทุน โดยเจ้าหน้าที่การตลาดที่ขายหุ้นกู้จะให้ผู้ซื้อลงนามรับทราบความเสี่ยงการซื้อหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนก่อนซื้อ
- เงินที่นำมาลงทุนเป็นเงินสำหรับลงทุนได้ในระยะยาวมาก
- ศึกษา factsheet และลักษณะของหุ้นกู้ (features) และเงื่อนไขต่าง ๆ ให้ครบถ้วน เช่น การไถ่ถอนคืนก่อนกำหนด การจ่ายดอกเบี้ย
- รู้เครดิตเรทติ้ง
- รู้วิธีขายคืน
สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดาวน์โหลด แอพพลิเคชั่น SEC Bond Check เครื่องมือใหม่ที่อำนวยความสะดวกสำหรับผู้ลงทุนตราสารหนี้ มีข้อมูลพื้นฐานของหุ้นกู้ พร้อมแสดงอันดับเครดิตเรทติ้ง อย่างชัดเจน ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ ทั้งในระบบ iOS และ Android
"การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้เข้าใจก่อนตัดสินใจลงทุน"
อย่างไรก็ตาม การลงทุนแต่ละประเภท ย่อมขึ้นอยู่กับการพิจารณาและตัดสินใจของแต่ละบุคคล ซึ่งอาจเห็นโอกาสของผลตอบแทนและยอมรับความเสี่ยงได้ในระดับที่แตกต่างกัน
ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)