ส.อ.ท.ถกนายกฯ ปม“เอสเอ็มอี”เข้าไม่ถึง“ซอฟต์โลน” 

ส.อ.ท.ถกนายกฯ  ปม“เอสเอ็มอี”เข้าไม่ถึง“ซอฟต์โลน” 

ส.อ.ท.ชง 2 ข้อเสนอปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ช่วยเอสเอ็มอี พร้อมหารือการฟื้นฟู และเยียวยาผู้ภาคการเกษตร ด้วย“ระบบการเกษตรแม่นยำ” 

แม้โรคโควิด-19 จะค่อยๆหายไปจากประเทศไทยแล้ว แต่สิ่งที่เหลือทิ้งไว้คือ ความเสียหายทางเศรษฐกิจ ที่ยิ่งเป็นรายเล็กก็ยิ่งเจ็บหนัก แต่สภาพอ่อนแรงทางธุรกิจกำลังเป็นอุปสรรคการเข้าถึงแผนเยียวยาและมาตรการช่วยเหลือต่างๆของภาครัฐ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในวันนี้ (19 มิ.ย.) ส.อ.ท. จะเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอข้อคิดเห็นในการฟื้นฟูและเยียวยาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยประเด็นหลักๆ จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือการเยียวยาผู้ประกอบการายย่อยและการดูแลภาคการเกษตร

ในส่วนของการเยียวยา จะเน้นในเรื่องการให้รัฐบาลสนับสนุนด้านการเงินให้กัริษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) 2 แสนล้านบาท ที่ บสย. ได้ยื่นเรื่องไปยังกระทรวงการคลังแล้ว เนื่องจากยังมีเอสเอ็มอีจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อที่รัฐบาลปล่อยออกมา 5 แสนล้านบาท ผ่านธนาคารพาณิชย์ อัตราดอกเบี้ยต่ำ 2% แต่ที่ผ่านมามีเงินออกไปเพียง 8 หมื่นล้านบาท เนื่องจากรัฐบาลค้ำประกันได้เพียง 2 ปีแรก

“แต่ในความเป็นจริงเอสเอ็มอีจะใช้เวลาในการฟื้นฟู 3-5 ปี ทำให้ในช่วงหลัง 2 ปีแรก ไปจนถึง 5 ปี ยังไม่มีการค้ำประกัน ทำให้ธนาคารพาณิชย์ไม่กล้าที่จะปล่อยสินเชื่อ ดังนั้นหากรัฐบาลเพิ่มวงเงินให้กับ บสย. อีก 2 แสนล้านบาท ก็จะขยายการค้ำประกันไปจนถึง 5 ปีได้และจะทำให้ธนาคารพาณิชย์กล้าที่จะปล่อยสินเชื่อมากขึ้น”

159247945043

ทั้งนี้ คณะทำงานภายใต้คณะกรรมการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ภาคอุตสาหกรรม มีการจัดทำแบบสำรวจ การจัดประชุมระดมความคิดเห็น การสอบถามโดยตรงยังสภาอุตสาหกรรม 5 ภาค กลุ่มจังหวัด 18 กลุ่มจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด 74 จังหวัด สมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรม 45 กลุ่มอุตสาหกรรม จำนวน 360 ราย พบว่า สมาชิก ส.อ.ท.รับทราบถึงมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินและภาษีที่ภาครัฐดำเนินการ

นอกจากนี้ ยังคงมีปัญหาอุปสรรคในการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน)500,000 ล้านบาท ของธนาคารแห่งประเทศไทย ของสมาชิก ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ อาทิ เนื่องจาก พ.ร.ก. กำหนดให้เอสเอ็มอีขอสินเชื่อได้เท่านั้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่มียอดขายเกิน 500 ล้านบาท ไม่สามารถขอสินเชื่อได้ รวมถึงกรณีบางรายมีประวัติที่ไม่ดี ประสบปัญหาเป็นหนี้เอ็นพีแอล หรือขาดทุนในช่วงต้นปี 2563 และยังพบบางกรณี ธนาคารพาณิชย์แจ้งว่าสินเชื่อดังกล่าว หมดแล้ว และเสนอแพ็คเกจสินเชื่ออื่นแทน

ส.อ.ท. จึงขอเสนอ 

1. ขอให้บสย.เข้ามาค้ำประกันสินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ตามวงเงินกู้ ธปท. 5 แสนล้านบาท เพื่อจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการง่ายขึ้น

2.ขอสนับสนุนแนวทางการช่วยเหลือทางการเงินกับเอสเอ็มอีจากมติ ครม. วันที่ 26 พ.ค.2563 ที่ได้เห็นชอบให้ปล่อยสินเชื่อวงเงิน10,000 ล้านบาท ผ่านธนาคารออมสิน สำหรับเอสเอ็มอีที่มีคุณสมบัติไม่เข้าข่ายตาม พ.ร.ก.ซอฟต์โลน โดยในเบื้องต้น ส.อ.ท. จะขอให้กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อง่ายขึ้น

ส่วนอีกประเด็นที่จะยกขึ้นหารือคือ การฟื้นฟู และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 ในเรื่องการฟื้นฟูภาคการเกษตร ผ่านการให้รัฐบาลลดต้นทุนการผลิตด้วย“ระบบการเกษตรแม่นยำ” กำหนดพื้นที่นำร่อง 2 ล้านไร่ ในกลุ่มพืชผล 5-6 ชนิด เช่น ข้าว ข้าวโพด ยางพารา มันสำปะหลัง และปาล์ม ซึ่ง ส.อ.ท.ในกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการเกษตรและเครือข่ายจะรับซื้อผลผลิตทั้งหมดในราคารับประกันที่ไม่ต่ำกว่าราคาตลาด แต่เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มจากการลดต้นทุนการผลิตจากเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำได้ประมาณ 1.5 พันบาทต่อไร่โดย ส.อ.ท. พร้อมที่จะสนับสนุนเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ต่างๆ เพื่อยกระดับภาคการเกษตรของไทยไปสู่สมาร์ทฟาร์มเมอร์