'BBS' เมินธุรกิจการบินฟุบ ลุยลงนามร่วมทุน 'อู่ตะเภา'
นายกฯ เปิดทำเนียบรัฐบาลนัก BBS ลงนามร่วมลงทุนอู่ตะเภา 2.9 แสนล้านบาท "คณิศ" มั่นใจโควิดไม่กระทบการลงทุน "บีทีเอส" เผยลงทุนช่วงนี้จะหวะดี สร้างเสร็จธุรกิจการบินฟื้น
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการลงนามสัญญาร่วมลงทุนระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กับบริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด ในวันนี้ (19 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อร่วมพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่าการร่วมลงทุน 290,000 ล้านบาท
บริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด จัดตั้งขึ้นมามีทุนจดทะเบียน 4,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นการตั้งบริษัทของกิจการร่วมค้าบีบีเอสเพื่อบริหารโครงการ โดยมีผู้ถือหุ้น คือ
บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มีบทบาทหลักเป็น Lead Firm ตามสัดส่วนการถือหุ้น 45%
บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 35%
บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 20%
การลงนามครั้งนี้จะมีผู้แทนจากทั้ง 3 บริษัท เข้าร่วม คือ นายพุทธิพงศ์ ปราสาททองโอสถ รองประธานกรรมการบริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหารบริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และนายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัทซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ. เปิดเผยกับกรุงเทพธุรกิจว่า ขณะนี้มีความพร้อมที่จะลงนามสัญญาร่วมลงทุนดังกล่าว ซึ่งข้อโต้แย้งในระหว่างการประมูลในช่วงที่ผ่านมาได้ข้อสรุปหมดแล้วทั้งส่วนที่เกี่ยวข้องกับศาลปกครองและการยื่นร้องเรียนต่อภาครัฐ
การเริ่มลงทุนในช่วงที่อุตสาหกรรมการบินชะลอมากจากผลกระทบโควิด-19 จะไม่กระทบต่อโครงการนี้ เพราะสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ประเมินว่าอุตสาหกรรมการบินจะกลับมาเทียบเท่าช่วงก่อนโควิด-19 ในช่วงปลายปี 2564 ในขณะที่การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาจะใช้เวลา 3 ปี
นอกจากนี้ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งจะมีความสำคัญคือเป็นสนามบินแห่งที่ 3 ของกรุงเทพฯ มีมูลค่าการลงทุนรวม 2.9 แสนล้านบาท คาดว่าจะสร้างผลตอบแทนทางการเงินให้แก่รัฐจากค่าเช่าที่ดิน และส่วนแบ่งรายได้ 305,555 ล้านบาท ได้ภาษีอาการเพิ่ม 62,000 ล้านบาท และมีการจ้างงาน 15,600 ตำแหน่ง (ใน5 ปีแรก) เมื่อสิ้นสุดสัญญา 50 ปีข้างหน้าทรัพย์สินทั้งหมดตกเป็นของรัฐ
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหารบริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจว่า การก่อสร้างจะใช้เวลาประมาณ 3 ปี เมื่อถึงเวลานั้นอุตสาหกรรมการบินจะกลับมาเป็นปกติแน่นอน โดยประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญของการท่องเที่ยว จะทำให้สนามบินอู่ตะเภาสามารถรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้นได้
“อีกไม่นานอุตสาหกรรมการบินจะฟื้นตัวเพราะดีมานด์มีอยู่แล้ว เมื่อการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ดีขึ้น และมีวัคซีนป้องกันโรคจะทำให้การเดินทางกลับมาเป็นปกติ”
รวมทั้งการบริหารโครงการนี้ ผู้ร่วมลงทุนจะร่วมกันดูทั้งหมด โดยลงทุนครั้งนี้จะใช้ความเชี่ยวชาญของพันธมิตรหลักทั้ง 3 ราย มารวมกันเพื่อให้พัฒนาโครงการได้ตามแผน โดยบริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มีความเชี่ยวชาญด้านการบินและการบริหารสนามบิน ส่วนบีทีเอส เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ และบริษัทซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) มีความเชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่
รายงานข่าวจาก สกพอ.ระบุว่า ภารกิจหลังการลงนามจะมีทั้งของภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะการทำรายงานศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) กองทัพเรือจะต้องทำในส่วนโครงการพัฒนารันเวย์ 2 ส่วนบริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด จะต้องทำอีไอเอของโครงการอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 1 ปี
หลังการเซ็นสัญญาร่วมลงทุนครั้งนี้ บริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด จะต้องจัดทำมาสเตอร์แพลนการพัฒนาโครงการให้เสร็จภายใน 60 วัน โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในอีก 1 ปี ข้างหน้า และจะไม่มีปัญหาการส่งมอบพื้นที่ 6,500 ไร่ เพราะเป็นพื้นที่ของกองทัพเรือทั้งหมด
บริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด จะต้องทำมาสเตอร์แพลนการพัฒนาโครงการให้เสร็จภายใน 60 วัน ซึ่งการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกแบ่งเป็น 4 เฟส ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี รวมแล้วจะรองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคน
เฟสที่ 1 จะเป็นการพัฒนาอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 รองรับผู้โดยสาร 16 ล้านคน สูงกว่าที่กำหนดในเอกสารการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (อาร์เอฟพี) กำหนดไว้ 12 ล้านคน รวมถึงการก่อสร้างแท็กซีเวย์ การเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงและการเชื่อมจราจรจากพื้นที่นอกสนามบิน และกลุ่มบีบีเอสประเมินมูลค่าการก่อสร้างส่วนนี้ไว้ 40,000 ล้านบาท
เฟสที่ 2 จะเริ่มพัฒนาเมื่อจำนวนผู้โดยสารในเฟสที่ 1 อยู่ที่ระดับ 85% โดยจะพัฒนาระบบรถไฟฟ้าเชื่อมต่อการเดินทางเข้ามาในโครงการ พัฒนาอาคารผู้โดยสารให้รองรับ 30 ล้านคน
เฟสที่ 3 ขยายการรองรับเป็น 45 ล้านคน
เฟสที่ 4 รองรับผู้โดยสารสูงสุด 60 ล้านคน
เงื่อนไขการเริ่มก่อสร้างขึ้นกับ 2 ส่วน คือ 1.การจัดทำอีไอเอ
2.การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่วมประสานงานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกเพื่อบูรณาการการดำเนินโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ให้ไปในทิศทางเดียวกัน