สร้างความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ หลังวิกฤติโควิด-19
สถานการณ์โควิด-19 นอกจากจะส่งผลต่อระบบสาธารณสุข ยังส่งผลต่อภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม โดยเฉพาะการท่องเที่ยว โรงแรม บริการ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ทำให้ทุกภาคส่วนต้องหันกลับมามองว่า จะทำอย่างไรเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจ หลังพ้นวิกฤติโควิด-19
เมื่อประเทศไทยมีการคลายล็อกดาวน์ไปสู่ระยะที่ 4 หลายธุรกิจ จึงต้องกลับมามองว่า เราพร้อมแล้วหรือยังที่จะเปิดกิจการหรือเตรียมเปิดประเทศในอนาคต โควิด-19 กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของหลายภาคธุรกิจทั้งในไทยและต่างประเทศ ที่ต้องเตรียมรับมือกับความปกติในรูปแบบใหม่ หรือ New Normal รวมถึงเตรียมพร้อมรับมือกับโรคระบาดใหม่ๆ ในอนาคต และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ธุรกิจโดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เงียบเหงาไปพักใหญ่
“สุมนา กุลละวณิชย์” Manager, Business Development Technology บริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าจากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าโลกหลังโควิด-19 เทคโนโลยีจะเข้ามาตอบโจทย์ให้แก่ภาคธุรกิจ โดย 4 เทรนด์หลัก ได้แก่ เทรนด์ที่ 1 เทคโนโลยีที่จะให้การเข้าถึงการตรวจโรคระบาดง่ายและแม่นยำขึ้น โดยเฉพาะความพร้อมของแต่ละหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวกับการเดินทาง สายการบิน โรงแรม ณ ตอนนี้สิ่งที่เราได้ยินตลาด คือ Travel Bubble ซึ่งเป็นนโยบายในเรื่องของการจับคู่ประเทศที่มีความปลอดภัยต่อการติดเชื้อโควิด-19 ประเทศต้นทางและประเทศปลายทาง จะต้องมีการตรวจคัดกรองผู้เดินทาง
ดังนั้น ห้องปฏิบัติการต้องสามารถเข้าถึงได้ อาจจะต้องมีการปรับใช้ห้องปฏิบัติการขนาดเล็กในการตรวจหาเชื้อสำหรับพนักงาน เช่นเดียวกับปัจจุบัน ที่รัฐบาลมีการทำห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ (Mobile Lab) ป้องกันการแพร่เชื้อในวงกว้าง การตรวจเชื้อต้องง่ายและเข้าถึงได้ ดังนั้น โซลูชั่นที่จะเข้ามาตอบโจทย์ในเรื่องของการเข้าถึงการตรวจให้ง่าย เข้าถึงได้ เชื่อมต่อเข้ากับสมาร์ทโฟน และ แอปพลิเคชั่นได้ เพื่อความรวดเร็ว แม่นยำ สะดวก
เทรนด์ที่ 2 นวัตกรรมในการฆ่าเชื้อ จะมีการพัฒนามากขึ้น ปลอดภัย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้บริการ โดยในการคลายล็อกดาวน์ระยะที่ 4 หน่วยงานต่างๆ เริ่มจะมองหาการป้องกันไม่ให้มีเชื้อกลับมาระลอก 2 โดยเฉพาะธุรกิจด้านเอนเตอร์เทนเมนต์ โรงภาพยนตร์ สปา ฟิตเนส
เทรนด์ที่ 3 นวัตกรรมการคัดกรองที่พัฒนามากขึ้น โดยเฉพาะในหน่วยธุรกิจอุตสาหกรรม โรงแรม โรงพยาบาล ที่มีพนักงานจำนวนมาก โดยไม่ต้องสัมผัสระหว่างบุคคล เช่น เครื่องเทอร์โมสแกน ที่สามารถแจ้งเตือนการใส่หน้ากากอนามัย วัดอุณหภูมิพร้อมเทียบข้อมูลพนักงานได้ เป็นต้น
เทรนด์ 4 คือ เทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งนำพาประเทศไปสู่การเป็น Medical Hub และมีความมั่นคงด้านสาธารณสุข ทั้งนี้ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ไทยได้รับการจัดอันดับความมั่นคงด้านสาธารณสุข อันดับ 1 ในเอเชีย และเป็นอันดับ 6 ของโลกในการรับมือและจัดการโรคระบาด เพราะเรามีความมั่นคงในด้านการจัดการด้านสาธารณสุข และความสามารถในด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ทั้งในเรื่องของห้องปฏิบัติการในโรงเรียนแพทย์ และมหาวิทยาลัยชั้นนำ ที่พัฒนาองค์ความรู้ นำไปสู่การทดลอง และการทำวัคซีน
ขณะเดียวกัน ไทยยังมีความร่วมมือกับหลายประเทศ ในการพัฒนาองค์ความรู้ และรัฐบาลก็มีการส่งเสริมในเรื่องของการลงทุนในเรื่องของอุปกรณ์ทางการแพทย์ (Medical Device) พร้อมกับพยายามพัฒนาความมั่นคงโดยการออกกฏหมายเกี่ยวกับความมั่นคงทางด้านวัคซีน เป็นการส่งเสริมบริษัทผู้ผลิตรองรับความต้องการภายในประเทศ ตอบโจทย์ การรักษา ถือเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่สำคัญเช่นกัน
ทั้งนี้ เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา ดีเคเอสเอช ได้ร่วมกับ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท เปิด ศูนย์ความเป็นเลิศ ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) ด้านวิทยาศาสตร์การวิเคราะห์ (DKSH Center of Excellence in Analytical Science at MUSC) “สุจิน นุ่มเรือง” Assistant General Manager Scientific Instrumentation, Technology บริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า ศูนย์ดังกล่าว เป็นการรวมเครื่องมือและอุปกรณ์เพื่อการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ ส่งเสริมการสร้างมิติในการทำวิจัยร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคเอกชนก่อให้เกิดองค์ความรู้ และเทคโนโลยีที่นำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์
เพิ่มความสามารถในการบริการด้านโซลูชั่นการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ให้ครบถ้วนสมบูรณ์มากขึ้น ทั้งแก่ลูกค้าผู้ที่สนใจ และบุคลากรทางการศึกษาต่างๆ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนาการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย ทั้งนี้ รายได้ส่วนหนึ่งจากการให้บริการจะคืนกำไรให้สู่สังคมโดยบริจาคกลับมาทางคณะวิทยาศาสตร์ เพื่อเป็นทุนการศึกษา หรือเงินทุนพัฒนาศักยภาพของเครื่องมือวิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาวิจัยของนักศึกษาต่อไป ซึ่งขณะนี้ มีจำนวนเครื่องมือที่สามารถให้นักศึกษาได้พัฒนาความรู้ความสามารถเพิ่มมากขึ้น