ศปม. ลั่นไม่รีบร้อนเปิดประเทศ จับคู่ท่องเที่ยวยังติดขัด ทั้งต้นทาง-ปลายทาง

ศปม. ลั่นไม่รีบร้อนเปิดประเทศ จับคู่ท่องเที่ยวยังติดขัด ทั้งต้นทาง-ปลายทาง

ห่วงเปิดประเทศ จับคู่ท่องเที่ยวอย่ารีบร้อน ชี้ยังติดขัดกฎหมาย-ข้อปฏิบัติ ทั้งประเทศต้นทาง-ปลายทาง หน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งศึกษาผลกระทบ ขณะที่ สธ. เผยผลตรวจกลุ่มเสี่ยง 8 หมื่นคนไร้เชื้อ ด้าน ตร. สรุปตัวเลข 72 วัน "เคอร์ฟิว” ฝ่าฝืน 41,941 ราย


ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) โดย พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล รองโฆษก ศบค.แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ประจำวันที่ 18 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อยืนยันรายใหม่ 6 ราย เป็นผู้ป่วยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ และอยู่ในสถานที่กักกันของรัฐ ได้แก่ เพศชาย 5 ราย กลับจากซาอุดีอาราเบีย เป็นนักศึกษา อายุ 21-26 ปี เดินทางถึงไทยเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ทุกคนไม่มีอาการ และเพศหญิง 1 คน อายุ 26 ปี กลับจากอินเดีย มีไข้เมื่อ 16 มิ.ย.และเข้ารักษาใน จ.ชลบุรี

ขณะที่ในประเทศไม่มีผู้ป่วยต่อเนื่องเป็นวันที่ 24 ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อยืนยันสะสม 3,141 ราย หายป่วยแล้ว 2,997 คน รักษาตัวใน รพ. 86 คน ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม จำนวนผู้เสียชีวิตสะสมคงที่ 58 คน พบจากสถานที่กักกันของรัฐ 204 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ส่วนผู้ที่รักษาหาย ได้กลับบ้านเพิ่ม 1 ราย สะสม 2,997 ราย

ขณะที่ข้อมูลในช่วง 2 สัปดาห์ ของผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศ และเข้าสถานที่กักตัวของรัฐ พบว่ามาจากซาอุดีอาระเบีย ติดเชื้อมากที่สุด 11 คน หรือร้อยละ 27.5 สหรัฐสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 9 คน หรือร้อยละ 22.5 และอินเดีย 8 คน หรือ ร้อยละ 20

นายกฯกำลังคิดความร่วมมือปชช.

ทางด้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ตอบข้อถามผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบฯ ถึงวิธีการทำงานแบบ New Normal ที่จะเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ เพียงสั้นๆ โดนเอามือป้องปาก พร้อมกล่าวว่า “กำลังคิดอยู่”

วันเดียวกันนี้ (18 มิ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.มอบหมายให้ พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด(ผบ.ทสส.) ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) เข้าให้กำลังใจการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.)ในการปฏิบัติหน้าที่ สนับสนุนการป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโควิด-19

โดยในเวลา 09.00 น. พล.อ.พรพิพัฒน์ พร้อมด้วย พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ เสนาธิการทหาร พร้อมด้วยผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองบัญชาการกองทัพไทย ตัวแทนศปม. เดินทางไปยัง ตร. โดยมี พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พร้อมผู้บังคับบัญชาของ ตร.ต้อนรับ และสรุปผลการปฏิบัติงาน

พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วย ผบ.ตร.ในฐานะโฆษก ตร. แถลงตอนหนึ่งถึงภารกิจที่ ตร.ได้รับมอบหมายจาก ศปม. และเปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้มอบหมายให้ พล.อ.พรพิพัฒน์ นำความห่วงใยและคำชื่นชมมายัง ผบ.ตร. และข้าราชการตำรวจทุกนาย ที่ได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่อย่างทุ่มเท พร้อมทั้งขอให้ตำรวจดำรงความต่อเนื่องในการปฏิบัติต่างๆ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถผ่านสถานการณ์ครั้งนี้ และไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดขึ้นอีก

72 วันฝ่าเคอร์ฟิว 41,941 ราย

นอกจากนี้ พล.ต.ท.ปิยะ ได้เปิดเผยตัวเลขผู้กระทำความผิดในช่วงเวลาเคอร์ฟิวทั่วประเทศโดยนับตั้งแต่คืนวันที่ 3 เม.ย.-14 มิ.ย.2563 รวม 72 วัน พบว่ามีการฝ่าฝืนกระทำความผิดในช่วงเคอร์ฟิว 41,941 รายหรือเฉลี่ยวันละกว่า 582 ราย จำแนกรายละเอียดได้ดังนี้

การออกนอกเคหสถานโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่มีเหตุอันสมควร 37,358 ราย ดำเนินคดี 32,539 ราย ตักเตือน 4,819 ราย การรวมกลุ่มมั่วสุมในเคหสถานในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ 4,583 ราย ดำเนินคดี 4,474 ราย ตักเตือน 109 ราย โดยสาเหตุของการกระทำความผิดในการออกนอกเคหสถานโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่มีเหตุอันควร 3 ลำดับแรก ออกมาทำธุระ 8,412 ราย (ร้อยละ 25) เดินทางกลับที่พัก 6,718 ราย (ร้อยละ 20) และขับขี่ยานพาหนะเล่น 4,290 ราย (ร้อยละ 13)

ส่วนสาเหตุของการกระทำความผิด ในการรวมกลุ่มมั่วสุมในเคหสถาน ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ 3 ลำดับแรก ได้แก่ ดื่มสุรา 1,589 ราย (ร้อยละ 39) เล่นการพนัน 1,231 ราย (ร้อยละ 30) เสพยาเสพติด 690 ราย (ร้อยละ 17)

พล.ต.ท.ปิยะ ระบุด้วยว่า แม้รัฐบาลจะยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถานในเวลาห้ามแล้วก็ตาม แต่ยังคงมีข้อกำหนดอื่น ๆ ที่จะต้องถือปฏิบัติตาม เพื่อป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยไม่กระทำผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 จึงขอความร่วมมือประชาชนให้ปฏิบัติตาม

ศปม.-ตร.มอบหมาย 4 แนวทาง

พร้อมกันนี้ พล.ต.ท.ปิยะ ระบุว่า พล.อ.พรพิพัฒน์และพล.ต.อ.จักรทิพย์ได้สั่งการและกำหนดแนวทางปฏิบัติให้กับตำรวจทั่วประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 4 แนวทางดังนี้

1.ดำรงความต่อเนื่องในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทุกรูปแบบ 2.เพิ่มการตอบสนองในการแจ้งเหตุให้เพิ่มมากขึ้นตามช่องทางการแจ้งเหตุต่างๆ เพื่อให้ไปถึงจุดเกิดเหตุให้รวดเร็วที่สุด 3.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกตรวจกิจการ/กิจกรรมที่ได้รับการผ่อนคลาย เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด
ทั้งนี้ หากประชาชนพบการกระทำความผิด หรือต้องการแจ้งเบาะแสสามารถแจ้งมาได้ที่หมายเลขโทรศัพท์สายด่วน 191, 1599, 1138 และแอพพลิเคชั่น Police lert u ได้ 24 ชั่วโมง

ผบ.สูงสุดหนุนเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

พล.อ.พรพิพัฒน์ เปิดเผยหลังการหารือกับ ศปม.ตร. ว่า ตร.ได้รายงานผลการปฏิบัติตั้งแต่วันประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถึงปัจจุบัน ประมาณ 80 วัน ที่ได้ตอบสนองความต้องการ และงานที่ได้รับมอบหมายเกี่ยวกับสาธารณสุข โดยการตั้งด่านตรวจโควิด-19 ด่านเคอร์ฟิว กำลังพลที่ใช้จากทั่วประเทศ 4 หมื่นกว่านาย จัดตั้งจุดตรวจ 1,600 จุด และปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ถือว่าตำรวจเป็นส่วนสำคัญในการระงับการแพร่ระบาดของไวรัส

เมื่อเลิกสถานการณ์เคอร์ฟิว ทางตำรวจก็ปรับรูปแบบการปฏิบัติงานเพื่อที่จะจัดตั้งจุดตรวจในจุดที่จำเป็น กับเพิ่มขีดความสามารถในการออกตรวจตรา ค้นหาเป้าหมาย ซึ่งอาจเป็นผู้ก่ออาชญากรรม การชุมนุม หรือกิจกรรมต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส เป็นการปรับบทบาทเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์โควิด-19 ที่เปลี่ยนไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในส่วนของ ศปม.จะถ่ายโอนอำนาจอย่างไร พล.อ.พรพิพัฒน์ กล่าวว่า ตำรวจเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายตามปกติ หากมีการเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทุกคนก็กลับไปใช้กฎหมายที่มีอยู่เดิม

ชี้หากมีม็อบใช้ก.ม.เกี่ยวข้องได้

เมื่อว่า สิ่งที่ทุกคนมีความกังวลการออกมาเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมือง จะดูแลภาพรวมอย่างไร หากไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว พล.อ.พรพิพัฒน์ กล่าวว่า ก็ขึ้นอยู่กับ พ.ร.บ.การชุมนุมฯ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หากมีการเคลื่อนไหวใดๆ ก็ตาม ที่ไม่ทำผิดกฎหมายที่กำหนด ก็สามารถกระทำได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในทัศนะของฝ่ายความมั่นคง ประเมินว่าควรต่อหรือยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พล.อ.พรพิพัฒน์ กล่าวว่า ตนขอตอบในกรอบของสถานการณ์ป้องกันการแพร่ระบาด ขณะนี้สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ สิ่งสำคัญที่สุดที่นายกฯ พยายามเน้นย้ำคือประเทศต้องเดินต่อไปได้ ผู้คนต้องทำมาหากินได้ เศรษฐกิจต้องเจริญเติบโตเป็นปกติ เราก็ประเมินว่า อะไรก็ตามที่สามารถลดหย่อนการเข้มงวดเพื่อให้เศรษฐกิจเดินต่อไปได้ รัฐบาลพยายามจะเน้นแบบนั้น
ติงเปิด Travel bubble อย่ารีบร้อน

ผบ.ทสส. กล่าวถึงการเปิดประเทศอย่างเสรี โดยระบุว่า ต้องมีการพิจารณาอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเริ่มจาก Travel bubble หรือการให้สิทธิพิเศษของการเดินทางเข้าออกประเทศระหว่างกันได้โดยไม่ต้องมีการกักตัว 14 วัน แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเข้มข้น แต่ขณะนี้ ยังติดขัดในข้อปฏิบัติ ทั้งประเทศต้นทาง ปลายทาง และข้อกฎหมาย ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบให้รอบคอบ

“เบื้องต้น หากไม่ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน การพิจารณาคนเข้าประเทศ เชื่อว่า กฎหมายปกติ สามารถดูแลควบคุมการเดินทางเข้าออกได้ แต่ต้องค่อยเป็นค่อยไป” ผบ.ทสส.กล่าว

ผลสุ่มตรวจ 8 หมื่นคนปลอดเชื้อ

ทางด้านกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) แถลงถึงผลการตรวจเชิงรุกเพื่อเฝ้าระวัง และค้นหาการติดโรคโควิด-19 ในกลุ่มประชากรเสี่ยง หรือสถานที่เสี่ยง ที่ดำเนินการในทุกจังหวัดทั่วประเทศ พิจารณาจำนวนการตรวจในแต่ละจังหวัดตามความเสี่ยงของข้อมูลทางระบาดวิทยา โดยประชากรกลุ่มเสี่ยง
อาทิ บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ต้องขัง ผู้ต้องกัก คนขับหรือพนักงานประจำรถสาธารณะ พนักงานไปรษณีย์ พนักงานส่งของ กลุ่มแรงงานต่างด้าวในแคมป์ก่อสร้าง ที่อยู่ในหอพักเดียวกันจำนวนมาก และกลุ่มอาชีพเสี่ยงอื่น เช่น แม่ค้า/พ่อค้าหรือพนักงานขายของในตลาด/ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น และสถานที่เสี่ยง ที่มีคนมารวมตัวกันจำนวนมาก อาทิ ชุมชนแออัด ศาสนสถาน สถานีขนส่งผู้โดยสาร และสถานีรถไฟฟ้า เป็นต้น ใช้การเก็บตัวอย่างจากการขากเสลด และตรวจโดยการรวมกลุ่มตัวอย่าง(Pool Sample) ด้วยวิธีการตรวจหาสารพันธุกรรม RT PCR ที่เป็นการตรวจมาตรฐาน

ภายในมิ.ย.คาดตรวจครบแสนคน

ขณะนี้ดำเนินการตรวจแล้วราว 8 หมื่นรายทั่วประเทศ หรือคิดเป็น 80% ผลไม่พบเชื้อ แต่มีการตรวจพบผลเป็นบวกในผู้ป่วยรายเดิมเคยติดโควิด-19 มาก่อน ซึ่งอาจจะเป็นการตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อที่ยังมีอยู่ร่างกายได้ แต่ก็มีการดำเนินการจนครบกระบวนการ คือนำไปเพาะเชื้อ เพื่อทำให้เกิดความมั่นใจว่าเชื้อที่ตรวจเจอนั้นจะไม่แพร่กระจายหรือมีความสามารถในการแพร่เชื้อ ผลการเพาะก็พบว่าเชื้อนั้นไม่ได้มีการเติบโต จึงไม่ได้มีความสามารถในการแพร่เชื้อต่อไป ทั้งนี้ ตามเป้าหมายจะดำเนินการให้ครบ 1 แสนราย คาดว่าอย่างช้าที่สุดจะครอบคลุม 100% ภายใน มิ.ย.2563

“การตรวจเพื่อเฝ้าระวังในประชากรกลุ่มเสี่ยงและสถานที่เสี่ยงนี้ เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีความมั่นใจว่าไม่ได้หลุดรอด ไม่ตกหล่น จึงมีการตรวจเชิงรุก ด้วยการออกแบบการตรวจในคนปกติที่ไม่มีอาการ แต่มีโอกาสทางระบาดวิทยาที่จะได้รับเชื้อจึงสุ่มตรวจทั้งหมด ตั้งเป้าหมายตรวจ 1 แสนราย ตรวจแล้ว 80% ก็ไม่พบเชื้อ นำมาสู่การผ่อนคลายกิจการเป็นระยะๆ"

3 ปัจจัยไทยควบคุมโรคสำเร็จ

นพ.สุวรรณชัย ระบุว่า ในประเทศไทยสามารถควบคุมโรคได้ดี เพราะมี 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.ลดการนำเข้าเชื้อจากต่างประเทศ 2.การค้นหาผู้ป่วยไม่ว่าจะอยู่ในลักษณะของการป่วยจริง คือ มาเข้ารับการรักษาที่รพ. หรือการค้นหากรณีที่มีอาการน้อยๆในชุมชน หรือการค้นหาในกลุ่มผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อ เมื่อทำอย่างต่อเนื่องก็เป็นการตัดวงจรการระบาดเป็นรุ่นๆ ต่อเนื่องไป และ 3.วินัยของคนไทย 3 ปัจจัยนี้จึงทำให้มั่นว่าการควบคุมโรคของประเทศไทย อยู่ในระดับที่จัดการปัญหาได้แล้วจริงๆ