'เซ็นทรัลรีเทล' เขย่าพอร์ตห้าง เร่ง 'ซินเนอร์ยี' เสริมแกร่งธุรกิจ
ภายใต้สถานการณ์โควิดที่ยังคงส่งผลกระทบหนักในทั่วโลก เป็นข้อจำกัดของการเดินทางระหว่างประเทศ แน่นอนว่า “นักช้อป” ชาวไทยที่เคยเดินทางไปท่องเที่ยวและจับจ่ายต่างประเทศแต่ละปีเม็ดเงินไหลออกมหาศาล! เป็น “โอกาส" ของการหันมาใช้จ่ายในประเทศ
โดยเฉพาะนโยบายรัฐบาลปลุก “ไทยเที่ยวไทย” ร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย! เป็นปัจจัยบวกที่กลุ่มทุนค้าปลีกยักษ์ใหญ่ “เซ็นทรัลรีเทล” นำมาเป็นแนวทางในการปรับกลยุทธ์ธุรกิจหลากหลายรูปแบบ
ณัฐธีรา จิราธิวัฒน์ บุญศรี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด ในเครือกลุ่มเซ็นทรัลรีเทล กล่าวว่า การส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศจะทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยตามมาในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องต่างๆ มากมาย ส่งผลดีต่อธุรกิจค้าปลีกและกระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิดนี้
"เซ็นทรัลรีเทล ได้มีการรีวิวพอร์ตโฟลิโอ ซินเนอร์ยีธุรกิจในเครือ ทั้งการปรับเปลี่ยนแบรนด์ รวมจัดซื้อให้ได้วอลุ่มและราคาที่ดี เพื่อเสริมศักยภาพ สร้างความแข็งแรงมากขึ้น"
ต้องยอมรับว่าการปิดให้บริการของธุรกิจห้างสรรพสินค้าในปีนี้กระทบยอดขายไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แม้ “ออนไลน์” จะเติบโตถึง 600% แต่ยังมีสัดส่วนน้อยราว 10% แน่นอนว่าจะต้องมีการปรับทั้งตัวเลข พร้อมเร่งSynergy ธุรกิจในเครือให้เกิดความแข็งแรงมากขึ้น
ทั้งนี้ตามโครงสร้างธุรกิจค้าปลีกของ บริษัท เซ็นทรัลรีเทล จำกัด (มหาชน) หรือ CRC ในฐานะบริษัทแม่ ครอบครองอาณาจักร “ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์” หรือ ห้างสรรพสินค้า มากที่สุด 74 สาขา ประกอบด้วย ห้างเซ็นทรัล 23 สาขา และ ห้างโรบินสัน 51 สาขา ได้มีการปรับบิสสิเนสโมเดลใหม่ ให้สอดรับการเติบโตของเศรษฐกิจ ทำเล ประชากร กำลังซื้อ พฤติกรรมการบริโภค ที่เรียกได้ว่า มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและตลอดเวลา!
ประเดิมทำการปรับตราสัญลักษณ์ (แบรนด์) และยกระดับภาพลักษณ์ “โรบินสัน” และ “ห้างเซ็นทรัล” บางสาขา ให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่ให้ได้มากที่สุด สาขาแรก “โรบินสัน เมกาบางนา” ซึ่งเปิดมานาน 8 ปี ถูกเปลี่ยนเป็น “เซ็นทรัล เมกาบางนา” เจาะกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง
พื้นที่ย่านบางนา-ตราด เป็นทำเลทอง! และก้าวสู่แลนด์มาร์คแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก ด้วยความเป็นย่านเศรษฐกิจที่มีศักยภาพ เป็นประตูสู่ภาคตะวันออกเชื่อมต่อจังหวัดเศรษฐกิจ อย่าง ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง เป็นหน้าด่านก่อนเข้าสู่ใจกลางกรุงเทพฯ อนาคตอันใกล้ จะมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง รถไฟฟ้ารางคู่ บางนา-สุวรรณภูมิ เสริมการเติบโตของพื้นที่ รวมทั้งนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อสังหาริมทรัพย์ ใกล้สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ ทำให้ประชากรย่านนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
เบื้องต้น แผนปรับเปลี่ยนระหว่างเซ็นทรัลและโรบินสัน มีด้วยกัน 3 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด สำหรับ เซ็นทรัล เมกาบางนา เตรียมเปิดบริการ 2 ก.ค.นี้ เป็นเฟสแรก (Minor renovation) คาดยอดขายเพิ่ม 20% หลังจากนี้มีแผนพัฒนาเฟส 2 ซึ่งจะขยายพื้นที่และปรับโฉมใหญ่อีกครั้ง ราวไตรมาส 3-4 ปี 2564
ห้างเซ็นทรัลยังได้ปรับรูปแบบการขายแบบใหม่ มีบริการ 360 องศา “CENTRAL ANYTIME ANYWHERE” ตามพฤติกรรมลูกค้าที่นิยมใช้ “โซเชียลเน็ตเวิร์ก” เชื่อมต่อออฟไลน์-ออนไลน์อย่างไร้รอยต่อ (ออมนิแชนแนล) ผ่านบริการรูปแบบต่างๆ เช่น ชอปปิงผ่านเว็บไซต์ www.central.co.th ขายผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ แอพพลิเคชั่นไลน์ โทรศัพท์ บริการ E-Ordering และ Click and Collect สั่งออนไลน์และมารับได้ที่หน้าร้าน
วุฒิเกียรติ เตชะมงคลาภิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจ “ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน และศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์” กล่าวเสริมว่า ปัจจุบัน ห้างโรบินสันและศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์มีสาขารวม 51 แห่ง พื้นที่ขายรวม 5.83 แสนตร.ม. วางบิสสิเนสโมเดลใหม่ เตรียมยกระดับโรบินสันฟิวเจอร์พาร์ครังสิตเป็น “แฟลกชิพสโตร์” เริ่มดำเนินการต้นปีหน้า
โรบินสันพร้อมมองหา "New Channel" รับดีมานด์และไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เน้นสะดวกมากขึ้น เสริม “บริการใหม่” ฉีกการแข่งขันด้านราคา และรับมือ “ดิจิทัล ดิสรัปชัน” ผลักดันให้โรบินสันก้าวสู่การเป็น “ออมนิชาแนล ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์” ที่สมบูรณ์แบบ นอกเหนือจากแพลตฟอร์มออนไลน์, เฟซบุ๊กไลฟ์, ไลน์ แชทแอนด์ช้อป และคอลแอนด์ช้อป (ผ่านโทรศัพท์)
“แม้เศรษฐกิจยังชะลอตัว แต่เรามองเห็นโอกาสจากน่านฟ้าปิดทำให้คนไทยที่เคยจับจ่ายนอกประเทศมากๆ หันมาใช้จ่ายในประเทศ ยิ่งสถานการณ์โควิดในไทยดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นโอกาสสำคัญในฐานะศูนย์กลางแห่งภูมิภาคจะทำให้ไทยฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่คิด”
การเตรียมพร้อมและปรับตัวได้เร็วคือหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ ซึ่งในครึ่งปีหลังแม้สถานการณ์โควิดจะยังไม่สามารถวางใจได้ 100% แต่เชื่อมั่นในศักยภาพการรับมือของไทยต่อการควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี
รวมทั้งมาตรการรัฐในการช่วยเหลือภาคธุรกิจโดยรวมให้คงสถานะ! อยู่ได้ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจกลับมาได้เร็ว แต่หากกิจการล้มหายตายจากจำนวนมาก ภาวะการว่างงานยิ่งเพิ่มขึ้น จะเป็นเรื่องยาก! และใช้เวลานานในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ