ศบค.ชุดเล็กหารือผู้ประกอบการ 'สถานบันเทิง' เตรียมปลดล็อคกลุ่มต่อไป
ศบค.ชุดเล็ก รับฟังข้อเสนอผู้ประกอบการสถานบันเทิง เตรียมปลดล็อกระยะต่อไป ด้านผู้ประกอบการขอความมั่นใจ หากยังไม่ให้เปิดร้าน ต้องมีมาตรการเยียวยาที่ชัดเจน เพื่อลดความเดือดร้อน
พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะประธานคณะทำงานมาตรการผ่อนคลายในคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ ศบค.ชุดเล็ก เชิญผู้ประกอบการผับ บาร์ และคาราโอเกะ มาหารือแนวทางการผ่อนคลายมาตรการการเเพร่ระบาดโควิด-19 หลังวันศุกร์ที่ผ่านมา กลุ่มนักดนตรีอิสระได้หารือไปแล้ว
พล.อ. ณัฐพล ชี้แจงว่า การพิจารณาเปิดกิจกรรม กิจการ ไม่ได้มองเฉพาะด้านสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว แต่มองถึงมิติทางเศรษฐกิจและสังคมด้วย ที่ผ่านมากิจกรรมและกิจการที่อนุญาตให้เปิดไปแล้วก็ยังมีปัญหา จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อให้มั่นใจว่าหากอนุญาตให้เปิดกิจการได้แล้วจะต้องปลอดภัยจากโควิด-19 พร้อมย้ำนายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยประชาชนทุกกลุ่ม
แต่การผ่อนคลายจะต้องดูความจำเป็นและความเสี่ยง รวมถึงความพร้อมของผู้ประกอบการ และหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแล เพราะหากมีการระบาดรอบสอง จะยิ่งควบคุมได้ยาก แต่ก็ยอมรับว่าสถานการณ์ที่ดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เพราะได้รับความร่วมมือจากประชาชนและผู้ประกอบการ วันนี้จึงอยากรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการในกลุ่มเสี่ยง เพื่อเตรียมพร้อมในการผ่อนคายกิจกรรมและกิจการในระยะต่อไป เพราะมาตรการต่าง ๆ ที่จะผ่อนคลาย ต้องเป็นข้อสรุปร่วมกันระหว่างรัฐและข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบการร่วมกัน
ทั้งนี้ ศบค. ต้องบริหารประชาชน 2 ส่วน คือ 1.ส่วนที่กังวลว่าหากผ่อนปรนมากจะติดเชื้อเพิ่มอีกหรือไม่ 2.ผู้ที่เดือดร้อนและอยากให้ผ่อนปรน อย่างไรก็ตาม ตนเคยเสนอในช่วงผ่อนคลายระยะที่ 4 ว่าจะให้รวมผับ บาร์ สถานบันเทิงต่างๆ เปิดไปพร้อมกัน แต่มีบางคนใน ศบค.ทักท้วงว่าหากโรงเรียนยังไม่เปิดแล้วจะตอบสังคมอย่างไร จึงต้องรอจนกว่าจะเปิดพร้อมหรือหลังจากโรงเรียนเปิดไปแล้ว 2 สัปดาห์ แต่ยืนยันว่าจะนำเสนอให้ทันรอบวันที่ 1 ก.ค.นี้
ด้าน นายสง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมประกอบการธุรกิจถนนข้าวสาร ระบุว่า ผู้ประกอบการพร้อมปฎิบัติตามแนวทางของภาครัฐ เพื่อให้มั่นใจถึงความปลอดภัย ที่ผ่านมาก็ให้ความร่วมมือกับภาครัฐมาโดยตลอด แต่หากยังไม่ได้รับการผ่อนคลาย ก็อยากเห็นมาตรการการช่วยเหลือเยียวยาที่ชัดเจนจากทางภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือตัวผู้ประกอบการ รวมถึงพนักงานลูกจ้าง
ส่วนผู้ประกอบการสถานบันเทิงย่านสุขุมวิท และภูเก็ต กล่าวว่า ตนค่อนข้างมั่นใจว่าผู้ประกอบการที่มาในวันนี้พร้อมให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามมาตรการทั้งหมด ไม่แตกต่างจากร้านอาหารหรือห้างสรรพสินค้า เพราะถ้าร้านอาหารเปิดได้ สถานบันเทิงอย่างพวกตน ก็เปิดได้เช่นกัน
"ทุกวันนี้ ไม่มีผู้เข้ามาใช้บริการหนาแน่นเหมือนแต่ก่อน ซึ่งก่อนช่วงที่จะเกิดโควิด-19 นี้ เศรษฐกิจก็ตกต่ำอยู่แล้ว นักท่องเที่ยวที่มาไม่ได้มากเท่ากับการใช้บริการรถไฟฟ้า พร้อมกันนี้อยากให้รัฐ ให้ความชัดเจนว่าพวกเราจะต้องเตรียมอะไร และจะให้เปิดบริการเมื่อใด เพราะจะได้มีการเตรียมพร้อมในการทำความสะอาดร้าน และทดลองระบบภายในร้าน ที่สำคัญควรปลดล็อกให้นักดนตรี ดีเจ ได้ทำงานก่อนเพราะคนเหล่านี้ไม่ใช่พนักงานประจำ"
นอกจากนี้ มีตัวแทนชมรมสถานบันเทิงไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการสถานบันเทิงจากทั่วประเทศ มาร่วมสังเกตการณ์ พร้อมยื่นข้อเสนอให้เป็นทางออก เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและพนักงานที่เกี่ยวข้องอาทิ การขอสินเชื่อซอฟ์ทโลน 5 ปี, การขอยกเว้นภาษีสรรพสามิต 5 ปี หรือจนกว่าเศรษฐกิจหลังโควิด จะฟื้นตัว นอกจากนี้ได้เสนอให้เยียวยาบุคลากรนักร้องนักดนตรี ดีเจ พนักงานทุกตำแหน่ง ยืดระยะเวลาสินเชื่อ อีก 3 เดือน (บ้าน รถ), สินเชื่อระยะสั้น (ออมสิน) ส่วนบุคคล เป็นต้น