สถานศึกษาทั่วไทย พร้อมเปิดภาคเรียน 1 ก.ค.นี้
ศธ.-กทม.กำชับสถานศึกษาในสังกัดทุกแห่ง ต้องปฎิบัติตามคู่มือมาตรการเตรียมความพร้อมของสถานศึกษาป้องกันแพร่ระบาดโควิด-19 เชื่อพร้อมเปิดภาคเรียน 1 ก.ค.นี้
1 ก.ค.นี้ เป็นวันเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2563 ของโรงเรียนทุกสังกัดทั่วประเทศ ซึ่งในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการได้ออกประกาศอย่างชัดเจน ให้ทุกโรงเรียนปฏิบัติตามมาตรการเตรียมความพร้อมของสถานศึกษาในการป้องกันแพร่ระบาดของโรคโควิด -19
สำหรับแนวปฏิบัติของสถานศึกษานั้น “กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ และภาคีเครือข่าย” ได้ร่วมกันจัดทำคู่มือแนวปฏิบัติออกมาให้สถานศึกษาทุกแห่งปฏิบัติตาม โดยเน้นมาตรการความปลอดภัยเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในโรงเรียนมากที่สุด ซึ่งโรงเรียนต้องเตรียมพร้อมตั้งแต่ จุดรับ-ส่งนักเรียนที่ต้องมีจุดคัดกรองนักเรียน เด็กนักเรียนต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ในโรงเรียน ต้องล้างมือบ่อยๆ ทางโรงเรียนจึงต้องมีจุดให้ล้างมือ
โรงเรียนต้องปรับปรุงห้องเรียนด้วยการจัดโต๊ะที่นั่งเรียนให้เว้นระยะห่างกัน ลดจำนวนเด็กต่อชั้นเรียน และต้องปรับปรุงพื้นที่อื่นๆในโรงเรียน ต้องมีการทำความสะอาดบ่อยขึ้นและสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้องสุขาและจุดสัมผัสต่างๆ และงดการทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดความแออัด รวมถึงงดการแข่งขันต่างๆ
“อำนาจ วิชชานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน” ได้ประชุมชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้บริหารสถานศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา และศึกษาธิการจังหวัด ถึงมาตรการการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ซึ่งได้กำชับให้การดำเนินการของโรงเรียนที่มีเด็กต่ำกว่า 120 คน สามารถเปิดภาคเรียนได้ เพราะจำนวนเด็กต่อห้องไม่ 20 คน
ส่วนโรงเรียนประถมศึกษา จำนวนนักเรียนต่อห้องจะต้องไม่เกิน 20 คน ขณะที่โรงเรียนมัธยมศึกษา จะต้องไม่เกิน 25 คน ทั้งนี้หากโรงเรียนไหนที่มีจำนวนนักเรียนต่อห้องเกินกว่าที่กำหนด สพฐ.ได้เสนอรูปแบบการจัดการเรียนการสอน เช่น การสลับชั้น จันทร์/พุธ/ศุกร์ หรือ อังคาร/พฤหัสบดี, สลับชั้น วันคู่ วันคี่, สลับกลุ่มแบ่งนักเรียนในห้องเรียนเป็น 2 กลุ่ม หรือรูปแบบอื่นๆ ตามที่โรงเรียนเห็นสมควร
ทั้งนี้ สำหรับโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่สีเขียว และเหลือง ต้องจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนแบบผสมผสาน ระหว่างการเรียนออนไลน์ ออนแอร์ และการเรียนในชั้นเรียน ซึ่งขณะนี้สพฐ.ได้จัดทำแนวทางการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนในสังกัด สพฐ. แจกจ่ายทุกโรงเรียนแล้ว
อย่างไรก็ตาม สพฐ. มีโรงเรียนในสังกัดอยู่กว่า 15,000 โรง และในจำนวนนี้มีโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนในรูปแบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) อยู่แล้ว จำนวน 11,415 โรง และโรงเรียนที่เดิมไม่ได้จัดการเรียนการสอนรูปแบบ DLTV จำนวน 3,438 โรง ซึ่ง สพฐ.จะทำหนังสือสอบถามถึงความประสงค์ของแต่ละโรงเรียน ว่า ยังต้องการที่จะจัดการเรียนการสอนผ่าน DLTV หรือไม่ และโรงเรียนจะต้องประเมินความพร้อม โดยผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมเสนอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และสำนักงานคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ และเสนอต่อที่ศบค.จังหวัดพิจารณาอนุมัติต่อไป
มาถึงระดับอาชีวศึกษาเน้นเรียนรู้จากการลงมือปฎิบัติ “ณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา” กล่าวถึงการเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 ก.ค.ว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้จัดทำคู่มือสำหรับสถานศึกษาในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข โดยให้สถานศึกษาทุกแห่งปฏิบัติจัดอาคารสถานที่ ห้องเรียน ห้องเรียนรวม เข่น ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องสมุด ห้องประชุม หอประชุม สนามกีฬา โรงอาหาร ฯลฯ ตามแนวปฏิบัติด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในคู่มือฯ
ในส่วนของสถานศึกษาอาชีวศึกษา ได้เพิ่มเติมในเรื่องของการจัดการห้องปฏิบัติการหรือโรงฝึกงาน ต้องให้มีการระบายอากาศที่ดีภายในห้อง เช่น ประตู หน้าต่าง หลีกเหลี่ยงการใช้เครื่องปรับอากาศ ซึ่งหากจำเป็น ต้องให้ระบายอากาศทุกๆ 1 ชั่วโมง และทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ รายวัน รายสัปดาห์ การวางโต๊ะ เก้าอี้ เครื่องมือ อุปกรณ์ และวัสดุที่ใช้ในการฝึกปฏิบัติ ให้มีการเว้นระยะห่าง
หรือบริหารให้มีการเหลื่อมเวลาการฝึกกลุ่มย่อย ทำความสะอาดพื้นที่ปฏิบัติงาน และวัสดุอุปกรณ์ ต่างๆ เมื่อสิ้นสุดการใช้งาน ให้มีแอลกอฮอล์ หรือจุดล้างมือภายในห้องปฏิบัติการฯ มีการคัดกรองนักเรียน นักศึกษา โดยอนุญาตให้นักเรียน นักศึกษาที่ผ่านการคัดกรองแล้วเท่านั้นที่สามารถเข้ารับการฝึกปฏิบัติในห้องปฏิบัติการฯ และนักเรียน นักศึกษาจะต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย / Face Shield ถุงมือขณะปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด
ขณะที่โรงเรียนนานาชาติ หรือสถาบันการศึกษาหลักสูตรนานาชาติ โรงเรียนนอกระบบ ประเภทกวดวิชา โรงเรียนในระบบที่มีนักเรียนรวมทั้งโรงเรียนไม่เกิน 120 คน ในสังกัดของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ซึ่งได้อนุญาตการเรียนการสอนตามการผ่อนคลายมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาหรือโควิด-19 (ศบค.)
ขณะนี้มีโรงเรียนนานาชาติเปิดทำการเรียนการสอนแล้ว โดยมีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับมาตรการป้องการโรคโควิด–19 คือ มีนักเรียนต่อห้อง 20-25 คน (ส่วนใหญ่ 10-20 คน) มีพื้นที่โรงเรียนกว้าง มีห้องเรียนห้องกิจกรรม เพียงพอ มีจำนวนครู-บุคลากรต่อนักเรียนเฉลี่ย 1:10 (อนุบาล 1:7)
สำหรับกลุ่มโรงเรียนที่มีนักเรียนไม่เกิน 120 คนนั้น มีจำนวน ประมาณ 1,000 โรง โดยสช.ได้ตั้งคณะทำงานออกตรวจติดตามการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคไวรัสโควิด -19 ประมาณ 1,000 คณะทั่วประเทศ ทำหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงเรียนในสังกัด สช. ทั้งในและนอกระบบ
นอกจากนั้น โรงเรียนในสังกัด กทม. ซึ่งมีทั้งหมด 437 โรงเรียน ก็ได้มีการเตรียมพร้อมเปิดภาคการศึกษาของโรงเรียนเช่นเดียวกัน โดยทางกทม.ได้ประสานการปฏิบัติงานกับให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เพื่อร่วมกันทำความสะอาดบริเวณโรงเรียน เช่น ห้องเรียน ห้องน้ำ ห้องพยาบาล โรงอาหาร ตลอดจนให้โรงเรียนแต่ละแห่งจัดโต๊ะเรียนและโต๊ะรับประทานอาหารของนักเรียนให้มีการเว้นระยะห่างไม่น้อยกว่า 1 เมตร (Physical Distancing)
รวมถึงการใช้นวัตกรรมต่างๆ อาทิ ใช้แอปพลิเคชันหรือแพลตฟอร์มที่ทางราชการกำหนด เช่น “ไทยชนะ” เพื่อบันทึกการเข้า-ออก ของแต่ละบุคคลที่เข้า-ออกพื้นที่โรงเรียน ให้ติดตั้งจุดทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์ล้างมือในบริเวณต่างๆ ของโรงเรียนให้เพียงพอต่อการใช้งาน เพื่อให้นักเรียนและบุคลากรในโรงเรียนสามารถล้างมือได้บ่อยๆ
หลังจากนี้ คงต้องดูแนวทางการปฎิบัติของแต่ละสถานศึกษาว่าหลังจากเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 ก.ค.นี้ แล้ว จะมีความเข้มข้นช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้หรือไม่? ...