'ปัญหาคนตกงาน' กับโอกาสที่ซ่อนตัวอยู่ในวิกฤติครั้งนี้
วิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบรุนแรง กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักและก่อให้ปัญหาว่างงานทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระ และลูกจ้าง SMEs แต่หากทุกภาคส่วนมองว่าในวิกฤติครั้งนี้มีโอกาสซ่อนอยู่ ปัญหานี้น่าจะเจอทางออก ได้ประโยชน์กับทุกฝ่าย
วิกฤติทางเศรษฐกิจครั้งนี้ เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ผลกระทบรุนแรงและแตกต่างกว่าทุกๆ ในอดีต เพราะวิกฤตินี้มิใช่เกิดจากความผิดพลาดของกลไก หรือนโยบายเศรษฐกิจและการเงินที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการจ้างงาน แต่เป็นผลรวมของความอ่อนไหวของสภาพเศรษฐกิจของไทยและระดับโลกที่ถูกซ้ำเติมด้วยนโยบายเฉียบขาด ที่แต่ละประเทศออกมาเพื่อหยุดยั้งการแพร่กระจายของไวรัส ส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักฉับพลันของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
เหมือนที่นาย Paul Krugman นักเศรษฐศาสตร์คอลัมนิสต์ของ International New York Times เปรียบเทียบว่าเป็น “induced coma” เมื่อเศรษฐกิจถูกบังคับให้หลับลึก ปัญหาว่างงานก็จะตามมา
ยิ่งเวลาผ่านไปตัวเลขอัตราว่างงานก็เริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจและตลาดเงินของธนาคารไทยพาณิชย์ได้ประเมินว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลให้ประเทศไทยมีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นสูงถึงราว 3-5 ล้านคน ซึ่งจะคิดเป็นอัตราการว่างงานประมาณ 8-13% ของกำลังแรงงานรวมปัจจุบัน นับว่าเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลมาเลยทีเดียว แซงสถิติสูงสุด 5.9% ที่เคยมี ก็คือในปี 2530 รวมถึงช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง (3.4%) และในวิกฤตการเงินโลกปี 2551-2552 ที่ 1.5%
โดยรายงานดังกล่าวบอกว่า “กลุ่มแรงงานที่มีความเสี่ยงสูง คือ กลุ่มลูกจ้างชั่วคราว ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และลูกจ้าง SMEs ซึ่งมีสัดส่วนมากถึง 62% ของกำลังแรงงานไทย และมีความอ่อนไหวสูงต่อสภาวะเศรษฐกิจ” นี่ยังไม่รวมกลุ่มนักศึกษาจบใหม่จำนวนมากกว่า สามสี่แสนคน ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงานในปีนี้
ผมได้เคยเสนอแนวคิดในจดหมายเปิดผนึกถึงท่านนายกฯ และพูดบนเวทีสัมมนาเมื่อปลายเดือนที่แล้ว ถึงบทบาทที่ภาครัฐจะสามารถช่วยสร้างความเชื่อมั่นและรับมือกับปัญหาว่างงานที่กำลังจะเกิดขึ้น ด้วยการพิจารณาเพิ่มตำแหน่งงานและบรรจุคนเข้าทำงานเพิ่มขึ้นจากเดิมให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นประจำหรือชั่วคราว โดยเน้นในหน่วยงานที่มีภาระและหน้าที่รับผิดชอบเพิ่มขึ้น เช่น หน่วยงานสาธารณสุข หรือตำรวจ (การรักษาพยาบาลและการดูแลสวัสดิภาพประชาชน)
บนเวทีเดียวกัน คุณกรณ์ จาติกวณิช ผู้ร่วมเสวนาอีกท่านก็ได้ให้อีกแนวคิดที่น่าสนใจ โดยเสนอว่านอกเหนือจากที่จะจ้างงานเองแล้ว รัฐบาลก็ควรจะร่วมมือกับภาคเอกชน จัดโครงการให้เงินชดเชยกับธุรกิจในการจ้างงานเพิ่ม จากมุมมองของคนประกอบธุรกิจเอง ผมคิดว่าแนวคิดนี้น่าสนใจ เพราะภาคเอกชนไทยเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศที่สำคัญ และมีพร้อมที่จะปรับตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว สิ่งที่เป็นปัญหา ณ ตอนนี้ ก็คือความกังวลและศักยภาพที่จำกัดในการที่จะจ้างงานเพิ่ม
รัฐบาลน่าจะจัดสรรงบประมาณตรงนี้และหารือแนวทางร่วมกับภาคเอกชนในการริเริ่มโครงการ โดยอาจพิจารณาจากหลายๆ มุมมอง โดยอาจจะเริ่มจากกลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญเมื่อวิกฤติเศรษฐกิจนี้จบลง หรือเป็นธุรกิจที่สร้างสวัสดิภาพให้กับสังคมในระยะยาว หรือแม้กระทั่งธุรกิจที่พร้อมในเชิงการพัฒนาบุคลากรและเต็มไปด้วยองค์ความรู้ใหม่ๆ เป็นองค์กรที่พร้อมจะให้เข้าไปเรียนรู้งานเพื่อกลับออกมาเป็นแรงงานที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นภายหลังวิกฤตินี้จบลง ผมเชื่อว่าภาคธุรกิจยินดีที่จะมีส่วนร่วมอย่างแน่นอน นับเป็นแนวคิดสร้างโอกาสในวิกฤติที่น่าสนใจทีเดียว
ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดที่ให้รัฐบาลจ้างงานเพิ่มหรือร่วมมือกับภาคเอกชน ผมเชื่อว่าถ้าวางแผนดีๆ จะเป็นโอกาสดีในการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้
ถ้าท่านผู้อ่านย้อนกลับไปช่วงวิกฤติสูงสุดของไวรัส จะเห็นว่าความช่วยเหลือระยะสั้นถูกส่งผ่านให้กับพื้นที่และหน่วยงานที่ดูแลอย่างทั่วถึง โดยเป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีใครถูกทอดทิ้ง แล้วถ้าหากเราจะทำให้เกิดภาพแบบนั้นในระยะยาวจะเป็นไปได้ไหม ยกตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยท้องถิ่นมีบุคลากรเพียงพอหรือยัง ถ้าหากรัฐบาลมีการจ้างบุคลากรสาธารณสุขเพิ่มขึ้นประชาชนก็สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้เท่าเทียมกันมากขึ้น
หรือหากเรื่องขององค์ความรู้ใหม่ๆ ยังเป็นสิ่งที่เข้าถึงไม่ได้เท่าเทียมกัน จะเป็นไปได้ไหมที่รัฐบาลสนับสนุนแรงงานเข้าไปทำงานกับภาคเอกชนที่เชี่ยวชาญเรื่องต่างๆ เช่น สาธารณสุข เทคโนโลยี การสื่อสารโทรคมนาคม หรือแม้กระทั่งสิ่งแวดล้อม และในรูปแบบของการตอบแทนสังคม องค์กรสามารถส่งแรงงานเหล่านี้ที่มีความเชี่ยวชาญจากที่เรียนรู้มาช่วยกันพัฒนา เผยแพร่ อบรม ให้กับภาคประชาชน ในรูปแบบของการลงพื้นที่แล้วร่วมกับท้องถิ่นหรือภาคประชาชนในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับชุมชนในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลเด็กและเยาวชนหรือผู้สูงอายุอย่างถูกต้อง การช่วยวางระบบจัดการขยะมูลฝอยหรือเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานยั่งยืน ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการปูพื้นฐานระยะยาวที่จำเป็นสำหรับสังคมและเศรษฐกิจที่จะกลับมาหลังโรคร้ายนี้ผ่านไปและในขณะเดียวกันก็เป็นการส่งเสริมความเท่าเทียมในสังคมระยะยาว
เรียกได้ว่าเป็นการยิงครั้งเดียวได้นกตั้งสองตัวครับ ทั้งนี้ ทุกภาคส่วนต้องมองตรงกันก่อนว่าวิกฤติครั้งนี้มีโอกาสซ่อนอยู่ การว่างงานก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ถ้าเรามองหาวิธีจัดการแบบสร้างสรรค์และทุกฝ่ายยอมลงทุนแล้ว ไม่ยากครับที่จะมีทางออกที่ได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย